นักวิชาการ ANU ชี้พรรคเอ็นแอลดีของพม่าเร่งแก้อำนาจนิยมจากระบอบอาวุโส

หลังการเลือกตั้งในพม่า กำลังวิเคราะห์กันว่าจะมีการลงมาติให้ใครเป็นประธานาธิบดี นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพม่าในออสเตรเลียชี้ให้เห็นปัญหาของพรรคเอ็นแอลดีว่ายังคงมีแนวคิดแบบแบ่งลำดับชนชั้น การตัดสินใจแบบอำนาจนิยมและมีการกดข่มคนรุ่นใหม่ของพรรคให้อยู่ภายใต้ระบอบอาวุโส

5 ก.พ. 2559 นิโคลาส ฟาร์เรลลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพม่าของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์นิวแมนดาลาเขียนบทความเกี่ยวกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี (NLD) ของพม่าที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในประเทศและกำลังอยู่ช่วงที่มีการประเมินว่าใครกันที่จะได้เป็นรับการลงมติให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีกำลังทำงานอย่างหนักช่วงหลังเลือกตั้งที่มาพร้อมกับความคาดหวังของผู้คน

ฟาร์เรลลีระบุว่าการที่ประเทศพม่าถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมาเป็นเวลานานทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจให้กลายเป็นระบอบการปกครองที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนเช่นนี้ดูยุ่งยากและตะกุกตะกัก แต่ฟาร์เรลลีก็เคยเขียนบทความวิจารณ์พรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์นักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเอ็นแอลดีไว้เมื่อปีที่แล้วว่าพรรคเอ็นแอลดีเองก็ควรเพิ่มมาตรฐานของตัวเองด้วยหากพวกเขาต้องการสร้างรากฐานไว้ในระยะยาวให้พม่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จแต่ก็มีคนพยายามแก้ตัวแทนพรรคนี้อยู่มาก

อย่างไรก็ตามฟาร์เรลลีเตือนว่าไม่ว่ารัฐบาลยุคใดก็มีความผิดพลาดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งนั้นชาวพม่าจึงไม่ควรยึดติดนิสัยเก่าๆ ในการกล่าวหารัฐบาลทหารไปเสียทุกเรื่อง แต่พรรคเอ็นแอลดีเองก็ควรจะพยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดด้วย

บทความของฟาร์เรลลีระบุถึงประเด็นสำคัญที่พรรคเอ็นแอลดีต้องปรับปรุงคือ เรื่องของความโปร่งใสหรือการจัดการที่เป็นประชาธิปไตย เขายอมรับว่ามันฟังดูย้อนแย้งคาดไม่ถึงที่พรรคผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยจะมีลักษณะเช่นนี้ รวมถึงมีสัญชาตญาณแบบอำนาจนิยมที่มีการใช้อำนาจจากบนลงล่างโดยมีอองซานซูจีเป็นผู้ที่กุมอำนาจการตัดสินใจหลักๆ ของพรรค

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซูจีมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงบางคนมากขึ้นทำให้ฟาร์เรลลีมองว่าซูจีควรจะมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวของเธอเอง ในฐานะที่อองซานซูจีเป็นคนที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่าและถูกตั้งความหวังไว้อย่างมาก อย่างไรก็ตามการที่เธอเป็นผู้ตัดสินใจแบบบนลงล่างในโครงสร้างของพรรคเช่นนี้ก็ทำให้พรรคเอ็นแอลดีค่อนข้างปกปิดเกี่ยวกับเนื้อหาหรือแผนการต่างๆ สร้างความหวาดระแวงไปจนถึงภาวะความเงียบที่ไม่ค่อยต่างจากการกระทำแบบดั้งเดิมของเผด็จการสักเท่าไร นอกจากนี้เมื่อสื่อนำเสนอแผนการของพวกเขาก็มักจะมีการพยายามยับยั้งปรามสื่อในเรื่องนี้

ฟาร์เรลลีชี้ให้เห็นว่าอีกปัญหาหนึ่งคือผู้นำระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดีไม่เคยมีประสบการณ์บริหารบ้านเมืองโดยตรงมาก่อน เพราะคณะกรรมการบริหารส่วนกลางของพรรคใช้ตลอดเวลาที่ผ่านมาในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นที่รู้จักในเรื่องการใช้ระบอบอาวุโสในพรรค

ฟาร์เรลลีระบุว่ามีผู้นำอาวุโสในพรรคเอ็นแอลดีมีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่มีประสบการณ์การบริหารภาครัฐมาก่อนคือทินอู (U Tin Oo) ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยที่ประเทศยังเป็นระบอบสังคมนิยมก่อนที่เขาจะถูกให้ออกจากตำแหน่งในช่วงที่มีการกวาดล้างในปี 2519 หรือเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว โดยที่มีคนคาดการณ์ว่าทินอูอาจจะได้เป็นประธานาธิบดีคนถัดไปถ้าหากอองซานซูจียังคงถูกระบุห้ามจากรัฐธรรมนูญไม่ให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ มันจะเป็นความสำเร็จสำคัญสุดท้ายในชีวิตของผู้นำพรรคอาวุโสผู้นี้แต่ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนว่าพรรคเอ็นแอลดีกำลังป่วยไข้จากเรื่องระบอบอาวุโส

บทความของฟาร์เรลลีระบุว่าพรรคเอ็นแอลดีเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนหนุ่มสาวไฟแรงที่ศรัทธาในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรค แต่ลักษณะเน้นอาวุโสในพรรคก็ปิดกั้นไม่ให้มีการฟังเสียงจากคนหนุ่มสาวและไม่ทำให้เกิดการปรับปรุงตัวเอง อีกทั้งยังทำให้คนหนุ่มสาวต้องอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดของพรรคซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ได้

"สิ่งที่บทวิเคราะห์นี้ต้องการจะสื่อถึงคือ ภายใต้วัฒนธรรมแบบชนชั้นนำที่มีอยู่ในพรรคเอ็นแอลดีมีแบบแผนในเรื่องลำดับชั้นและเรื่องการยอมรับใช้พรรค ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้ แต่ในตอนนี้มันก็ควรจะมีการส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นเรียกร้องให้อำนาจการตัดสินใจของพรรคมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น" ฟาร์เรลลีระบุ

 

เรียบเรียงจาก

The NLD’s iron-fisted gerontocracy, NICHOLAS FARRELLY, New Mandala, 03-02-2016

http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2016/02/03/the-nlds-iron-fisted-gerontocracy/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท