ชำนาญ จันทร์เรือง: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในหลายๆครั้งที่เราเคยมีความสงสัยว่าบรรดา“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน(Human Rights Defenders)”หรือที่เรียกกันทั่วไปว่านักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เพราะทั้งที่อ้างตัวเองหรือทั้งที่ถูกเรียกจากจากผู้อื่นว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนในบางครั้งก็กระทำการในสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจ ก็เลยไม่รู้ว่าคนไหนของแท้ คนไหนของเทียม

จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ครั้งแรกในปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะได้กล่าวถึงบทนิยามถึงความหมายที่แท้จริงของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังได้กล่าวถึงมาตรการและกลไกต่างๆของรัฐ เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สถานการณ์และสภาพปัญหาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ฯลฯ อีกด้วย ซึ่งในที่นี้ผมจะนำมาเสนอเฉพาะในเรื่องของความหมายที่แท้จริงของคำว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนก่อน หากมีโอกาสจะได้นำเสนอในส่วนอื่นต่อไป

ความหมายตามคำนิยามของหน่วยงานต่างๆ

1.องค์การสหประชาชาติ(United Nations)

ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ได้มีมติให้มี “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล กลุ่ม และหน่วยงานในสังคม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” หรือ “ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”(The Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งได้ให้คำจำกัดความถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ในย่อหน้าที่ 1ว่า

“ทุกคนมีสิทธิทั้งโดยปัจเจก และจากการสมาคมกับบุคคลอื่น ในการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ”(Everyone has the right,individually and in association with others,to promote and to strive for the protection and realization of human rights and fundamental freedoms at the national and international levels)

ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR)ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าภารกิจของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีอะไรบ้าง ดังต่อไปนี้

1) เป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่ม หรือบุคคล รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทาวการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

2) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3) ทำให้แน่ใจว่าผู้ละเมิดสิทธิได้รับโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย

4) ให้การสนับสนุนผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

5) สนับสนุนการพัฒนานโยบายของรัฐบาลด้านสิทธิมนุษยชน

6) สนับสนุนการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

7) สนับสนุนการอบรมและการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯยังได้เพิ่มเติมว่า

- แม้ว่าการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่ต้องมีคุณสมบัติใดๆเป็นพิเศษ เราทุกคนสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักการที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่รับผิดชอบเฉกเช่นเดียวกับการมีสิทธิต่างๆ

- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องยอมรับหลักสิทธิมนุษยชนสากล จะเลือกปฏิบัติหรือปกป้องสิทธิใดสิทธิหนึ่งเป็นพิเศษและต่อต้านหรือไม่ยอมรับสิทธิด้านอื่นไม่ได้

- การถกเถียงที่สำคัญคือการถกเถียงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ปกป้องสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ จะไม่มีการถกเถียงว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด เช่น กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่ควรจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อรัฐเพียงเพราะพวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มการเมืองที่มีความเห็นต่าง

- วิธีการเรียกร้องสิทธิต้องเป็นไปด้วยแนวทางสันติวิธี

2.สหภาพยุโรป(European Union)

นิยามตาม “แนวปฏิบัติของสหภาพยุโรปต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”(European Union Guidelines on Human Rights Defenders) ว่า

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ บุคคล กลุ่ม และหน่วยงานของสังคม ที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งส่งเสริมการคุ้มครองและการปฏิบัติตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของสมาชิกกลุ่ม เช่น ชุมชนพื้นเมือง แต่นิยามนี้ไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มหรือบุคคลที่ที่ส่งเสริมความรุนแรง”

3.Protection International(PI)

Protection International คือ องค์กรทีทำงานด้านการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ ก็ได้ให้นิยามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ว่า

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ ผู้ที่ทำงานเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งถูกบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยสันติวิธี”

4.Frontline Defenders

Frontline Defenders คือองค์กรที่เป็นมูลนิธิระดับสากลที่ทำงานเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ก็ได้ให้นิยามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ว่า

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิทุกประเภทโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อส่งเสริมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะถูกนิยามจากการกระทำมากกว่าความเชี่ยวชาญ ตำแหน่งหน้าที่ทางการงานหรือองค์กรที่เขาสังกัด”
 

5.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ตามที่บันทึกไว้ในแนวนโยบายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยในการประชุมร่วมกับองค์กรพันธมิตรนั้นถือคำนิยามขององค์การสหประชาชาติไว้เป็นหลักพื้นฐาน แต่คำนึงถึงข้อถกเถียงของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเอ็นจีโอในประเทศไว้เป็นข้อพิจารณาในแต่ละกรณี

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดพอสรุปได้ว่าต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงและต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากลจะเลือกปฎิบัติไม่ได้ โดยพิจารณาจากการกระทำมากกว่าความเชียวชาญ (เช่น นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ) ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือองค์กรที่สังกัด ที่แม้ว่าชื่อหน่วยงานหรือองค์กรจะเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนก็ตาม

ทีนี้ คงรู้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงแล้วนะครับ

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท