อุทธรณ์ยกฟ้องคดี 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' สั่งสลายแดงปี53 ทนายยันยื่นฎีกาชี้แม้เป็นนายกฯก็ไม่มีอำนาจสั่งฆ่า

ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง ตามศาลชั้นต้น คดี 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ร่วมกันใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กรณีสั่งสลายแดงปี53 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ศาลชี้เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้ ป.ป.ช. ชี้มูล ด้านทนายญาติยันยื่นฎีกาชี้แม้เป็นนายกฯ แต่ก็ไม่มีอำนาจในการสั่งฆ่าผู้อื่นได้ 

17 ก.พ. 2559 ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จากกรณีจำเลยทั้งสอง ออกคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ที่เริ่มชุมนุมตั้งแต่เดือนเมษายน วันที่ 19 พ.ค. 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 

ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ฟังไม่ได้ว่าเป็นกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นด้วย ยกฟ้อง

นายสุเทพ ระบุว่า คดีนี้ ป.ป.ช. มีมติแล้วว่า ตัวเอง และนายอภิสิทธิ์ ไม่มีความผิด และไม่มีความกังวลยินดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ส่วนเรื่องการเมืองขณะนี้ไม่ยุ่งเกี่ยว ทำงานด้านมูลนิธิ หรือ การเมืองภาคประชาชน และไม่ขอให้ความเห็นด้านการเมือง
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังศาลพิพากษาว่า คดีดังกล่าวถือว่ายังไม่สิ้นสุด และไม่ทราบว่าอัยการจะยื่นฎีกาหรือไม่
 
ขณะที่นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุขอคืนพื้นที่การชุมนุม ระบุว่า จะยื่นฎีกาสู้คดีและจะหาหลักฐานเพิ่มเติม เห็นว่าถึงแม้จำเลยจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ไม่มีอำนาจในการสั่งฆ่าผู้อื่นได้ ส่วนญาติ ผู้เสียชีวิต ก็รู้สึกเสียใจ แต่ก็จะต่อสู้จนถึงที่สุด

 

สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม (อ่านรายละเอียด)

จากนั้นเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้น อย่างไรก็ตามเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท