Skip to main content
sharethis

แม่ชาวเท็กซัสวิจารณ์กรณีมีคนเอารูปลูกชายที่พิการไปตัดต่อเปรียบเทียบกับสุนัขพันธุ์ปั๊ก พร้อมเรียกร้องนำรูปออกจากโลกออนไลน์


บล็อกของเมเยอร์ เขียนถึงกรณีภาพของเจมส์สันที่ถูกนำไปเปรียบเทียบ และส่งต่ออย่างแพร่หลาย
 

2 ก.พ. 2559 สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์ของอังกฤษ รายงานว่า  เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา อลิแซน เมเยอร์ หญิงชาวเท็กซัส เรียกร้องผ่านบล็อกส่วนตัวให้มีการลบรูป ‘เจมส์สัน’ ลูกชายของเธอซึ่งเป็นโรคกะโหลกเชื่อมติด ออกจากโลกออนไลน์ หลังรูปดังกล่าวถูกนำไปเปรียบเทียบกับสุนัขพันธ์ปั๊ก และถูกส่งต่ออย่างแพร่หลายในอินเทอร์เน็ต จนเกิดกระแสที่เรียกว่า มีม (meme คือการแพร่กระจายของแนวคิดหรือกระแสหนึ่งๆ โดยอาจมีการลอกเลียนแบบ หรือล้อเลียน และได้รับความนิยมแพร่หลาย-ประชาไท)

ทั้งนี้ รูปเจ้าปัญหาดังกล่าวเป็นรูปที่เธอโพสต์ในบล็อกของเธอ ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นรูปลูกชายของเธอขณะที่ปากเลอะเทอะไปด้วยช็อคโกแลตและมาชเมลโล และยิ้มให้กล้องอย่างมีความสุข

“ใครบางคน อยู่ที่ไหนสักที่ และไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร เขาจึงถ่ายรูปหมาพันธุ์ปั๊ก มาเปรียบเทียบกับลูกชายของฉัน ฉันไม่มีวันเข้าใจในสิ่งที่เขาทำลงไป ฉันไม่มีวันได้รู้ว่าใครเป็นคนทำมันขึ้นมา แต่ฉันจะทำทุกอย่างเพื่อนำทุกโพสต์และทุกแชร์ออกไป” เธอกล่าว

เธอกล่าวถึงสองแง่มุมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ซึ่งได้แก่ เรื่องทางเทคนิคและเรื่องทางศีลธรรมว่า เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เธอทุ่มเทคืนวันเสาร์เพื่อตามลบรูปของลูกชายจากในเพจเฟซบุ๊กต่างๆ ซึ่งถูกไลค์กว่า 5,000 ครั้ง รวมทั้งถูกแชร์เกือบ 3,000 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก และแม้ว่าเธอจะรายงานมันไปแล้วสัก 1,000 ครั้ง รูปนี้ก็จะยังคงอยู่ในเฟซบุ๊กอีกอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้มีคนที่แชร์มันต่อไป และไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปอย่างง่ายๆ

ในเรื่องของศีลธรรม เธอกล่าวว่า ฉันสามารถนั่งเฉยๆ และบอกตัวเองว่ามันก็เป็นเพียงเรื่องปกติของสังคมที่ฉันอาศัยอยู่ แต่ 1.นั่นมันรูปลูกชายของฉัน ซึ่งคุณขโมยมันไป คุณสามารถแสดงความคิดเห็นอะไรกับเพื่อนของคุณได้อย่างเต็มที่ แต่อย่าทำให้รูปนั้นลดคุณค่าของเด็ก  2.ใครบางคนในอินสตาแกรมแนะนำ (อย่างไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก) ว่าให้ฉันเฉยเมยซะ เพราะรูปนั้นไม่ได้เป็นรูปคนจริงๆ เป็นเพียงแค่รูปโฟโต้ช้อปเท่านั้น ซึ่งฉันคิดว่า ไม่มีทาง นั่นมันคือรูปบุคคล

เธอกล่าวต่อว่า ถ้าพวกคุณต้องการจะแชร์และสร้างเรื่องขบขันต่อมีมนี้ ก็อยากให้ฉุกคิดหน่อยว่า จริงๆ แล้วพวกคุณกำลังแชร์และหัวเราะอะไรอยู่ คนบางคนแชร์ไปพร้อมคำหัวเราะ และนำมีมนี้ไปโพสต์ ฉันจึงอยากแนะนำพวกคุณให้รู้จักเด็กคนนี้ ที่คุณคิดว่าตลกหนักหนา เขาชื่อเจมส์สัน เขามีตัวตนและเกิดมาพร้อมโรคกะโหลกเชื่อมติด หรือ Pfieffer syndrome

เธอกล่าวว่า เจมส์สัน ปัจจุบันอายุ 4 ขวบ พิการด้วยโรคทางพันธุกรรมหายากชื่อโรคกะโหลกเชื่อมติด ซึ่งพบได้เพียง 1 ใน 100,000 คน มีผลกระทบทำให้เกิดความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ และใบหน้า บางส่วนของกะโหลกนั้นหยุดเจริญเติบโต ในขณะที่บางส่วนนั้นเติบโตอย่างผิดปกติ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ การกิน การมองเห็นและการได้ยิน เขาต้องใส่เครื่องช่วยฟัง และเพดานปากเทียม เพื่อช่วยในการหายใจขณะนอนหลับ

เธอกล่าวต่อว่าโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกครอบครัว โดยไม่มีสัญญาณล่วงหน้า ไม่ได้ขึ้นกับสิ่งที่ทำ/ไม่ทำขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งถ้าหากต้องการที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้สามารถเข้าไปดูต่อได้ที่ Children’s Craniofacial Association  ซึ่งเป็นที่ที่เธอศึกษาข้อมูล เมื่อครั้งที่เจมส์สันถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว

รูปมีมนี้ถูกพบในอย่างน้อยใน 6 โปรไฟล์เฟซบุ๊ก รวมทั้งอย่างน้อย 8 ครั้งในอินสตาแกรม และ 10 หรือ 11 ครั้งในทวิตเตอร์ 9GAG และทัมเบลอ เธอกล่าวชื่นชมทวิตเตอร์และอินสตาแกรมว่ามีความรวดเร็วในการนำรูปมีมเหล่านั้นออก ขณะเดียวกัน ก็ต่อว่าเฟซบุ๊กถึงขั้นตอนที่ยุ่งยากในการรายงานรูปเหล่านั้น รวมถึงการดำเนินการที่ล่าช้า และใช้เวลาถึง 48 ชั่วโมงในการนำรูปภาพเหล่านั้นออก

เธอได้รับกำลังใจและความช่วยเหลืออย่างล้นหลาม และกล่าวขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับทุกๆ คนที่ช่วยกันรายงานภาพนี้และสละเวลาส่วนตัวต่อสู้เพื่อเจมส์สัน พร้อมกล่าวว่า เธอรู้สึกซาบซึ้งมากในทุกๆ ความคิดเห็นและแรงกายที่ช่วยกันรายงานรูปนี้ และจะเดินหน้ารายงานรูปนี้ จนกว่ารูปทั้งหมดจะถูกลบและหายไป รวมทั้งกระตุ้นให้คนอื่นๆ ช่วยกันรายงานร้องเรียน หากเห็นรูปมีมนี้ ในโลกออนไลน์

“เป้าหมายของฉันคือการทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นไปในทางบวก ส่งเสริมให้มีการระมัดระวัง และมีการสอนเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น รวมทั้งรู้จักเด็กๆ ที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างผู้ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายในการสังเกตอยู่เสมอ” เธอกล่าวกับฟ็อกซ์นิวส์

ในขณะเดียวกัน ผู้คนจากทั่วโลกต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นกว่า 150 ความคิดเห็น เช่น
‘ฉันไม่เคยเห็นมีมนี้ แต่ถ้าฉันเห็นมัน คุณไม่จำเป็นต้องบอกด้วยซ้ำว่าให้ลบมัน ดีใจที่คุณเลือกที่จะต่อสู้ ถ้าเป็นฉัน ฉันมั่นใจว่าจะทำอย่างเดียวกัน ลูกชายฉันอายุพอๆ กับลูกชายคุณ ฉันนึกไม่ออกเลยว่ามันจะเจ็บปวดแค่ไหน ฉันนับถือคุณมาก’

หรือบางความคิดเห็นซึ่งแสดงต่อรูปที่เธอโพสต์ว่า ถ้าหากไม่อยากให้มีคนนำรูปไปตัดต่อ ก็ไม่ควรนำรูปไปโพสต์ในโลกออนไลน์ เพราะทุกคนสามารถเข้าถึง และมันก็ห้ามไม่ได้ที่จะหยุดการกระทำเหล่านั้น เขาตั้งคำถามด้วยว่า แล้วเหตุใดจึงรับได้กับการนำรูปหรือวิดีโอตลกของใครสักคนมาโพสต์ หรือเพียงแค่เพราะเขาไม่ได้เป็นเด็กที่มีปัญหาสุขภาพดังกล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก
This Is My Son Jameson, and No, You May Not Use His Photo 
http://www.jamesonsjourney.com/
Mother fights back against internet trolls using picture of her disabled son to create cruel meme
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/mother-fights-back-against-internet-trolls-using-picture-of-her-disabled-son-to-create-cruel-meme-a6846646.html
Mom hits back at trolls who turned disabled son's photo into Internet meme
http://www.foxnews.com/health/2016/02/02/mom-hits-back-at-trolls-who-turned-disabled-sons-photo-into-internet-meme.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net