สนช.ผ่าน กม.ป้องกัน-แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ชี้เป็นของขวัญรับวาเลนไทน์

4 ก.พ. 2559 เนชั่นทันข่าว รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพรชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธาน โดยได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 23 มาตรารวมบทเฉพาะกาล โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ขณะที่สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาและให้คำปรึกษาในเรื่องดังกล่าว ที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะ วัยของนักเรียนและนักศึกษา พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งมีระบบส่งต่อให้ได้รับการบริการอนามัยเจริญพันธุ์และสวัสดิการอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีบทกำหนดโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคำสั่งของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ โดยไม่มีเหตุผลอันควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขถ้อยคำและเพิ่มเติมข้อความในมาตราต่างๆ เพื่อให้ความเหมาะสมและสมบูรณ์ ซึ่งสมาชิกเห็นด้วยกับแก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมาธิการฯ และได้ลงมติในเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 179 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แถลงว่า ภายหลังที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้กฎหมายฉบับดังกล่าวแล้วจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน ซึ่งถือว่าเป็นของขวัญต้อนรับวันวาเลนไทน์ โดยร่างกฎหมายนี้เป็นประโยชน์สำหรับวันรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม มีเนื้อหาสำคัญเป็นการรวมนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานในทิศทางเดียวกัน จากเดิมที่แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำงานโดยไม่มีเป้าหมายร่วมกัน ถือว่าเป็นประโยชน์เพราะจะมีการสอนเพศวิถีศึกษาให้แก่วัยรุ่น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ โดยมีการบัญญัติคำว่า วัยรุ่น คืออายุ 10-20 ปีบริบูรณ์ พร้อมทั้งให้อำนาจกระทรวงออกกฎหมายระเบียบในการปฏิบัติ และให้มีคณะกรรมการระดับชาติ โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ จำนวน 17 คน เป็นตัวแทนจากข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนของสภาเด็กและเยาวชนด้วย
  
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีตัวเลขวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจำนวนกว่า 1 แสนราย ถือเป็นอัตราที่สูงมาก และส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษาด้วย ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะจะให้รุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์ซ้ำอีก และเด็กก็จะไม่เสียอนาคต เพราะสามารถศึกษาต่อจนจบได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท