Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



จากกรณีที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้การดำเนินคดีทนายเบญจรัตน์ มีเทียนและทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ โดยเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปเพื่อขัดขวางและคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม (the right to access to justice) และการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (the right to a fair trial) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม  โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี และให้สภาทนายความร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำใดๆอันเป็นการแทรกแซง ขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการปกป้องลูกความตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจต่อทนายความทั้งสองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ในฐานะผู้ร่วมวิชาชีพ ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการทำหน้าที่ทางวิชาชีพ  ซึ่งเป็นบทบาทในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย

อยากแสดงความเห็นในฐานะที่มีประสบการณ์ ในการให้ความช่วยเหลือคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง และมีการต่อสู้ทั้งทางอาวุธและทางการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย แม้สังคมส่วนใหญ่จะเห็นว่าทางออกของปัญหาความขัดแย้ง ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพื่อให้ยุติความรุนแรงจากการใช้อาวุธ แต่กฎหมายก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมือง ท่ามกลางการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ

นั่นก็เพราะว่าผู้มีอำนาจมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ในขณะที่แนวคิดสิทธิมนุษยชนมองว่า แท้จริงแล้วคุณค่าของกฎหมายอยู่ที่การสร้างความยุติธรรมทางสังคม  จุดยืนหรืออุดมคติที่สวนทางเช่นนี้จึงมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย

ธรรมชาติของความขัดแย้ง เกิดจากความเห็นที่ไม่ตรงกันของคู่ขัดแย้ง นำไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็แปรเปลี่ยนจาการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการต่อสู้ทางการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อหาความชอบธรรมในจุดยืนของตนเองจากสังคม แต่เนื่องจากพระเจ้าสร้างมนุษย์มาพร้อมกับอิสรภาพ และมีเสรีภาพทางความคิด  ทำให้อำนาจของกฎหมายไม่อาจไปจำกัดหรือควบคุมความคิดได้ ดังนั้น การบังคับความคิดมนุษย์ด้วยกฎหมายจึงผิดธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

แม้สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่ขัดแย้งจะถูกกดดันจากสังคมให้หาทางออกด้วยการเจรจาพูดคุย แต่การเจรจาจะมีประสิทธิภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของความมีศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมกัน หาใช่เท่าเทียมกันในสถานะไม่ เพราะฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในสถานะของความเป็นรัฐ ในขณะที่อีกฝ่ายมีสถานะที่ต่ำกว่า

โดยนัยนี้ความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้น เพราะฝ่ายที่มีอำนาจย่อมมีกำลังเหนือกว่า มีศักยภาพในการสื่อสารกับสังคมโดยให้ข้อมูลที่ลดศักดิ์ศรีอีกฝ่ายได้ดีกว่า  มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตจำนงหรือความประสงค์ของตน

และมีอำนาจแม้กระทั่งที่จะปิดบังความขัดแย้งโดยแปรเปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้ง ให้สังคมส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่มีความขัดแย้ง จนสุดท้ายการเจรจาเป็นได้แต่เพียงการต่อรองหรือกดดันให้จำยอมเท่านั้น

บทบาทของนักกฎหมายในแนวคิดสิทธิมนุษยชน จึงมีอิสระทางวิชาชีพที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะมีอิสระทางความคิด ไม่อยากเห็นกฎหมายเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอำนาจ ไม่อยากเห็นกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่ให้พ้นผิด ไม่อยากเห็นกฎหมายที่ออกมาด้วยเจตจำนงทางการเมืองเพียงฝ่ายโดยไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของสังคม เพราะอยากเห็นกฎหมายเป็นของทุกคน และได้รับหลักประกันในความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร นั่นคือความมั่นคงที่ยั่งยืน

โดยเฉพาะทนายความในที่ทำงานในบทบาทนี้ ได้มีโอกาสสัมผัสกับชาวบ้านที่ไม่ได้ความเป็นธรรม มองเห็นชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องออกมาปกป้องสิทธิโดยการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ โต้แย้งความเห็นตามตัวบทกฎหมาย เขาย่อมเป็นอันตรายในสงครามการต่อสู้ทางความคิด ที่เป็นพื้นฐานของการต่อสู้ทางการเมือง ทนายความกลุ่มนี้จึงถูกคุกคาม แม้กระทั่งในอดีตถูกอุ้มหายไปก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ขอให้เข้าใจว่าการต่อสู้คดีในแนวทางเป็นการต่อสู้ทางอุดมคติ เป็นการต่อสู้ทางความคิด สิ่งที่เขาต่อสู้อยู่เหนือกว่ากฎหมาย ไม่ได้หวังชนะคดีในศาลเท่านั้น แต่อยากให้ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นล่างที่ถูกกดขี่จากกฎหมาย เข้าใจถึงสิทธิและเข้าถึงในกระบวนการยุติธรรม

คดีความมั่นคงในสามจังหวัด ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือนำเสนอข้อมูลให้กับสาธารณะ กรณีมีการซ้อมทรมานจากการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ เข้าเป็นทนายให้กับญาติในคดีไต่สวนการตายหรือวิสามัญฆาตกรรมจากเจ้าหน้าที่ ทั้งที่รู้ว่าโดยระบบของกฎหมายไม่มีทางเอาเจ้าหน้าที่มาลงโทษได้ จนบางครั้งมีความเห็นหรือทัศนะที่ไม่ตรงกันกับผู้พิพากษาบางท่านที่พิจารณาคดี

ด้วยเหตุดังกล่าวเขาไม่ได้อยู่ฝ่ายใดในคู่ขัดแย้งหลัก หากแต่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ในสังคม ไม่อยากจมปลักแบบเดิมๆ อยากเห็นกฎหมายที่สามารถสร้างความเป็นธรรมได้จริง เป็นเครื่องมือในการขจัดความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาใช่เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ  สุดท้ายความขัดแย้งไม่ได้หมดไป แล้วทุกคนก็ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง  แต่มีอานุภาพรุนแรงที่จะทำให้สังคมทั้งหมดได้รับผลกระทบ

สิ่งที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์และขอให้สภาทนายความแสดงจุดยืน แม้จะมีกลุ่มทนายความหรือองค์กรลงชื่อให้การสนับสนุนเพียงน้อยนิดหากเทียบกับทนายความอีกเป็นจำนวนมาก แต่เป็นแถลงการณ์ที่เรียกร้องเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีทางวิชาชีพ เพราะศักดิ์ศรีของทนายความไม่ได้อยู่ที่มีเงินทองมีรถยนต์หรูหรา มีสำนักงานหรืออาคารใหญ่โต แต่ศักดิ์ศรีของวิชาชีพอยู่ที่บทบาทการใช้กฎหมายในสถานการณ์ความขัดแย้งให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมมากที่สุด

กล่าวโดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนตัวอยากเห็นบทบาทของสภาทนายความในการแก้ไขกฎหมายที่หมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย เช่น กฎหมายพิเศษ ผลักดันให้มีการอนุมัติใช้กฎหมายต่อต้านการทรมาน (torture)  บทบาทในการแก้ไขกฎหมายวิสามัญฆาตกรรม (extrajudicial killings) ที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหาย (Enforced Disappearance) หากสภาทนายความจะนึกถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร อยู่บ้างในฐานะที่เป็นทนายให้ความช่วยเหลือรับใช้งานของสภาทนายความมาโดยตลอด

สภาทนายความจะต้องเป็นองค์กรนำในการเรียกร้องผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมาย อย่าปล่อยให้ญาติหรือภาคประชาชนเขาต้องเดินตามลำพังเลยครับ

 

 

ที่มา: มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net