เผยสื่อทั่วโลกถูกฆ่ากว่าสองพันรายในรอบ 25 ปี-ตายในสถานการณ์ปกติมากกว่าในสงคราม

5 ก.พ. 2559 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. สมาพันธ์นักข่าวสากล (The International Federation of Journalists: IFJ) เผยแพร่รายงานการสังหารผู้สื่อข่าวและคนทำงานสื่อในรอบ 25 ปี พบมีอย่างน้อย 2,297 คนเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อ เฉพาะปี 2558 ปีเดียว มีถึง 112 ราย และมีถึง 11 ปีที่จำนวนสูงไปถึงหลักร้อย ส่วนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์คือปี 2549 ซึ่งมีสื่อมวลชนถูกฆ่าถึง 155 คน

จิม บูร์เมลาห์ (Jim Bourmelha) ประธานของ IFJ กล่าวด้วยว่า “รายงานประจำปีฉบับนี้เป็นมากกว่าการบันทึกจำนวนเพื่อนร่วมงานสื่อที่ถูกฆ่า แต่ยังเป็นการให้เกียรติต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ และความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ของสื่อที่สูญเสียชีวิตจากการทำหน้าที่รายงานและเสริมพลังให้แก่สาธารณชน”

รายงานระบุว่า การสังหารสื่อมวลชนเกิดขึ้นแพร่ขยายไปทั่วโลก ทั้งในพื้นที่สงคราม และในพื้นที่ขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ หลายกรณีสาเหตุการเสียชีวิตเกิดขึ้นทั้งจากการถูกเล็งเป้ายิง, ระเบิดโจมตี, กระสุนลูกหลงจากการยิงต่อสู้, และการลักพาตัวโดยใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น รายงานนี้จึงไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่ตัวเลขที่น่าสะพรึงเท่านั้น

“ยังมีเหตุผลอื่นๆ (ที่ทำให้สื่อถูกฆ่า) อีกด้วย ไม่ได้เพียงแค่ฉากสงคราม มีปรากฏการณ์การมุ่งสังหารสื่อมวลชน จำนวนมากเป็นเหยื่อขององค์กรอาชญากรรมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต” แอนโทนี่ เบลลังเกอร์ (Anthony Bellanger) เลขาธิการ IFJ กล่าวถึงนัยสำคัญของรายงาน ซึ่งถือว่าเป็นรายงานฉบับแรกของเขา หลังจากที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว “จากรายงานของเราพบว่ามีสื่อมวลชนถูกฆ่าในสถานการณ์ปกติมากกว่าในประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม”

10 ประเทศอันตราย มีทั้งประเทศที่มีความรุนแรงจากสงคราม, การละเมิดกฎหมาย, และประเทศที่มีอาชญกรรมและคอร์รัปชันสูง ประกอบด้วย อิรัก (309), ฟิลิบปินส์ (146), เม็กซิโก (120), ปากีสถาน (115), รัสเซีย (109), แอลจีเรีย (106), อินเดีย (95), โซมาเลีย (75), ซีเรีย (67) และบราซิล (62) เฉพาะปีที่แล้ว ฝรั่งเศสเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ทีมงานชาร์ลี เอ็บโด สถิติจึงเพิ่มขึ้นมาเท่ากับ อิรัก และ เยเมน คือมีสื่อมวลชนถูกฆ่าประเทศละ 10 ราย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครองสถิติสูงสุดคือ 571 ราย ตามมาด้วยอาหรับและตะวันออกกลางคือ 473 ราย มากกว่าอันดับสาม คือภูมิภาคอเมริกาเพียงหนึ่งราย (472 ราย) แอฟริกาตามมาเป็นอันดับสี่คือ 424 รายและยุโรป 357 ราย เฉพาะปี 2558 ภูมิภาคอเมริกาเสียชีวิตสูงสุดคือ 27 ราย ตามด้วยตะวันออกกลาง 25 ราย

รายงานยังระบุด้วยว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสื่อมวลชนทั่วโลก มีเพียงหนึ่งในสิบของกรณีการสังหารที่มีการสอบสวนดำเนินคดี และเมื่อคนผิดไม่ต้องรับโทษ ความรุนแรงที่กระทำต่อสื่อมวลชนก็จะยังคงดำเนินต่อไป

IFJ ย้ำว่ารายงานนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสัญญาณเตือนให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสื่อและส่งเสริมการปกป้องสื่อมวลชนให้ปรับลดความเสี่ยงให้ทำงานได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นภาระความรับผิดชอบร่วมกัน โดยทั้งตัวสื่อมวลชนและนายจ้างจะต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง หลีกเลี่ยงสถานการณ์งานที่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามข้อควรระวังที่จำเป็นเมื่อต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตราย

เลขาธิการ IFJ กล่าวด้วยว่า “สิ่งเหล่านี้เริ่มได้ด้วยการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ, ฝ่ายความมั่นคง, ทหาร และใครอื่นก็ตาม ให้ปฏิบัติต่อสื่อมวลชนโดยเคารพต่อความอิสระของสื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสากล โดยดำเนินสืบสวนสอบสวนคดีการสังหารสื่อมวลชน เพื่อให้ผู้กระทำการต้องรับผลตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันความรุนแรงในอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของสหประชาชาติ และหน่วยงานต่างๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในระดับนานาชาติที่จะคุ้มครองสิทธิในความปลอดภัยในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้แก่ผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานสื่อ”

อนึ่ง รายงานดังกล่าวออกมาในช่วงเวลาเดียวกับที่จะมีการประชุมเรื่องความปลอดภัยของสื่อมวลชน “News organizations standing up for the safety of media professionals” ที่จัดให้มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559

 

เรียบเรียงจาก: At least 2,297 journalists and media staff have been killed since 1990: IFJ report
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม 25th report on journalists and media staff killed since 1990
สามารถติดตามรายละเอียดการประชุมที่ยูเนสโก: News organizations standing up for the safety of media professionals

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท