Skip to main content
sharethis
 
10 ก.พ. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้ร่วมกันเปิดรายงานสถานการณ์การทรมานและจัดโครงการการสร้างการตระหนักรู้การป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
สำหรับรายงานดังกล่าวนั้นมีจำนวนรวม 120 หน้า ทั้งที่เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมานทั้งสิ้นจำนวน 54 รายและบทวิเคราะห์เรื่องการป้องกันการทรมาน  ซึ่งรายงานฉบับนี้เกิดจากการทำงานของสามองค์กรคือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ โดยการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานโดยตรงด้วยแบบสอบถามที่เขียนขึ้นมาจากหลักการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน ที่เรียกว่า Istanbul Protocol
 
โดยระบุว่า ในปี 2557-2558 คณะทำงานฯได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 54 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2558 จำนวน 15 กรณี ปี 2557 จำนวน 17 กรณี อีก 22 กรณีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2556  ผู้เสียหายทั้งหมดเป็นคนมุสลิมสัญชาติไทยเชื้อสายมลายู
 
เมื่อปี 2555-2557 ทางคณะทำงานฯ ได้เคยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานฯ ได้ทั้งสิ้นจำนวน 92 กรณีและได้จัดทำรายงานภาษาอังกฤษ (ไม่มีการเผยแพร่รายงานเป็นภาษาไทยต่อสาธารณะ) นำเสนอต่อคณะทำงานต่อต้านการทรมาน องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนเม.ย. 2557 ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติก็ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้แก้ไขและป้องกันไม่ให้มีการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมโดยเจ้าหน้าที่อีก แต่ก็ไม่เป็นผลให้การทรมานลดลงแต่อย่างใด  โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้นในช่วงปี 2557-2558 และเรื่องร้องเรียนล่าสุดคือการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของนายอับดุลลายิบ ดอเลาะเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558
 
“การเผยแพร่รายงานในครั้งนี้ เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแต่อย่างใด หลังจากที่เราเคยเสนอปัญหาแก่เจ้าหน้าที่ ออกแถลงการณ์ และจัดทำรายงานมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ได้ผล การเสนอรายงานครั้งนี้จึงต้องการย้ำให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนโยบาย มีความเข้าใจว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข และต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัว สืบสวนสอบสวนผู้ต้องสงสัย  ยุติการทรมานในทันที  รัฐบาลต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับความยุติธรรม มิเช่นนั้นเรื่องนี้จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้”  นายสมชาย หอมลออ หนึ่งในกองบรรณาธิการกล่าว 
 
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการส่งรายงานนี้ให้ พล.ท.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์  แม่ทัพภาคที่ 4 รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัจจุบันยังไม่ทราบความคืบหน้าของการตรวจสอบแต่อย่างใด
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net