Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผมติดตามและอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20/2 (เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ ฉบับที่ 20/1 คือฉบับของคุณบวรศักดิ์ที่ถูกคว่ำ)อย่างละเอียดและหลายรอบนับครั้งไม่ถ้วน(เพื่อยืนยันว่าจะไม่ต้องกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาวิจารณ์) พร้อมทั้งติดตามความเห็นของฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เพราะนอกเหนือจากความสนใจส่วนตัวแล้วยังต้องนำไปใช้ในการเรียนการสอนด้วย พบว่าประเด็นหลักๆถกเถียงกันนั้นอยู่ในประเด็นใหญ่ๆ คือ นายกคนนอก/สิทธิชุมชนที่หายไป/วุฒิสภามาจากการเลือกกันเอง/อำนาจที่เพิ่มขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ/การเลือกตั้งแบบบัตรเดียว ฯลฯ ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนก็พูดอยู่ประเด็นหลัก คือ การปราบการทุจริตของนักการเมือง ผมจึงจะนำเสนอประเด็นที่ผมคิดว่าอาจถูกมองข้ามหรืออาจจะไม่ถูกมองข้ามแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง(หรืออาจจะมีใครพูดถึงแต่ผมไม่ได้ยิน) โดยจะข้ามประเด็นหลักๆที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ดังนี้

1) ประเด็นตามมาตรา 75 กรณีการที่ไม่มีประธานรัฐสภา ซึ่งดูเผินๆแล้วหากไม่สังเกตให้ดีก็จะนึกว่าไม่มีอะไร เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานฯเหมือนที่ผ่านๆมาอยู่แล้วนี่ แต่ทุกคนลืมประเด็นที่งอกขึ้นมาใหม่คือกรณีที่ในระหว่างประธานวุฒิสภาต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแต่ไม่มีประธานวุฒิสภาให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ถ้าไม่มีรองประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ซึ่งประเด็นของผมก็คือแล้วรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหายไปไหนทำไมไม่ให้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาสภาล่ะ เหตุใดจึงต้องให้รองประประธานวุฒิและสภาชิกวุฒิสภามาทำหน้าที่แทน

2) ประเด็นตามมาตรา 86(4) ที่ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบจัดสรรปันส่วน ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า จากการที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 350 เขต แล้วนำคะแนนไปคำนวณจากสมาชิกทั้งหมด 500 คนว่าแต่ละพรรคจะมีส.ส.ทั้งหมดได้จำนวนเท่าใด ซึ่งก็หมายความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกิน 250 คน จากทั้งหมดจำนวนเต็ม 500 คน(350 + 150) นั้นหมายความว่าพรรคนั้นจะต้องได้เกิน 250 โดยสามารถส่งผู้สมัครได้เพียง 350 คนเท่านั้น คิดเป็น 71.43 เปอร์เซ็นต์(250 จาก 350) แทนที่จะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์เหมือนทั่วไปที่โดยปกติก็ยากอยู่แล้ว

3) ประเด็นตามมาตรา 87 กรณีโหวตโนมากกว่าคะแนนผู้สมัครแต่ละคนให้เลือกตั้งใหม่โดยห้ามคนเก่าลงสมัคร ปัญหาก็คือว่าหากคะแนนโหวตโนชนะอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าล่ะจะทำอย่างไร

4) ประเด็นลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 103 ซึ่งกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาสมัครไม่ได้หรือถ้าสมัครได้แล้วหากมีบุพการี คู่สมรส หรือบุตรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกันหรือผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ซึ่งหากจะอธิบายง่ายๆก็คือหากใครเป็นวุฒิสมาชิกอยู่แล้วเกิดมีบุพการี คู่สมรสหรือบุตรได้รับเลือกหรือแต่งตั้งให้เป็นตำแหน่งทั้งหลายที่ว่า เช่น ไปเป็น อบต. เป็นต้น  ส.ว.คนนั้นหลุดจากตำแหน่งทันที ประเด็นของผมก็คือแทนที่จะเป็นลักษณะต้องห้ามของบุพการี คู่สมรสหรือบุตรที่จะสมัครตำแหน่งต่างๆเหล่านั้นแต่กลับมาห้ามตัวสมาชิกวุฒิสภาเอง

5) ประเด็นการพิจารณาร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 127(1)ที่บัญญัติให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง และในกรณีที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่ตั้งกรรมาธิการร่วมกัน ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามร่างที่มีการเสนอครั้งแรกหรือได้รับจากวุฒิสภาแล้วแต่กรณี ประเด็นของผมก็คือแทนที่จะถือว่าร่างพรบ.นั้นตกไปเหมือการออกกฎหมายในนานาอารยประเทศทั้งหลายที่ใช้ระบบสองสภาแต่กลับเป็นให้ถือว่าเห็นชอบตามร่างแรกหรือตามที่ได้รับจากวุฒิสภา

6) ประเด็นการแยกหมวดศาลรัฐธรรมนูญแยกออกไปเป็นหมวด 11 ต่างหากจากหมวด 10 ที่เป็นหมวดที่ว่าด้วยศาลทั้งหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ร่างเจตนาที่ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลตามหมวดที่ว่าด้วยศาลนั่นเอง แต่จะเป็นอะไรนั้นผู้อ่านก็ลองวิเคราะห์กันเอาเองนะครับเพราะในในการสรรหาตามมาตรา 198 วรรคหกคณะกรรมการสรรหาสามารถสรรหานอกเหนือจากบุคคลที่สมัครเข้ามาก็ได้ พูดง่ายๆก็คือไม่ต้องสมัครก็เป็นได้นั่นเอง

7) ประเด็นที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 249 วรรคสองที่กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ซึ่งดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีอะไรโดยทั่วไปก็คงนึกว่าอาจเป็นแบบสมัยก่อนที่ประชาชนเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแล้วสภาท้องถิ่นก็เลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้นเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แต่เมื่ออ่านให้ดีๆแล้วจะทำให้รู้ว่าผู้บริหารท้องถิ่นตามร่างรัฐธรรมนูญนี้มาจากคนนอก(อีกแล้ว)ก็ได้หากสภาท้องถิ่นเห็นชอบ

8) ประเด็นสิทธิชุมชน ซึ่งฝ่ายคัดค้านก็บอกว่าไม่เห็นมี ส่วนฝ่ายร่างก็บอกว่ามีแล้วใน ม.42,43,50,54,และ 60 ซึงพิเศษกว่าเดิมเสียอีกเพราะกำหนดให้เป็นหน้าที่รัฐ แต่ประเด็นที่ไม่ได้มีการหยิบขึ้นมาขยายความกันก็คือ ในกรณีของสิทธิต่างๆนั้นรัฐคือคู่ขัดแย้งกับประชาชนและรัฐเป็นผู้แย่งสิทธิประชาชนไปทั้งสิ้น ไม่มีทางที่รัฐจะให้คืนมา ส่วนกรณีที่ว่าถ้าอย่างนั้นก็ไปฟ้องร้องเอาสิซึ่งก็ไม่รู้ว่าชาติไหนถึงชนะคดี สู้อยู่แบบเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 50และ 40 ดีกว่าเพราะอย่างน้อยประชาชนก็อยู่อย่างมีศักดิมีศรีโดยมีสิทธิติดตัว อนึ่ง ในมาตรา 25 ยังบัญญัติไว้ว่า “...การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้...”ซึ่งก็หมายความว่า “กฎหมายอื่น”เช่น พรบ.การชุมนุมสาธารณะฯที่ออกมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้(หากผ่าน)หรือกฎหมายอื่นที่จะออกมาภายหลังใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญนี้นั่นเอง

จริงๆแล้วมีประเด็นที่ถูกมองข้ามอีกมากมาย แต่ผมคัดมาเพียง 8 ประเด็นเท่านั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์เป็นอย่างไร ถึงจะกลับไปแก้อีกรอบก่อนลงประชามติก็คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์นี้ ใครชอบก็เตรียมตัวไปลงประชามติรับ ใครที่ไม่ชอบก็เตรียมตัวไปลงประชามติไม่รับ ถ้าหากยังคงมีการลงประชามติน่ะครับ

 


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net