Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 1 ปีการตาย 'ใช่ บุญทองเล็ก' ผู้ปกป้องสิทธิที่ดิน 5 องค์กรสิทธิสากล จี้รัฐบาลไทย(อีกครั้ง) ยุติการลอยนวลพ้นผิด ให้หลักประกันความยุติธรรมต่อชุมชนที่ถูกคุกคาม

11 ก.พ. 2559 ในวาระครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายใช่ บุญทองเล็ก นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดิน องค์กรฟอรั่มเอเชีย (the Asian Forum for Human Rights and Development หรือ FORUM-ASIA) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ (International Federation for Human Rights หรือ FIDH) เวิลด์ ออร์แกไนเซชัน อเก้นส์ ทอร์เจอร์ (World Organization against Torture หรือ OMCT) ซึ่งทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือของดิอ็อพเซอร์เวทอรีย์ ฟอร์ เดอะ โพรเท็คชัน ออฟ ฮิวแมนไรท์ดีเฟนเดอร์ (the Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International) เรียกร้องถึงรัฐบาลไทยอีกครั้งเพื่อให้ความยุติธรรมในคดีที่เกิดขึ้นกับนายใช่ บุญทองเล็กและสมาชิกคนอื่น ๆ ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำงานเพื่อสิทธิที่ดิน และเรียกร้องทางการไทยให้คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เสี่ยงในการถูกข่มขู่ บังคับไล่รื้อ ถูกสังหาร และถูกทำร้ายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ผ่านไปหนึ่งปีสำหรับการสังหารนายใช่ บุญทองเล็ก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นหนึ่งปีที่สมาชิกชุมชน สกต. ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว คนร้ายยังคงลอยนวลพ้นผิด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สมาชิกของชุมชนได้เข้าไปอาศัยในที่ดินของคลองไทรพัฒนา แต่กลับมีผู้ถูกสังหาร ขู่ฆ่า คุกคามด้วยการใช้มาตรการทางศาล ข่มขู่ ทำลายทรัพย์สินและพืชผล และถูกขู่ให้ออกจากพื้นที่ ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2557 ให้บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ซึ่งทำสวนปาล์มในพื้นที่ต้องออกจากพื้นที่ในอำเภอชัยบุรี แต่ถึงทุกวันนี้ทางบริษัทยังคงอยู่ในพื้นที่เดิ​ม

นายใช่ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปีถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 โดยคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างที่เขาอยู่ที่บ้านของญาติบริเวณนอกชุมชนคลองไทรพัฒนา นายใช่นับเป็นสมาชิกคนที่สี่ของ สกต. ในชุมชนคลองไทรพัฒนาที่ถูกสังหาร นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคม 2553 มีผู้พบศพนายสมพร พัฒภูมิ อดีตช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณด้านนอกของหมู่บ้าน และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงอีกสองคน ได้แก่ นางมณฑา ชูแก้ว อาชีพค้าขาย และนางปราณี บุญรักษ์ คนงานรับจ้าง ต่างถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับจากตลาด จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถจับตัวผู้ที่สังหารบุคคลเหล่านี้มาลงโทษได้

เจ้าพนักงานผู้สอบสวนคดีการสังหารนายใช่ บุญทองเล็กได้ส่งมอบหลักฐานให้พนักงานอัยการ โดยมีผู้ต้องสงสัยสามคนคือมือปืน ผู้จ้างวานฆ่า และคนขับรถจักรยานยนต์ แต่ที่ผ่านมาสามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ได้เพียงคนเดียวมาเข้ารับการพิจารณาคดีในข้อหาฆ่าคนตาย ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยเจตนา และมีอาวุธไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทางการพยายามสร้างหลักประกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรม แต่ทางฟอรั่มเอเชีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ เวิลด์ ออร์แกไนเซชัน อเก้นส์ ทอร์เจอร์ ซึ่งทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือของดิอ็อพเซอร์เวทอรีย์ ฟอร์ เดอะ โพรเท็คชัน ออฟ ฮิวแมนไรท์ดีเฟนเดอร์ และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงมีความกังวลกรณีที่มีจำเลยเพียงคนเดียวเข้ารับการไต่สวน ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้ และเรียกร้องให้ทางการสอบสวนต่อไปเพื่อประกันว่าผู้ต้องสงสัยทุกคนจะถูกดำเนินคดี และได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรร​ม

“การดำเนินการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อการเสียชีวิตของนายใช่ บุญทองเล็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงต่อตัวเขาเอง ครอบครัวของเขา และสกต.เท่านั้น หากยังเป็นสัญญาณที่แสดงถึงเจตจำนงครั้งใหม่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาลที่จะประกันให้มีการคุ้มครองตามกฎหมายต่อการดำเนินกิจกรรมอย่างสงบของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่กระทำการข่มขู่ คุกคาม และสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าหวาดกลัวสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานในประเด็นสิทธิที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย” นางเอเวอร์ลิน บาลาอิส เซอร์ราโน (Evelyn Balais-Serrano) ผู้อำนวยการบริหารฟอรั่มเอเชีย กล่าว 

การที่สมาชิก สกต. ต้องเผชิญกับการคุกคามเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการขาดกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานในเขตชนบทซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรและการเยียวยา

ทางองค์กรทั้งห้าขอกระตุ้นให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2558 ว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนในที่ประชุมที่ผ่านมา ด้วยการประกาศใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้การประกันว่าจะเกิดการสอบสวนดำเนินคดีสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงประกันให้หน่วยงานของรัฐในทุกสาขา ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ภายใต้การทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่จะสามารถสร้างกลไกการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง และประกันว่าผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขู่หรือคุกคาม จะสามารถเข้าถึงช่องทางการเยียวยาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net