เสนอ รบ.ทบทวนมาตรการปรับลดภาษีเงินได้-แนะคำนึงวินัยการคลัง

เสนอรัฐบาลทบทวนกรณีปรับลดภาษีเงินได้เหลือ 20% อย่างถาวร ถามตอบโจทย์กระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ หวั่นรัฐบาลกู้จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบกรีซ แนะคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ระยะกลางและระยะยาวเป็นสำคัญ

5 ก.พ. 2559 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการเช้าทันโลก ทางคลื่น FM 96.5 คลื่นความคิด สัมภาษณ์ ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. นักวิชาการ โครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา หรือ Thai PBO ในประเด็นเรื่อง การปฏิรูปการเก็บภาษีนิติบุคคล เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายสามวาระรวด ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 23% เหลือ 20% อย่างถาวร เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้นิติบุคคลจากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศมากขึ้น

ภาวิน กล่าวว่า ในภาพรวม รัฐบาลปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% และเหลือ 20% แต่ที่ผ่านมาปรับในลักษณะชั่วคราว คือออกกฎหมายปรับลดอัตราเป็นปีต่อปี ช่วงที่ผ่านมา เราปรับเพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามา และเพื่อบอกว่าเราจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทย ทั้งนี้ เมื่อดูประเทศเพื่อนบ้าน อัตราภาษีของมาเลเซียอยู่ที่ 25% และสิงคโปร์ 17% อาจเป็นเหตุผลหลักที่ไทยพยายามปรับลงภาษีนิติบุคคลลงเพื่อแข่งขันกับเขา ทั้งนี้มีปัจจัยรอบด้านที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มด้วย เพราะการปรับลดจะทำให้สูญเสียรายได้รัฐในการจัดเก็บภาษีพอสมควร

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เมื่อครั้งที่มีการลดจาก 30% เหลือ 23% ดูเหมือนว่า คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือบริษัทยักษ์ใหญ่ใน SET50 โดยพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไร หรือกำไรพรวดพราดเลย มีการศึกษาไหม ว่าลดแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาตอบว่า ส่วนตัวยังคิดว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการลดหย่อนภาษีมาระดับหนึ่ง เพื่อดึงดูดให้บริษัทเข้าไปจดทะเบียน เพราะฉะนั้น ในกลุ่มนี้อาจได้ประโยชน์อยู่ระดับหนึ่ง แต่ที่กระทบหลักๆ คือกลุ่มบริษัทขนาดกลางมากกว่าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน และยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในลักษณะอัตราภาษีระดับต่ำของเอสเอ็มอี

ภาวินมองว่า สำหรับปัญหาหลักของการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุุคคล เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นอันดับสอง รองจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อดูสถานการณ์รายรับรายจ่ายของรัฐบาล ที่ผ่านมา ไทยขาดดุล (รายจ่ายมากกว่ารายได้) ต่อเนื่องมาเกินกว่า 15 ปี มีเพียงปีงบประมาณ 2548 ที่รายได้มากกว่ารายจ่ายเล็กน้อย ขณะที่มีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง ขาดดุลเกือบ 400,000 ล้านแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

เขากล่าวต่อว่า หากจะลดการขาดดุลของรัฐบาล ต้องดูว่าเราสามารถเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายได้บ้างหรือเปล่า สำหรับรายจ่ายมองว่าปรับลดได้ยาก เนื่องจากสัดส่วนของงบลงทุนของรัฐปรับลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศต้องการการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ด้านรายรับ มองว่า ถ้าไม่ปรับเพิ่มก็ไม่ควรจะปรับลด เนื่องจากรายรับเราไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว และอย่างที่เรียนไปว่า รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายได้อันดับสองของรัฐบาล คิดเป็นมูลค่าหนึ่งในสี่ของรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ อันดับหนึ่งคือ VAT ซึ่งมีงานศึกษาว่า ถ้าปรับจาก 30% เป็น 20% จะลงถึงหนึ่งในสาม หรือเสียไประดับแสนล้านต่อปี เทียบได้กับรถไฟฟ้าสายแพงที่สุดหายไปปีละหนึ่งสาย ถือว่าเสียรายได้ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

ผู้ดำเนินรายการถามว่า หากต้องการปฏิรูปภาษีอย่างแท้จริง มีคำแนะนำอย่างไร เขาตอบว่า วัตถุประสงค์ในการปฏิรูปภาษีมีได้หลากหลาย กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่เรายังไม่เคยมีการประเมินว่าการปรับลดอัตราภาษีที่ผ่านมาสามารถดึงดูดการลงทุนในไทยได้จริงหรือไม่ พร้อมชี้ว่าเมื่อย้อนไปดูผลการศึกษาต่างๆ พบว่าการจะดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง การลดภาษีไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก เพราะหากต่างชาติมองเรื่องภาษี อาจเลือกไปลงทุนในแอฟริกามากกว่า

ภาวินชี้ว่า ปัจจัยที่บริษัทต่างชาติคำนึงถึงมีอยู่หลากหลาย เช่น มีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ แรงงานมีคุณค่าดีหรือไม่ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำ-ไฟ เสถียร มีถนน มีท่าเรือ ส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจจะสำคัญกว่าอัตราภาษี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีโรงงานไปเปิดใหม่ในยุโรป หรืออเมริกา ที่อัตราภาษีสูงกว่าประเทศในเอเชีย หากเราจะพัฒนาต้องมองให้รอบด้าน ครบถ้วนทุกปัจจัย

"ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าจะปรับลดภาษีเพื่อที่จะส่งเสริมการเติบโต การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องนัก" ภาวินกล่าวและว่า ถ้าปรับจริงๆ อาจส่งเสริมให้คนหันมาสนใจการศึกษา ลดหย่อนให้คนที่ไม่ได้ทำงานมาก่อน สนใจหันมาทำงาน เช่น ผู้สูงอายุ แม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งจะทำให้มีแรงงานเพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพแรงงานที่ดีขึ้น 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า เมื่อปรับลดภาษีถาวรแล้ว ขณะที่ลดรายจ่ายไม่ได้ เรากำลังจะเผชิญกับอะไร ภาวิน ตอบว่า เมื่อรายรับไม่พอรายจ่าย เราก็ต้องกู้ ทั้งนี้เมื่อดูสัดส่วนหนี้เงินกู้ต่อจีดีพีของไทยถือว่ายังไม่สูงนัก แต่สิ่งที่น่ากลัวคืออัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ต่อจีดีพี หนี้ต่อรายได้ของเราอัตราการปรับเพิ่มมันสูงอย่างน่ากลัวในปีหลังๆ สอดคล้องกับที่งบประมาณเราขาดดุล ค่อนข้างเยอะ การเพิ่มขึ้นเร็วในที่สุดจะชนเพดาน และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ในอนาคต อย่างกรณีกรีซ หรือลาตินอเมริกา

ผู้ดำเนินรายการถามว่า จากประสบการณ์ของประเทศเหล่านั้น รัฐบาลจะเลือกตัดงบสวัสดิการสังคมก่อน เขาชี้ว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็จะกระทบกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

เขาแนะนำว่า รัฐบาลต้องประเมินว่า การปรับลด อัตราภาษีเงินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการจริงหรือไม่ หากไม่ ต้องปรับตัว ในระยะกลางและระยะยาว การคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลที่ผ่านมายังคำนึงถึงค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่สุดเรากู้ต่อไปไม่ได้ เรามีเพดาน และสุดท้าย ต้องลดมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว เช่นกรณีมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเพื่อกระตุ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งใช้เม็ดเงินเยอะ แต่หายไปเลย ไม่มีประโยชน์ในปีต่อไป ควรโยกไปส่งเสริมความสามารถและความเข้มแข็งของผู้คนในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ระยะยาวมากกว่า

 

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท