นักเขียนอินเดียวิจารณ์รัฐบาลปราบนักคิดทางอ้อมยกกรณี 'อรุณธตี รอย'

6 ก.พ. 2559 ปังกาจ มิชรา นักเขียนชาวอินเดียผู้มีผลงานวรรณกรรมและบทความการเมืองเขียนถึงกรณีที่อินเดียกำลังทำการปิดกั้นปราบปรามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพเชิงความคิดสร้างสรรค์ด้วยวิธีการที่ลึกลับซับซ้อนกว่าประเทศอื่นๆ อย่างอียิปต์หรือตุรกี รวมถึงกรณีที่มีการใช้ข้ออ้างทางกฎหมายพยายามเอาผิดกับนักเขียนชื่อดังอย่างอรุณธตี รอย ผู้เขียนเรื่อง "เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ" (The God of Small Things) ที่ได้รับรางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักเขียนมือรางวัลอย่างอรุณธตี รอย ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาลจากบทความของเธอที่เขียนขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นบทความที่เพียงแค่เรียกร้องให้คนหันมาสนใจกรณีที่นักวิชาการผู้พิการชื่อไสบาบาถูกตำรวจ "อุ้ม" ไปกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยอ้างว่าดำเนิน "กิจกรรมต่อต้านประเทศชาติ" โดยในบทความของรอยมีช่วงหนึ่งระบุพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ว่าถ้าหากมีการให้ประกันตัวพรรคพวกของโมดีในข้อหาฆาตกรรมได้ทำไมถึงไม่ยอมให้ประกันตัวนักวิชาการนั่งรถเข็นที่สุขภาพกำลังย่ำแย่ ซึ่งรอยไม่ได้วิจารณ์ศาลเลยแม้แต่น้อย

ไม่เพียงแค่การอ้างใช้กฎหมายหรือกระบวนการศาลในการเล่นงานคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น มิชรายังระบุถึงเล่ห์กลของรัฐบาลอินเดียและกลุ่มชนชั้นสูงผู้มีแนวคิดชาตินิยมที่พยายามใช้ช่องทางสื่อต่างๆ ในการใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงรุมข่มเหงรังแกคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลด้วย

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โรหิต เวมุลา นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากเมืองไฮเดอราบาดฆ่าตัวตายหลังจากที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่มีความคิดเห็นทางการเมือง "ต่อต้านประเทศชาติ" หลังจากถูกกล่าวหา เวมุลาผู้ที่เป็นปัญญาชนนักวิจัยจากชนชั้นที่ยากจนและเสียเปรียบก็ถูกสั่งพักการเรียน ถูกระงับการให้ทุน และถูกขับออจากหอพักของนักศึกษา

บทความของมิชราเปิดเผยว่าการกดดันในรั้วสถานศึกษาเช่นนี้มาจากจดหมายของรัฐบาลโมดีที่ส่งถึงผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัย จดหมายเหล่านั้นระบุถึงการพยายามกดดันมหาวิทยาลัยให้ทำการเคลื่อนไหวป้องปรามกลุ่มที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "กลุ่มหัวรุนแรง และต่อต้านประเทศชาติ" แต่การกดดันทางสังคมดังกล่าวก็ส่งผลร้ายทำให้นักคิดนักเขียนคนหนึ่งต้องจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในจดหมายลาตายของเวมุลาระบุว่าตัวเขาถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวและรู้สึกสิ้นหวัง

มิชราระบุว่ากลุ่มครอบครัวชนชั้นสูงในอินเดียพยายามสร้างการครอบงำพื้นที่สาธารณะให้ได้ทั้งหมด พวกเขาใช้ทั้งวิธีการข่มเหงรังแก อ้างใช้กฎหมายในการกล่าวหาดำเนินคดีต่อนักเขียนและศิลปินในอินเดีย และมีการใช้กลุ่มอันธพาลบุกเข้าไปก่อกวนทำลายข้าวของในสำนักงานหนังสือพิมพ์ สถานจัดแสดงศิลปะ และโรงภาพยนตร์ โดยที่กลุ่มอันธพาลเหล่านี้ยังลอยนวลไม่ต้องรับผิดใดๆ

นอกจากนี้มิชรายังระบุอีกว่ากลุ่มธุรกิจผู้ใก้ชิดกับโมดีต่างก็พยายามควบคุมบงการสื่อโทรทัศน์ของอินเดียรวมถึงสื่อใหม่ เช่น กลุ่มสร้างข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามตามโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลผิดๆ ทำให้หลายภาคส่วนอย่างภาคส่วนการศึกษาหรือสื่อกลายเป็นเครื่องมือกล่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามของเครือข่ายอำนาจในอินเดีย มีการพยายามกระตุ้นเร้าอารมณ์และครอบงำมุมมองของผู้คน 

หนึ่งในตัวอย่างคือกรณีที่มีการส่งต่อข้อความอ้างว่า รอย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสมคบคิดผู้สอนศาสนาชาวคริสต์ที่สังหารเวมุลาและพยายามทำให้อินเดียแตกแยก ซึ่งถ้ามันเป็นแค่ข้อความลูกโซ่ก็อาจจะดูเหมือนเป็นแค่พวกหวาดระแวงไร้สาระสร้างเรื่องขึ้นมาเอง แต่กลับมีสื่อที่ไม่ยินดียินร้ายต่อสถานการณ์หรืออาจจะถึงขั้นต่อต้าน รอย นำเรื่องนี้ไปตีแผ่จนทำให้คนเริ่มคิดว่ารอยต้องตอบคำถามในเรื่องนี้

มิชราระบุว่านอกจากนี้ยังมีผู้พิพากษารายหนึ่งวิจารณ์รอยว่าเป็นคนหยาบคายและใช้รางวัลที่เธอได้มาวิจารณ์ประเทศอินเดีย อีกทั้งยังมีสื่อภาพยนตร์จากบริษัท ซี เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่มีความใกล้ชิดกับโมดีมาสร้างภาพว่ามีคนเลวร้ายกำลังต่อต้านประเทศชาติทำให้รอยกลายเป็นตัวร้ายของทั้งศาลและในสายตาสาธารณะ มิชรามองว่าเรื่องนี้สร้างความเสียหายต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเขียนที่ควรจะเป็นอิสระจากความกังวลและแรงกดดันจากโลกภายนอกเพื่อที่จะสามารถสร้างงานตนเองได้

บทความของมิชราเผยให้เห็นสภาพในอินเดียว่าไม่เพียงแค่การปิดกั้นสื่อจากรัฐและการเซนเซอร์ตัวเองของกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจเท่านั้น แต่ยังมีความตกต่ำทางศีลธรรมของฝ่ายสนับสนุนรัฐเองที่มีลักษณะของกลุ่มศาลเตี้ยโดยแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกแบบเกินจริง รวมถึงการแสดงออกหยาบคายไร้รสนิยมในแบบที่ทำให้ "ผู้พิพากษาและตัวตลกก็ดูไม่ต่างกัน"

มิชรายกตัวอย่างกรณีที่บริษัท ซี เอนเตอร์เทนเมนต์ จัดโต้วาทีด้วยหัวข้อที่ว่า "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควรเป็นไปโดยไม่มีข้อจำกัดหรือไม่" ซึ่งมีพิธีกรเป็นดาราชื่อ อนุปัม เคร์ ผู้ที่เคยจัดการประท้วงต่อต้านกลุ่มนักเขียนอินเดียที่ทำการคืนรางวัลวรรณกรรมเพื่อประท้วงเหตุสังหารนักเขียนโดยเคร์ใช้คำขวัญต่อต้านนักเขียนเหล่านี้ว่า "เอารองเท้าทุบพวกคนมีความรู้เสีย" จากนั้นก็ไปถ่ายรูปคู่กับนายกรัฐมนตรี มิชรามองว่าคนอย่างเคร์เป็น "ตัวตลกที่อันตรายในทางการเมือง" ไม่เพียงแค่การแสดงออกสนับสนุนนายกรัฐมนตรีอย่างออกนอกหน้า แต่กลุ่มชาตินิยมในอินเดียยังการพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการนำเสนอเรื่องราวของนักเขียนที่ถูกกระทำจากรัฐ รวมถึงการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มนักคิดทางจิตสำนึกและจิตวิญญาณแม้แต่กับผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติอินเดียมาก่อนอย่างรพินทรนาถ ฐากุร

มิชรามองว่าความตกต่ำเช่นนี้เป็นหนึ่งในหลานวิธีที่ฝ่ายชาตินิยมในอินเดียใช้ "สังหาร" นักเขียนของพวกเขาโดยไม่ทำให้เกิดการทิ้งร่องรอยหลักฐานให้สืบสาวถึงตัวผู้นำอย่างโมดี

 

เรียบเรียงจาก

Pankaj Mishra on Arundhati Roy: Hindu nationalists ​have many ways to silence writers, Pankaj Mishra, The Guardian, 02-02-2016

http://www.theguardian.com/books/2016/feb/02/pankaj-mishra-arundhati-roy-hindu-nationalists-silence-writers-india

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท