#น้องไม่ใช่เดอะเฟซ: ภาพลักษณ์นิยมในเยาวชนไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นสัญญาณแห่งความก้าวหน้าของความเปิดเผยทางเพศแบบโลกเสรี ที่เสรีไปไกลกว่าโลกเสรี  หรือเป็นความล้าหลังทางจริยธรรม ที่ล้าหลังกระทั่งในมุมมองของแนวคิดที่ล้าหลัง?
 

สักพักแล้วที่คลินิกรักษาสิวกินพื้นที่จนเป็นย่านใหญ่ในห้างสรรพสินค้าภายในไม่กี่ปี ค่ารักษาหน้าคือค่าใช้จ่ายจำเป็น เวย์โปรตีนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ขายครีมเป็นงานประจำของ “เน็ตไอดอล” และสักพักแล้วที่รายการโทรทัศน์ประเภทคัดเลือกหน้าตาพัฒนาบุคลิกกลายเป็นรายการยอดนิยม แฟนเพจสถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยคัดเอาภาพของ  cuteboy/cutegirl” มาใช้เป็น “mascot” ในงานแต่ละงาน ในกระแสแห่งความหฤหรรษ์อย่างที่อ้างกันว่า “คนเขาก็แค่ดูกันขำๆ" ผู้ชมต่างเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผลการตัดสินของกรรมการและบรรณาธิการ แต่ล้วนเห็นด้วยกับ "การมีการตัดสิน" คุณค่าของภาพลักษณ์ ที่โจ่งแจ้งและจริงจังขึ้นทุกวันบนพื้นที่เครือข่ายสังคมและสื่อไทย แท้จริงแล้วในเสียงหัวเราะนั้นมีอะไรอีกไหม?

เหมือนว่าการลงทุนอย่างหนักหน่วงกับสื่อบันเทิงของรัฐบาลเกาลีใต้ภายในไม่กี่ปีมานี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลเกาหลีใต้มีความพยายามอย่างเปิดเผยที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของชาติด้วยการขายวัฒนธรรมบันเทิง ส่งออกความหล่อสวย ตามมาด้วยความอยากหล่อและอยากสวย (Euny Hong. The Birth of Korean Cool)

ผมไม่ได้จะบอกว่าทุกอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะเกาหลีใต้ ตามแบบเกาหลีใต้ เทคโนโลยีการสื่อสารบนโลกปัจจุบันมีความซับซ้อน ความงามจากวัฒนธรรมต่างๆ ทับซ้อนกันและทำงานร่วมกับท้องถิ่น แต่แน่นอนที่เกาหลีใต้มีส่วนสำคัญ ช่วงเวลาการเติบโตของคลินิกความงามและผลิตภัณฑ์ความงามกับช่วงเวลาของการเติบโตของวัฒนธรรม K-pop ในไทย (รวมทั้งการเปิดร้านหมูย่างโดยใช้คำว่า “หมูย่างเกาหลี”) มีความสัมพันธ์กัน หากลองดูตัวเลือกความงามบนโปรแกรมแต่งภาพเซลฟี่ที่ติดมากับกล้องบนสมาร์ทโฟน และหันไปมองบนโทรทัศน์ ก็จะเห็นรายการจากเกาหลีรายการหนึ่งกำลังคัดเลือกคนหน้าตาบุคลิกไม่ดีจากไทยที่มีเรื่องราวน่าสงสารที่สุด (ราวกับมันเป็นโรคหรือคำสาป) แจกรางวัลเป็นทริปไป “รักษา” หรือทำศัลยกรรมที่เกาหลีใต้ ถ้ามองผลของการทำศัลยกรรมในรายการนั้นเทียบกับลักษณะผลสำเร็จในการแต่งภาพของโปรแกรม “ฟรุ้งฟริ้ง” บนสมาร์ทโฟนแล้ว ก็คงจะเห็นภาพคร่าวๆ ถึงอิทธิพลของความงามจากเกาหลีใต้ในเบื้องต้น โดยไม่ต้องพูดถึงภาพที่ใช้โฆษณากันตามคลินิกความงาม หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ความงาม ที่เห็นกันอยู่แล้วโดยทั่วไป

 

จากรักแห่งสยาม

ในช่วงแรกที่ผมเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมเยาวชนไทยบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผมตั้งสมมติฐานว่าวัฒนธรรมที่กำลังเติบโตมากในช่วงนี้ก็คือวัฒนธรรมแบบ “เด็กเปรต" อย่างที่เคยลงบทความไว้ที่ประชาไท (จากเนติวิทย์สู่ฮอร์โมนส์ฯ)[1] แต่เมื่อพิจารณาอีกครั้งก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เห็น วัฒนธรรมเด็กเปรตดังกล่าวจะเติบโตขึ้นบนสื่อกระแสหลักได้ก็ด้วยการทำงานร่วมกับนักแสดงหน้าตาน่ารัก หรือคุณค่าแบบภาพลักษณ์นิยม (lookism) ที่แฝงมาด้วยกันเท่านั้น เราจะเห็นว่าคำถามและประเด็นแบบเปรตๆ จากในฮอร์โมนส์จะกลายเป็นมีม (meme) ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปไม่ได้เลยหากไม่ได้พึ่งพาภาพลักษณ์นักแสดงที่ “น่ารัก” หรือมีแรงดึงดูดทางเพศสูงเมื่ออยู่หน้ากล้องในละครชุดฮอร์โมนส์ ผมยังเคยคุยกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทอยู่ว่าเขาก็นำเสนอประเด็นคล้ายๆ กับพวกคุณ เพียงแต่เขาหน้าตาดีกว่าพวกคุณแค่นั้นเอง

สื่อบันเทิงกระแสหลัก ในปี 2007 เป็นต้นมาโดยตลอด เกิดกระแสการทำ “สื่อโลกเยาวชน” (สื่อที่มีเรื่องราวของเยาวชนเป็นสำคัญ) ที่มีแบบของเนื้อหาและท่าทีใกล้เคียงกับ ”รักแห่งสยาม” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงเป็นเรื่องแรกในแนวทางนี้เมื่อเวลานั้น และหากกลับมาดูในช่วงสามปีล่าสุด (2013-2015) จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีหรือไม่มีวัฒนธรรมเด็กเปรตอย่างในฮอร์โมนส์ ก็แทบจะไม่มีเรื่องใดเลยที่ไม่มีประเด็นเพศเควียร์ (queer) และรักวัยเรียนกับรสแบบ “หวานขม” ตามรอยภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามอยู่

คงจะไม่สายไปหากจะกลับไปกล่าวถึงรักแห่งสยาม นอกจากจะมีเนื้อหาหลายส่วนที่เป็นอมตะจนดูกี่ครั้งก็ยังจุกอกแล้ว รักแห่งสยามก็พ่วงมาด้วยภาพชวนฝันของคู่ (เกือบ) รักระหว่างพิช ออกัส และมาริโอ้ เมาเร่อ ที่แม้ใครจะไม่เข้าถึงความรู้สึกอันล้นเอ่อที่ผู้กำกับบรรจงบรรจุลงในภาพยนตร์ดังกล่าวแล้ว ก็จะประทับใจฉากต่างๆ ของคู่ (เกือบ) รักคู่นี้ได้ไม่ยาก และมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการดำเนินเรื่องเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นเพราะภาพลักษณ์อันดึงดูดของทั้งคู่ และแม้ไม่มีการดำเนินเรื่อง ฉากรักของทั้งคู่ก็จะยังคงน่าประทับใจสำหรับผู้ชม (หาวีดีโอที่ตัดมาเฉพาะฉากประทับใจเหล่านี้ได้ไม่ยากบน youtube) ผู้ผลิตสื่อบันเทิงทั้งหลายก็เห็นเช่นนี้ การทำงานของความนิยมในภาพลักษณ์ครั้งนี้ส่งผลอย่างสูงต่อทัศนคติในการผลิตภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเยาวชนในเรื่องต่อๆ มาจนปัจจุบัน ว่าอะไรทำนองเดียวกันที่มีแล้วประสบความสำเร็จในรักแห่งสยาม ต้องมีในภาพยนตร์เรื่องอื่นด้วย (ต้องมีเควียร์ เควียร์ต้องหน้าตาดี เควียร์ต้องทะเลาะกับพ่อแม่ ต้องจบแบบจากทั้งรัก ฯลฯ) จึงเพราะจากรักแห่งสยามสู่สื่อบันเทิงของเยาวชนไทยเอง ผนึกกำลังกับการขายของของเกาหลีใต้หรือไม่ การเดินทางของวัฒนธรรมภาพลักษณ์นิยมในเยาวชนคนรุ่นใหม่จึงแอบเริ่มขึ้นอย่างสงบในเวลานั้น

อิทธิพลของรักแห่งสยามนั้นอาจจะยังคงอยู่มาโดยตลอด แต่กลับมาถูกดันขึ้นอีกครั้งด้วยภาวะที่สื่อหันมาสนใจเยาวชนกับวัฒนธรรมเด็กเปรตในช่วงปี 2013 ที่สื่อกระแสหลักนำเสนอการตั้งคำถามของนักเรียนต่อระบบการศึกษาไทยมาก จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่ภาพยนตร์เรื่องใดจะนำเสนอประเด็นเยาวชนแล้วไม่มีรสแบบรักแห่งสยามอยู่ ในที่สุดจนท้ายปี 2015 ที่เราเห็น Lovesick และ Waterboyy ก็เห็นว่าสื่อในทำนองเดียวกันจะวิวัฒน์ไปในทางที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น คือเนื้อหาหวานขมน้อยลง และ “ฉากจิ้น” หรือ “ฉากยั่ว” จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าเมื่อผ่านการกร่อนเซาะของเวลาแล้ว ภาพยนตร์ที่อยู่ในกระแสโลกเยาวชนได้นำเสนอประเด็นประปรายมาโดยตลอดตั้งแต่ 2007-2015 แต่เกือบทุกเรื่อง (อาจจะยกเว้น ตั้งวง) ยังคงรักษาหัวใจของมันเอาไว้ในที่สุด คือต้องมีดีที่หน้าตาและฉากรักเอาไว้ก่อน ส่วนประเด็นอื่นจะโผล่ขึ้นมาอยู่ในกระแสได้ก็สุดแท้แต่โอกาส

 

คิ้วท์บอย คิ้วท์เกิร์ล

ความคลั่งไคล้ในรูปร่างหน้าตาและความน่ารัก เพิ่งถูกแสดงออกมากเป็นพิเศษบนพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์คของเยาวชนรุ่นปัจจุบัน ปลายปี 2012 ถึงต้นปี 2013 (นักแสดงที่เข้ามามีบทบาทในสื่อโลกเยาวชนปีไล่เลี่ยกันจำนวนหนึ่ง เติบโตมาจากแฟนเพจเหล่านี้) เกิดแฟนเพจจำนวนมากที่มีรูปแบบกองบรรณาธิการคัดเลือกคนน่ารัก (cute boy/girl) จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาบรรยายคุณสมบัติและความน่าหลงไหล โดยแฟนเพจจะใช้ชื่อของสถาบันนั้น ๆ แล้วตามด้วยคำว่า cuteboy, cutegirl ซึ่งเกิดขึ้นในแทบทุกสถาบันการศึกษาที่มีหน้ามีตาในสังคมไทยประหนึ่งว่าเป็นส่วนสำคัญในชื่อเสียงของสถาบันนั้น ๆ เช่น Jaturamitr Cuteboy (สวนกุหลาบวิทยาลัย, อัสสัมชัญ, เทพศิรินทร์, กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) (2012) มีผู้ติดตาม 49,753 ราย, Chula Cute Boy (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) (2012) 237,444 ราย, BU Cute Girl (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ) (2012) 159,044 ราย, TU cute boy (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) (2012) 49,751 ราย, BCC cute boy (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) (2012) 8,066 ราย, Thailand Cute Boy (นักเรียนมัธยม) (2013) 89,600 ราย (สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2015) ฯลฯ

รูปแบบของหน้าเหล่านี้มีส่วนทำให้การแสดงออกทางเพศบนเครือข่ายสังคมสาธารณะกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นมากสำหรับเยาวชน การแสดงความคิดเห็นต่างๆ บนพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ทุกคนพูดกันแต่เรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดปกติวิสัย (norm) ใหม่ กล่าวคือในแฟนเพจที่ใครๆ ก็พูดเรื่องหน้าตาของคิ้วท์บอยคิ้วท์เกิร์ลนั้น สร้างความเคยชินแบบใหม่ที่ถูกรวมศูนย์ขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ความสนใจจะพูดเรื่องหน้าตานั้นอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย และปกติวิสัยดังกล่าวสามารถระบาดออกจากเครือข่ายดังกล่าวได้ (Nocholas A. Christakis. Connected) เช่น การแสดงออกว่าต้องการเป็นเจ้าของ ต้องการร่วมเพศด้วย หรือ “#โปรดเย็ดฉันเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน[2]” ที่แสดงให้เห็นถึงการบูชาภาพลักษณ์และหน้าตาจนกลายเป็นปกติบนเครือข่ายดังกล่าว ก็ไม่มีอย่างแพร่หลายมาก่อน ไม่สามารถพูดบนพื้นที่สาธารณะได้มาก่อน จนพบเห็นครั้งแรกๆ บนเครือข่ายของแฟนเพจเหล่านี้ ก่อนจะขยายออกไปอยู่บนพื้นที่ทั่วๆ ไปในที่สุด

ปกติระบาด

จะเห็นว่าทั้งสื่อเครือข่ายสังคมและสื่อบันเทิงอยู่ในบรรยากาศเดียวกันอย่างชัดเจนมากในช่วง 2013-2015  (แฟนเพจคิ้วท์บอย/เกิร์ล, รายการเดอะเฟซ หรือรายการศัลยกรรมเกาหลีที่เพิ่งกล่าวถึง, ละครชุดฮอร์โมนส์ เลิฟซิก และอื่นๆ) เมื่อสื่อทั้งระดับสื่อสารมวลชนและสื่อท้องถิ่น ต่างก็เห็นว่ากลุ่มผู้ชมยินดีที่จะชื่นชมคนหน้าตาดีบุคลิกดีอย่างกลุ่มคิ้วท์บอย/คิ้วท์เกิร์ล สื่อก็คัดเลือกแต่คนในกลุ่มดังกล่าวมารับบทบาทต่างๆ บนสื่อ ลักษณะการโฆษณาตัวเองของนักแสดงเยาวชนผ่านสื่อต่างๆ และการโฆษณางานกิจกรรมของโรงเรียนทั้งหลายในฐานะสื่อท้องถิ่นก็เริ่มขายความน่ารักสวยหล่อกันตรงๆ แทนที่จะเป็นเนื้อหาของตัวกิจกรรมนั้นๆ เอง[3]

ภาวะเช่นนี้ทำให้เยาวชนผู้เสพสื่อก็อยู่ในปกติวิสัยแบบที่ถูกล้อมโดยคนหน้าตาดีบุคลิกดีจากทุกมุมมากกว่าปกติ ทำให้เยาวชนเองต้องหันมาตระหนักตนในเรื่องภาพลักษณ์ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อจะพยายามเข้าไปอยู่ในความปกตินั้น ความตระหนักดังกล่าวนำไปสู่การเกิดชุดจริยธรรมและความพยายามมหาศาลที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง เพาะกาย ทำศัลยกรรม ใช้ผลิตภัณฑ์ความงาม จนท้ายที่สุดก็ภาคภูมิใจในผลลัพท์ทางกายของตน ในขณะที่ก็มองคนที่ไม่มีความพยายามในทำนองเดียวกันว่ามีความเป็นมนุษย์น้อยลง เป็นคนไม่สมบูรณ์ และสมควรแล้วที่จะไม่ได้รับโอกาสต่างๆ ในชีวิต นี่คือเหตุผลที่ผมเรียกภาพลักษณ์นิยมในเยาวชนที่เกิดขึ้นตอนนี้มันว่าเป็นชุดจริยธรรมชนิดหนึ่ง นักปฏิบัติจริงจังและยอมเสียไปหลายอย่างแลกกับการปั้นแต่งตัวเองให้ดูดี และถือว่าเป็นสิทธิขาดของเขาที่จะอยู่เหนือผู้ไม่ปฏิบัติ มันแทบจะมีบัญญัติและนรกสวรรค์ของมันอย่างแน่นอนด้วยซ้ำ

 

แค่ด่ากันขำๆ หรือไม่

หากพิจารณาโวหารที่นิยมใช้เหยียดกันทีเล่นทีจริงเช่น “ถ้าหน้าดีจะไม่ว่าเลย” หรือ “ทำอะไรดูหน้าด้วย” Slavoj Zizek อาจบอกไว้คล้ายกันในเรื่องการเล่นมุกเหยียดผิวเหยียดชนชาติ (Racism) ว่าให้เล่นๆ กันไปเถอะเพื่อมิตรภาพ มันเป็นการปลดปล่อยสันดานดิบให้ออกมาทำงานให้สำเร็จไปโดยไม่ทำร้ายใคร ให้เล่นให้ขำขันไปเสียก่อนที่มันจะแอบมาทำร้ายกันอย่างจริงจังในภายหลัง แต่ในอีกแง่หนึ่ง Zizek ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ขันอย่างมีประสิทธิภาพ คือขำกันทั้งสองฝ่าย ไม่เดือดร้อนกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่ผู้ถูกเหยียดก็เข้าใจแล้วว่าชนชาติผิวพรรณของตนไม่ได้ต่ำไปกว่าคนอื่น จึงกลับไปเห็นการเหยียดนั้นเป็นเรื่องตลก เช่น การที่ตุ๊ดหรือเพื่อนที่สนิทกับตุ๊ดมากๆ ล้อเพื่อนตุ๊ดว่า “อีตุ๊ด” ก็ไม่น่าโมโห เพราะทั้งคู่อยู่ในจุดที่รู้แน่แล้วว่าต่างก็ไม่ได้เหยียดกัน ไม่ได้มีใครมองว่าการเป็นตุ๊ดเป็นสิ่งต่ำ (หรือที่ตุ๊ดบางคนอยากจะมองว่าตัวเองต่ำ การล้อนั้นก็จะหมายถึง ต่ำก็ต่ำด้วยกัน) แต่หากเป็นผู้ชายแท้ที่ไม่ได้สนิทกับตุ๊ดคนนั้นพูดกับตุ๊ดว่า “ตุ๊ด มึงแม่งไม่น่าเกิดมาเลย” ในขณะที่ตุ๊ดกำลังพยายามแต่งหน้าเสริมสวย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะเห็นว่าแบบหลังอาจตลกสำหรับคนพูดและผู้ฟังคนอื่น แต่ไม่ตลกสำหรับตัวตุ๊ดเอง และไม่สร้างมิตรภาพอย่างที่ Zizek เสนอ ในกรณีนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมเยาวชนของไทย การกีดกันคนที่ภาพลักษณ์ไม่ดี ไม่ได้ทำไปด้วยความตลกแบบแรก

 

ปัญหาคืออะไร และจะเอาอย่างไร

ฝ่ายก้าวหน้ามักมองว่าการเปิดกว้างทางเพศเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในแง่หนึ่ง ตามผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และบทเรียนทั่วโลกก็ชี้ให้เห็นเช่นนั้น ประเทศใดมีการเปิดกว้างในเรื่องเพศ เพศศึกษา เปิดสื่อที่มีเนื้อหาทางเพศได้อย่างเสรี จะทำให้สังคมมีอัตราความรู้เท่าทันเรื่องเพศมากกว่า มีปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้องเมื่อยังไม่พร้อมน้อยกว่า เพราะเยาวชนเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ และเท่าทันต่อการป้องกันภัยต่างๆ [4]

แต่การเปิดกว้างและยอมรับความจริงเรื่องเพศเป็นคนละประเด็นกับการเหยียดความไม่งาม หรือภาพลักษณ์นิยม การทำให้เยาวชนเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ ความอยากมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นจะต้องพ่วงด้วยการทำให้คุณค่าของภาพลักษณ์นิยมซึ่งมองว่าต้องทำตัวให้บุคลิกดี หุ่นดี หน้าตาดี เป็นคุณค่าสูงสุดจนเป็นปกติเข้ามาด้วย

ในแง่หนึ่ง เราเข้าใจตรงกันแล้วว่าความอยากในการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ไม่อาจอนุญาตให้การข่มขืนเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ เพราะมันละเมิดทำร้ายคนอื่น เพราะฉะนั้นการตัดสินคนด้วยภาพลักษณ์ของเขาก็อาจจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่จริยธรรมทางสังคมก็ไม่อาจอนุญาตให้มันกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างปกติได้ เพราะมันละเมิดทำร้ายคนอื่นเช่นกัน หากพิจารณาก็จะเห็นว่า โดยเนื้อแท้แล้วการเหยียดคนที่ภาพลักษณ์หน้าตา แทบไม่ต่างจากปัญหาการเหยียดผิวเหยียดชนชาติ (racism) หรือเหยียดเพศ (sexism) ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นปัญหาอย่างไร และคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าผู้ที่ไม่แสดงอาการเหยียดนั้นไม่มีความรู้สึกแปลกแยกจากกันกับชนชาติอื่นหรือเพศอื่น แต่เราไม่สามารถเลือกปฏิบัติในทางที่ละเมิดทำร้ายหรือตัดโอกาสเขาได้เพียงเพราะความรู้สึกแปลกแยกนั้น จริยธรรมทางสังคม หรือสัญญาประชาคม ฯลฯ ของโลกสมัยใหม่จะเป็นเช่นนั้น คือมุ่งไปเพียงที่การตกลงเลือกปฏิบัติต่อกัน ไม่ฝืนเข้าไปลึกถึงในจิตใจอย่างคำสอนของศาสนา

ดังนั้น ผมไม่ได้เรียกร้องว่าเราควร “ฝืนชอบ” คนทุกคนเท่าเทียมกันทั้งที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบไม่ชอบโดยไม่มีเหตุผล หรือบังคับให้ “เลิกรู้สึกชอบคนหน้าตาดี” โดยละทิ้งรสนิยมทางเพศของตน ต้องตัดกิเลสหรือต้องไปก้าวข้ามการมองเนื้อหนังอะไรแบบพุทธ ในทางตรงกันข้าม (ซึ่งตามมารยาทของการเขียน คนเขียนก็คงไม่ควรบอกตรงๆ ว่าอยากให้ผู้อ่านคิดอย่างไร แต่ผมจะบอก) ผมไม่ต้องการให้ผู้อ่านกลับไปเห็นการปิดกั้นเสรีภาพทางเพศหรือการเปิดกว้างเรื่องเพศแบบจารีตนิยมซึ่งก่อปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้วเป็นทางออก เช่นการไล่ไปเข้าวัดถือศีล เที่ยวด่าคนที่มีแฟนสวยหล่อว่าไม่จริงใจ มองคนที่ภายนอก ไปปลงอสุภะ ไปปิดเว็บโป๊ ห้ามพูดเรื่องเพศ มองเยาวชนว่าควรเป็น non-sexual being หรือสิ่งมีชีวิตที่แยกขาดจากเรื่องเพศแบบที่ผู้ใหญ่ไทยมองไปเสียเลย ฯลฯ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกันกับจริยธรรมการให้เกียรติกันในเรื่องภาพลักษณ์ อย่างที่ได้กล่าว

 

หมายเหตุผู้เขียน ถึงนักวิชาการนิเทศศาสตร์ ส่วนที่ผมกล่าวถึงสื่อต่างๆ ข้างต้น ไม่ได้หมายถึง Magic Bullet Theory 

อ้างอิง

[1] ดู “จากเนติวิทย์สู่ฮอร์โมนส์ การเดินทางของวัฒนธรรมเด็กเปรตในโรงเรียน” http://prachatai.com/journal/2016/01/63623

[2ใช้ search engine ค้นว่า #โปรดเย็ดฉันเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน

[3] งานคริสตมาสแฟร์ของโรงเรียนอัสสัมชัญในปี 2014 โฆษณาโดยการรวบรวมนักเรียนประเภทที่ได้ลงหน้าประเภท cute boy มาถ่ายภาพและเรียกคนเข้างานได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ตัวอย่างข้อความที่ใช้โฆษณาเช่น “ถ้าภายในวันนี้ (00.00น.) เพจนี้เกิน 10,000 like เราจะได้เห็นภาพหลุดของ @boss_charu กัน” ดู https://www.facebook.com/acxmas2014/photos/pb.68328534178728 6.-2207520000.1450912409./686825398099947/?type=3&theater ถัดมางานเดียวกันในปี 2015 และกิจกรรมใด ๆ หลังจากนั้น ก็เริ่มใช้นโยบายเดียวกันเกือบทั้งหมด

[4] โธมัส กวาดามูซ. (2015). Cybersex: เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรหมแดน, 42.29-56.33 [บรรยาย]. สืบค้นเมื่อ 2015, จาก https://www.youtube.com/watch?v=YMev1jhHIwg

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท