Skip to main content
sharethis

10 ก.พ. 2559 คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รายงานว่า เวลาประมาณ 13.00 น. ในระหว่างที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเป็นประธานในงานสัมมนา เรื่อง การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น ในส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก พร้อมทั้งสรุปความเห็นที่มีผู้เสนอแนะให้ กรธ. จัดโดย กรธ. และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ระหว่างวันที่ 10 - 11 กุมภาพันธ์ นี้ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ผู้แทนเครือข่ายคนพิการทุกประเภทได้เข้ายื่นเอกสาร “ขอสิทธิคนพิการในรัฐธรรมนูญคืนมา” (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ให้แก่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ พร้อมทั้งขอให้พิจารณาปรับปรุงรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะของเครือข่ายคนพิการ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีความเป็นสากล และเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญควรมีลักษณะสำคัญต่อไปนี้

1. ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งคนพิการให้เท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ

2. สอดคล้องกับหลักการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

3. กำหนดให้สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางสังคมและทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อกันและกัน ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงสิทธิ ทรัพยากร และสามารถใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

4. ไม่ห้ามบุคคลเข้ารับราชการโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย หรือจิต ของผู้พิการเพียงอย่างเดียวเพราะเป็นการจำกัดสิทธิ

5. กำหนดให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาสังคมและประเทศชาติไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

6. รับรองบทบัญญัติในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางการศึกษาของประชาชน

7. สร้างหลักประกันการเข้าถึงโดยอาศัยหลักการออกแบบที่เป็นสากลเพื่อเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม สุขภาพ และเศรษฐกิจดิจิตอล

8. กำหนดให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการ และต้องจัดให้พลเมืองทุกกลุ่มทุกคนรวมทั้งคนพิการและผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึง ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะดังกล่าวได้ ข้อมูลและข่าวสารสาธารณะนั้นจำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบ ช่องทาง หรือวิธีการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง

9. กำหนดให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และพึงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในคดีอาญา ตามหลักการและบทบัญญัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นภาคี

10. เปลี่ยนฐานความคิดของทุกคนจากมิติ “การสงเคราะห์” ที่เห็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ ฯลฯ เป็นเพียงผู้รับที่ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ เป็นมิติ “การเสริมพลัง” (Empowerment) “จัดสวัสดิการ” (Welfare) และให้ “การคุ้มครองทางสังคม” (Social Protection) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณค่าในสังคม

11. กำหนดให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือจัดสวัสดิการ เสริมพลัง และให้การคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว

12. กำหนดให้การจัดทำบัญชีรายชื่อ ต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และการมีส่วนร่วมของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อเป็นการยกระดับของประชาชนซึ่งมีความหลากหลายในกระบวนการทางการเมือง

13. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตราพระราชบัญญัติที่มีผลกระทบต่อกลุ่มประชากรเปราะบางซึ่งมักได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และนโยบายของรัฐอย่างไม่เป็นธรรม

 


คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ 
ที่มา: https://www.facebook.com/disabilitiesth

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net