Skip to main content
sharethis
เผยผลประชุมการบริหารจัดการรวมสถานศึกษา ระยะ 1 เดือน ก.พ. เร่งยกร่างประกาศ ศธ. การโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคคล สช.มาอยู่ในกำกับของ สอศ. ระยะ 2 เดือน มี.ค.-เม.ย. เร่งบริหารจัดการไม่ให้กระทบ นศ. ที่จะจบ ระยะ 3 เดือน พ.ค. ปีการศึกษาใหม่เร่งใช้สัดส่วนรับสายอาชีพต่อสายสามัญ 42:58 ระยะ 4 ช่วงจัดทำงบฯ ปี 2560 จะวางแผนระยะยาวร่วมกันอีกที โดยการควบรวมครั้งนี้เป็นเพียงการโอนบุคลากร ภารกิจที่อยู่ในกำกับของ สช.มาอยู่ในกำกับของ สอศ.ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนแต่อย่างใด
 
14 ก.พ. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าตามที่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 42ง ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่8/2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา44ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2547สั่งการให้โอนอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษาไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 13ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เป็นประธานประชุมการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) ผู้แทนและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วม
 
โดย ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวภายหลังประชุมว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2559 กำหนดให้มีผลบังคับนับตั้งแต่วันถัดไปที่มีการประกาศ ซึ่งก็คือวันที่ 13 ก.พ. ดังนั้นจึงได้เชิญทุกที่ประชุมฝ่ายมาประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในแต่ละประเด็นของคำสั่ง และเตรียมแผนการทำงาน เบื้องต้น กำหนดแนวทางดำเนินการเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก คือ ช่วง 2 สัปดาห์ของเดือน ก.พ.นี้จะมุ่งให้การเปลี่ยนผ่านเดินไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด โดยเฉพาะการถ่ายโอนภารกิจ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ซึ่ง สอศ.จะเร่งยกร่าง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณบุคคล ฯลฯ เสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามในวันที่15ก.พ.นี้ และวันเดียวกัน ตนจะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมอบหมายให้การปฏิบัติภารกิจในการดูแลสถานศึกษาเอกชนเป็นไปตามเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานราบรื่นไม่สะดุด
 
ระยะที่สอง เดือน มี.ค.-เม.ย.ถือเป็นช่วงสำคัญที่นักเรียน นักศึกษาจะจบการศึกษาจึงต้องระวังไม่กระทำการอะไรที่ส่งผลกระทบต่อเด็กไม่ได้ ดังนั้น จะเป็นช่วงที่ต้องเร่งบริหารจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยมากที่สุด เพื่อให้เด็กได้เรียนจบตามแผนที่วางไว้ ระยะที่สาม เดือน พ.ค.เป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ จะร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2559 ซึ่ง สอศ.กำหนดสัดส่วนรับนักเรียนสายอาชีพต่อสายสามัญอยู่ที่ 42:58 โดย 42%ของอาชีวะทั้งอาชีวะรัฐและเอกชนในจังหวัดนั้นจะต้องวางแนวทางส่งต่อเด็กร่วมกันอย่างไรก็ตาม สอศ.ไม่ใช่จะแย่งเด็กจาก สพฐ.แต่เราพบว่ามีนักเรียน 7% ที่จบ ม.3 แล้วไม่เรียนต่อแต่เข้าสู่ตลาดแรงงาน สอศ.จะไปจูงใจให้เด็กกลุ่มนี้มาเรียนสายอาชีพมากขึ้นและระยะสุดท้าย ช่วงที่จะต้องจัดทำงบประมาณปี 2560 ก็จะมีการวางแผนการพัฒนาระยะยาวร่วมกันต่อไป
 
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในช่วงแรก สอศ.จะรับโอนข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของกลุ่มงานโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน สช.มาอยู่ในสังกัด สอศ.ทั้งสิ้น 27 คน ซึ่งจะมอบหมายให้รองเลขาธิการ กอศ.ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยยังคงให้ปฏิบัติงานตามภารกิจที่ทำอยู่เช่นเดิมและจะค่อยๆเพิ่มปริมาณงานให้มากเพียงพอ เมื่อภาระงานมากขึ้นก็จะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับสำนักภายใน สอศ.และต่อไปอาจจะมีการยกร่าง พ.ร.บ.อาชีวศึกษาเอกชนด้วยแต่ระหว่างนี้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนยังคงดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ไปก่อน
 
“คำสั่ง คสช.ดังกล่าวถือเป็นประโยชน์อย่างมากที่อาชีวะรัฐและเอกชนจะมาร่วมกันผลิตกำลังคนได้ตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งต่อไปทั้งอาชีวะรัฐและเอกชนจะสามารถรวมพลัง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยืนยันว่าการควบรวมดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน แน่นอน เพราะเรายึดหลักการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ให้อิสระในการจัดการศึกษา แต่เป้าหมายสำคัญคือร่วมขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้มี สอศ.มีวิทยาลัยอาชีวะอยู่ในกำกับดูแลทั้งสิ้น 886 แห่ง และมีนักเรียนสิ้น 976,615 คน แบ่งเป็น วิทยาลัยอาชีวะรัฐ จำนวน 425 แห่ง นักศึกษา 674,113 คน และวิทยาลัยอาชีวะเอกชนจำนวน 461 แห่ง นักศึกษา 302,502 คน” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว และว่าทั้งนี้การรวมอาชีวศึกษารัฐและเอกชนครั้งนี้เป็นเพียงการโอนบุคลากร ภารกิจที่อยู่ในกำกับของ สช.มาอยู่ในกำกับของ สอศ.ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน
 
ด้าน รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกยินดีอย่างมากและรอการประกาศชัดเจนมาตลอด เพราะในการประชุม สวทอ.ในเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมาที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ที่ต้องการให้เกิดการรวมอาชีวศึกษาเอกชนและอาชีวศึกษาของรัฐเข้าด้วยกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของการจัดการศึกษา ทั้งในเรื่องการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน มาตรฐานวิชาการ ซึ่งจะทำให้การผลิตกำลังคนของอาชีวศึกษาไทยสอดคล้องกับและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การบริการ ท้องถิ่น กลุ่มคลัสเตอร์ รวมถึงการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย
 
“คำสั่งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเทศชาติและอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาทางอาชีวะเอกชนก็มีเตรียมพร้อมวางโครงสร้างอาชีวะเอกชนระดับจังหวัด มีการสร้างความเข้าใจเพื่อเตรียมการรองรับไว้อยู่แล้ว เชื่อว่าจากนี้มาตรฐานหลักสูตรต่าง ๆ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ทำให้อาชีวะรัฐและเอกชนรวมตัวกันได้เป็นอาชีวศึกษาของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ เรายังสามารถบริหารงานจัดการได้อย่างอิสระมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบ หากมีเรื่องที่ต้องการตัดสินใจที่รวดเร็ว เพื่อบริการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพผู้บริหารอาชีวะเอกชนก็ยังคงทำได้ปกติ และเชื่อว่าข้อจำกัดปัญหาเรื่องการประสานงานต่าง ๆ จะหมดไป” รศ.ดร.จอมพงศ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net