คณะทำงานยูเอ็นชี้ คุมขัง 'ภรณ์ทิพย์ เจ้าสาวหมาป่า' ไม่ชอบ จี้ปล่อยตัว-ชดเชย

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ยูเอ็น เรียกร้องให้ประเทศไทยปล่อยตัวภรณ์ทิพย์ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากละครเจ้าสาวหมาป่า ทันที พร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทน

4 ก.พ. 2559 สหพันธ์นานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกใบแถลงข่าวร่วม ระบุว่า คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ แห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ประเทศไทยปล่อยตัวภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ทันที พร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทน

โดยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2558 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ชอบของยูเอ็น ชี้ว่า การควบคุมตัวภรณ์ทิพย์ เป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 9 และข้อ 19 และเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 (3) และข้อ 19 (2) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยบทบัญญัติดังกล่าวได้ประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิในการแสดงความเห็นและการแสดงออก

การิม ลาฮิดจี ประธาน FIDH ระบุว่า ภรณ์ทิพย์และนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดไม่ควรต้องอยู่ในคุกแม้แต่นาทีเดียว การลิดรอนเสรีภาพจากการใช้สิทธิเพียงเล็กน้อย โดยที่สิทธินั้นได้รับการประกันโดยกฎหมายระหว่างประเทศด้วยแล้ว ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ แต่ยังน่ารังเกียจ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2558 ศาลอาญา กรุงเทพฯ ได้ตัดสินจำคุก ภรณ์ทิพย์ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ตามความผิดมาตรา 112  จากการแสดงละครการเมือง เรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยละครดังกล่าวพูดถึงสถาบันกษัตริย์

ปัจจุบัน ภรณ์ทิพย์ถูกคุมขังอยู่ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ เธอถูกควบคุมตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2557 ที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ภรณ์ทิพย์ เป็นผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนไทยรายที่สาม ซึ่งคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ของยูเอ็น ระบุว่าถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบ

โดยสองคนก่อนหน้า ได้แก่ ปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกจับกุมเมื่อ 14 ส.ค. 2557 ด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า โดยถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2558 และสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักกิจกรรมแรงงาน ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่เมื่อเมษายน 2554 จากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นซึ่งเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ โดยต่อมา เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2556 เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีจากการกระทำความผิด 2 กรรมดังกล่าว

โดยคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ของยูเอ็น ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวทั้งปติวัฒน์และสมยศโดยทันทีและจ่ายค่าสินไหมทดแทน

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า หลายหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นได้ตรวจสอบประเทศไทยเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบในกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะใส่ใจกับหลักกฎหมายและปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ใบแถลงข่าวระบุด้วยว่า ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร มีผู้ถูกจับกุมหรือคุมขังภายใต้มาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีคนอย่างน้อย 35 รายถูกตัดสินจำคุก (ทั้งนี้ไม่รวมคดีแอบอ้างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) โดยมี 23 รายต้องขึ้นศาลทหาร นอกจากนี้ มีอย่างน้อย 22 รายที่ถูกคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท