Skip to main content
sharethis

ดิอิโคโนมิสต์ชวนสำรวจประเด็นเหมืองแร่และผลกระทบต่อประชาชนในลาตินอเมริกา ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยของคนท้องถิ่น ซึ่งมีบางตัวอย่างที่การเรียกร้องของนักกิจกรรมกับระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ สามารถเอื้อให้เกิดทางออกร่วมกันแบบที่ให้ผลประโยชน์กับทั้งฝ่ายเหมืองและฝ่ายท้องถิ่นได้

9 ก.พ. 2559 บทความจากนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับอเมริกา ระบุถึงปรากฏการณ์ที่คนท้องถิ่นระดับรากหญ้าในประเทศแถบลาตินอเมริกาลุกขึ้นมาต่อสู้กับการเข้าไปทำเหมืองแร่ของบรรษัทยักษ์ใหญ่ โดยที่มีประเด็นความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคลาตินอเมริกาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

โดยในบทความของดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าหลังจากที่ประเทศแถบเทือกเขาแอนดีสอย่างโคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย อาร์เจนตินา และชิลี มีการเปิดประเทศเมื่อราว 20 ปีที่แล้วก็ส่งผลให้การทำเหมืองแร่ในพื้นที่เหล่านี้เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งแม้จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมแต่ก็การทำเหมืองแร่ก็ยังเป็นที่ต้อนรับโดยที่มีกรณีข้อพิพาทด้านแรงงานบ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามโครงการในยุคหลังๆ เริ่มเผชิญกับการต่อต้านมากขึ้นซึ่งดิอิโคโนมิสต์มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเขตภูมิภาคนี้มีรากฐานทางด้านประชาธิปไตย ประชาชนมีสำนึกรับรู้ในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงสิทธิของพวกเขาเองจากโครงการเหมืองแร่เหล่านี้

ถึงแม้ว่าในภูมิภาคลาตินอเมริกาจะมีความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ อย่างโครงการขุดเจาะน้ำมันในเอกวาดอร์และเปรู โครงการเขื่อนพลังงานน้ำในบราซิล หรือโครงการตัดถนนผ่านอุทยานธรรมชาติในโบลิเวีย แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการต่อต้านมากที่สุดคือการทำเหมืองแร่

ข้อมูลของเอ็นจีโอแคนาดาระบุว่ากลุ่มต่อต้านการทำเหมืองแร่มักจะบอกว่าเหมืองแร่ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ แต่จะสร้างผลกระทบด้านลบอย่างการทำลายสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และถึงแม้ดิอิโคโนมิสต์จะระบุว่าการทำเหมืองแร่ในยุคสมัยใหม่ต้องใช้ปัจจัยทุนมากกว่าปัจจัยแรงงานจึงสร้างงานเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก แต่ในอีกแง่หนึ่งการทำเหมืองแร่ก็สร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดิอิโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตอีกว่าประเทศที่ยกเลิกโครงการเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง

อย่างไรก็ตาม ดิอิโคโนมิสต์ก็สนับสนุนให้กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาพยายามหาทางออกร่วมกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งต่อบริษัทเหมืองแร่ และต่อคนในท้องถิ่นและต่อประเทศ แต่การหาทางออกดังกล่าวก็ไม่ง่ายนัก โดยในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกากำหนดให้แร่ต่างๆ ในพื้นที่เป็นของรัฐ ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้แร่ต่างๆ ในพื้นที่เป็นของเจ้าของที่ดินนั้นๆ เอง ทำให้เวลามีการทำเหมืองแร่กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจะออกสัมปทานให้กับบริษัทที่ได้รับความยินยอมจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย แต่ทว่าเมื่อทำเหมืองแร่แล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์คือประเทศ ในขณะที่ประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้แบกรับผลกระทบ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันทางอำนาจระหว่างบริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่กับประชากรในท้องถิ่นที่ไม่มีทักษะมากพอจะทำงานเหมืองแร่เหล่านี้

บทความดิอิโคโนมิสต์ยังชี้ให้เห็นว่ามีข้อพิพาทเรื่องการจัดซื้อที่ดิน การจ่ายค่าชดเชยและการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากรท้องถิ่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำ เช่นกรณีเหมืองแร่เหล็กในเม็กซิโกที่มีการทำสารคอปเปอร์ซัลเฟตรั่วไหลลงแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่บริษัทต่างๆ ไม่สามารถทำตามสัญญาว่าจะจัดหาบริการพื้นฐานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ อย่างไฟฟ้า โรงเรียน และคลินิกให้กับพื้นที่ชนบท โดยที่กลุ่มเอ็นจีโออาจจะทำให้ความขัดแย้งแย่ลงหรือดีขึ้นได้

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าถึงกระนั้นตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสมดุลอำนาจก็เริ่มเอียงมาทางประชากรในท้องถิ่นมากขึ้นจากการที่ประเทศลาตินอเมริกา 14 ประเทศจาก 22 ประเทศลงนามในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 169 ว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าและชนพื้นเมืองทำให้บริษัทเหมืองแร่ต้องทำการหารือกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก่อน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทำเหมืองแร่ในโคลอมเบียวิจารณ์ว่ากระบวนการนี้ทำให้กลายเป็นการที่ประชากรในพื้นที่ "รีดไถ" เงินจากบริษัท และในหลายแห่งก็มีปัญหาเรื่องการระบุอัตลักษณ์ว่าพวกเขาจัดเป็นชนพื้นเมืองหรือไม่ ทำให้ถึงแม้ว่าอนุสัญญาฉบับนี้จะใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในหลายพื้นที่แต่ในบางพื้นที่ก็ยังทำไม่สำเร็จ

นอกจากอนุสัญญา ILO แล้วดิอิโคโนมิสต์ยังยกตัวอย่างกรณีที่เปรูและชิลีกำหนดให้โครงการทุกโครงการต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ในกรณีของเปรูมีการให้อำนาจพิจารณาแก่กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ที่มีงานหลักๆ คือการส่งเสริมการลงทุนทำให้การทำ EIA ไม่มีพลังมากพอในสายตาของประชาชนและส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

บทความดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการวางกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมคือการเรียกร้องของนักกิจกรรม กับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายภายในประเทศเองส่งผลให้กลุ่มทุนเหมืองแร่ข้ามชาติมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ในหลายกรณีกลุ่มทุนเหมืองแร่กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถตกลงกันได้ด้วยดีและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจจะมีปัจจัยด้านความไว้เนื้อเชื่อใจและความมีไมตรีต่อกันด้วย เช่น กรณีของเหมืองแร่โกลด์ฟิลด์จากบริษัทของแอฟริกาใต้ที่ทำโครงการในเปรู ที่สามารถทำตามข้อตกลงจ้างงานคนในพื้นที่และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำดื่มและไฟฟ้าให้กับคนในพื้นที่ได้ ซึ่งผู้จัดการของโกลด์ฟิลด์เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จว่าควรจะต้องฟังมากกว่าพูดและทำตามสัญญาเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ

ดูเหมือนว่าราคาที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อชดเชยให้กับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีราคาแพงเลย จานีน เฟอร์เรตตี หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกาประเมินว่าบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวเพียงร้อยละ 1 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าในบางกรณีก็ไม่เป็นเช่นนั้นอย่างกรณีบริษัทอังกฤษเสนอจ่ายเงินฟื้นฟูแม่น้ำในพื้นที่เปรูล่วงหน้าหลังเหมืองปิดแต่โครงการของพวกเขาก็ไม่มีการดำเนินการต่อ มีการมองว่าเรื่องนี้เป็นเพราะบริษัทต่างๆ มองแต่ข้อเด่นของพวกเขาในด้านการประเมินภูมิศาสตร์และโครงการแต่ตกลงหารือกับชาวบ้านไม่สำเร็จเพราะไม่เข้าใจการเมืองระดับรากหญ้า

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจในบทความของดิอิโคโนมิสต์คือเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของชาติกับการชดเชยผลกระทบต่อท้องถิ่น วลาดิเมียร์ กิล นักมานุษยวิทยาของเปรูมองว่าการเรียกร้องให้พิจารณาผลกระทบด้านมลภาวะของคนในท้องถิ่นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้รัฐมองเห็นการมีอยู่ของประชาชนอย่างพวกเขาและเป็นการเรียกร้องที่พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นในประเด็นระดับชาติ

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อการทำเหมืองแร่ในลาตินอเมริกาได้รับความนิยมลดลงอาจจะส่งผลให้ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนสนับสนุนการทำเหมืองแร่มากขึ้นและอาจจะทำให้มีขั้นตอนการปรึกษาหารือกันมากขึ้นได้


เรียบเรียงจาก

Mining in Latin America :From conflict to co-operation,The Economist, 06-02-2016
http://www.economist.com/news/americas/21690100-big-miners-have-better-record-their-critics-claim-it-up-governments-balance

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net