Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ขบวนการชาวนาสากล ลา เวีย คัมเปซินา (La Via Campesina - LVC) ได้จัดงานสัมมนาเรื่องปัญหาผลกระทบจากองค์การการค้าโลก (WTO) โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนชาวเคนยา กับสมาชิกของ LVC จากประเทศต่างๆ ได้แก่ ซิบบับเว โมซัมบิก สหรัฐอเมริกา นอรเวย์ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย (โดยคุณบารมี ชัยรัตน์ จากสมัชชาคนจนเป็นตัวแทน) เข้าร่วม ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 14–18 ธันวาคม 2558 ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการยุติบทบาทของ WTO (End WTO)

องค์การการค้าโลก (WTO) เริ่มต้นเมื่อ 1 มกราคม 2538 เพื่อจะต่อยอดและขยายขอบเขตของความตกลงว่าด้วยการค้าและพิกัดภาษีศุลกากร (GATT) แต่ประชาชนทั่วโลก และขบวนการชาวนาสากล (La Via Campesina) เห็นว่า WTO พยายามเปิดให้ประเทศพัฒนาแล้วค้ากำไรกับชีวิตคนจน กับระบบนิเวศ และทำลายอธิปไตยด้านอาหาร จึงได้ประท้วงอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่ซีแอตเติล (2542) คันคูน (2546) ฮ่องกง (2548) และบาหลี (2556) ทำให้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า WTO ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยสามารถบรรลุข้อตกลงโดยฉันทามติได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือที่บาหลี

ประเด็นของ WTO ที่รับไม่ได้ คือเรื่องการลดมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก เรื่องนี้เป็นการเมืองสองมาตรฐานอย่างชัดเจน เพราะ ทั้งสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป ต่างก็อุดหนุนภาคเกษตรกันสูงมาก ทำให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรในราคาต่ำที่เรียกว่าการทุ่มตลาด จนประเทศกำลังพัฒนาที่อุดหนุนเกษตรกรต่ำอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการไม่อาจให้การอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเกษตรกรได้อีกต่อไป และต้องแบกรับการถูกทุ่มตลาดด้วยสินค้าปนเปื้อน GMO และเคมีจากตะวันตกอีกด้วย

ความไม่ยุติธรรมอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการจดสิทธิบัตรยา ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตยาคุณภาพเดียวกันกับยาของบรรษัทยักษ์ใหญ่ และขายถูกกว่าหลายเท่า จึงถูกบีบอย่างหนักมาตลอดในเรื่องสิทธิบัตรยา จึงต่อต้านเรื่องนี้มาตลอดเช่นกัน

การประชุมครั้งที่ 10 นี้ เป็นการจัดครั้งแรกในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่ง WTO คาดหวังให้กลุ่มประเทศแอฟริกาช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับตน ประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา (Uhuru Kenyatta) ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และกล่าวว่าเคนยาจะได้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น

แต่คนเคนยา ไม่ได้หลอกได้ง่ายๆ คนติดตามเรื่อง WTO ตระหนักชัดว่า WTO ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างมหาศาล ทั้งการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย จนต้องอพยพเข้ามาแออัดกันในสลัม และเผชิญปัญหามากมายในเมือง โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาด เพราะระบบน้ำประปาถูกแปรรูป และผูกขาดโดยทุนจากประเทศเดนมาร์ก พวกเขายังเล่าว่าเคนยาปลูกกาแฟคุณภาพดีของโลก แต่คนเคนยากลับต้องดื่มกาแฟคุณภาพต่ำสุดที่ส่งออกไม่ได้

ตัวแทนจากเคนยา กล่าวว่า ถ้าที่ประชุมที่ไนโรบีบรรลุข้อตกลงกันได้ จะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศเคนยา โดยเฉพาะมาตราที่ระบุเรื่องอธิปไตยด้านอาหารและหลักประกันเพื่อความมั่นคงของชีวิต แต่เคนยาไม่ใช่ประเทศเดียวที่จะได้รับผลกระทบ ทุกประเทศที่มีระบบสวัสดิการประชาชน จะได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า

เกษตรกรจากอินเดียบอกว่า นับตั้งแต่ก่อตั้ง WTO มีเกษตรกรชาวอินเดียต้องฆ่าตัวตายหนีปัญหาหนี้สินการเกษตรและราคาผลผลิตตกต่ำไปแล้วกว่า 350,000 คน เกษตรกรกว่า 6 ล้านครอบครัว ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง WTO จะทำให้คนอินเดียและคนยากจนทั่วโลกไม่อาจเข้าถึงยาราคาถูกที่ผลิตโดยอินเดียได้ และโครงการสำรองอาหารที่ซื้อจากเกษตรกรในราคายุติธรรมเพื่อแจกให้กับคนจน โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์และนักเรียน กว่า 70 ล้านคน จะต้องถูกยกเลิก

ผู้นำของลาเวียคัมเปซินา ทั้งจากอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย เกาหลีใต้ แม้แต่ญี่ปุ่น เห็นว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา WTO ได้ทำลายทั้งอธิปไตยด้านอาหารและชีวิตของเกษตรกรจากทั่วโลก ดั้งนั้น เพื่อชีวิตของเกษตรกร ทั้งในโลกฝ่ายเหนือและโลกฝ่ายใต้ จะต้องปิดองค์กร WTO ลงให้ได้ และสร้างทางเลือกของการค้าที่เคารพวิถีเกษตรนิเวศและผู้ผลิตอาหารป้อนโลก

แน่นอนว่า โลกจำได้ถึงวีรกรรมของขบวนการเกษตรกรเกาหลีใต้ ที่นำการประท้วง WTO อย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่ที่คันคูน และฮ่องกง แม้จะอยู่ในช่วงการประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ แต่ก็ส่งผู้แทนมา 15 คน เพื่อย้ำเตือนโลกว่าปีนี้เป็นปีครบรอบ 20 ปี ของการเสียสละชีวิตของลุงลี ควง-เฮ เพื่อประกาศว่า "WTO ฆ่าเกษตรกร" ในที่ประชุม WTO ที่คันคูน ประเทศเม็กซิโก และพวกเขายังได้นำเรื่องราวของลุง แบก นำ-กี อายุ 67 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการฉีดน้ำใส่ระหว่างการประท้วงนโยบายการค้าเสรีของรัฐบาลเกาหลีใต้ และจนบัดนี้ก็ยังไม่ฟื้น

ตลอดการประชุมรัฐมนตรี WTO (15–17 ธันวาคม) พวกเราได้เดินทางไปยังลานอิสรภาพและที่หน้าศูนย์ประชุม ตัวแทนจากทุกประเทศได้ปราศรัยปัญหาของ WTO และตะโกนคำว่า “Power to the people” (อำนาจเป็นของประชาชน), “Down, Down, WTO” (WTO จงพินาศ) “Globalize Struggle, Globalize Hope” (ร่วมกันสู้ ร่วมกันหวัง ทั่วโลก)

จนถึงวันสุดท้าย การต่อสู้อย่างยืนหยัดของอินเดียและประเทศที่ร่วมสนับสนุน ก็ทำให้การประชุมยังไม่อาจหาข้อยุติและไม่สามารถลงมติเอกฉันท์ได้ จำเป็นต้องขยายเวลาการประชุมต่อยาวอีก 1 วัน

แต่ในวันที่ 19 ธันวาคม ท่ามกลางความประหลาดใจของผู้ติดตามการเจรจาครั้งนี้ WTO ประกาศว่าสามารถหาข้อยุติได้สำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการค้าด้านเกษตรที่ไม่อาจหาข้อยุติมาได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และถือว่าเป็นความสำเร็จใหญ่ในรอบ 20 ปี โดยจะมีมาตรการให้ทุกประเทศสมาชิก (ทั้งโลกเหนือและโลกใต้) ยุติการให้การอุดหนุนการเกษตรเพื่อการส่งออก ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เกษตรกรทั้งโลกเหนือและโลกใต้ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา จะต้องประท้วงกันอย่างหนัก อย่างแน่นอน! 

 


หมายเหตุ: ผู้เขียน (จรรยา ยิ้มประเสริฐ) ได้รับเชิญจากขบวนการชาวนาสากล ลา เวีย คัมเปซินา ให้เป็นล่ามให้กับตัวแทนจากสมัชชาคน ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของขบวนการชาวนาสากล)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net