Skip to main content
sharethis

18 ก.พ. 2559 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นและเรียกร้องให้ คสช. ให้สิทธิ เสรีภาพแก่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

โดยพีเน็ตเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม คือระบบสมาชิกผสมแบบสัดส่วน (Mixed Member Proportional - MMP), เสนอให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจำนวน 150 คนและสรรหาจากกลุ่มที่ด้อยโอกาสจำนวน 50 คน รวมถึงเสนอให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและขจัดการทุจริต ประพฤติมิชอบในทุกภาคส่วนของสังคม และส่งเสริมให้ประชาชนมีเสียง มีสิทธิ มีส่วน ร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งในทุกระดับ

นอกจากนี้ พีเน็ตยังเรียกร้องให้ คสช. และคณะรัฐมนตรีเปิดพื้นที่ให้พลเมืองมีสิทธิ เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการปิดกั้นหรือขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนด้วย

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์ฉบับที่ 1/2559

เรื่อง ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นและเรียกร้องให้ คสช. ให้สิทธิ เสรีภาพแก่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ภายใต้กรอบกระบวนการร่างรัฐธรรณนูญใหม่ ซึ่งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (องค์กรกลางฯ) ขอชื่นชมความพยายามของ กรธ. ภายใต้เวลาที่จำกัดและเงื่อนไขปัจจัยทางการเมืองที่บีบรัดจากทุกฝ่าย เพื่อความสมบูรณ์และได้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ให้สามารถผ่านการลงประชามติและนำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง องค์กรกลางฯ จึงขอเสนอต่อ กรธ. ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอ

1. ที่มาและกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ให้นำระบบเลือกตั้งระบบผสมที่เรียกว่าระบบสมาชิกผสมแบบสัดส่วน (Mixed Member Proportional - MMP) มาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ด้วยหลายเหตุผลคือ

(1) เนื่องจากระบบสมาชิกผสมแบบสัดส่วน เป็นระบบที่สะท้อนคะแนนนิยมของพรรคการเมืองที่แท้จริงในการเลือกตั้ง สามารถแก้ปัญหาคะแนนที่สูญเปล่าได้เกือบทั้งหมดจำนวนที่นั่งในสภาฯจะมีความเป็นสัดส่วนตามคะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง ขณะเดียวกันการเลือกตั้งในระบบเขตก็ได้ผู้แทนที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เป็นการเชื่อมร้อยนโยบายของพรรคกับผู้แทนที่ต้องมีความพร้อมรับผิด (accountability) เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าสภา

(2) ประชาชนคุ้นเคยและมีความเข้าใจในระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบอยู่แล้ว การนำคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ชนะการเลือกตั้งมานับอีกครั้งตามระบบจัดสรรปันส่วน หรือ Mixed Member Apportion (MMA) ที่ กรธ. เสนอนั้นไม่อาจสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ เนื่องจากการเลือกตั้งแบบเขตเป็นการใช้หลักเสียงข้างมากในการเลือกผู้แทนฯ

(3) ระบบสมาชิกผสมแบบสัดส่วนเป็นระบบที่ถือว่าเป็นสากล ซึ่งมีการนำระบบนี้มาใช้ในการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก และให้ผลลัพธ์ที่ดีในการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง

(4) ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ที่ประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เลือกได้แค่ ส.ส.เขต ไม่ควรนำคะแนนในระบบเขตไปบังคับคำนวณเพื่อกำหนดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย

(5) ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) เคยเป็นระบบที่ใช้ในประเทศเล็กๆ ไม่กี่ประเทศและปัจจุบันเลิกใช้สำหรับการเลือกตั้งขนาดใหญ่แล้ว (ข้อมูลจากการศึกษาของนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)

หากนำระบบผสมแบบสัดส่วนมาใช้สำหรับการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ องค์กรกลางขอให้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 9 หรือ10 เขต แต่ละเขตจะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 12-17 คน โดยการประยุกต์ใช้หลักเกณฑ์การแบ่งกลุ่มจังหวัดจากกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ องค์กรกลาง จะมีการนำเสนอรายละเอียดของการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง


2. ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือการทำงานตามกลุ่มอาชีพต่างๆ นั้น การเลือกกันเองในลักษณะนี้ มีบทเทียบเคียงในการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาแห่งชาติที่นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งและเสื่อมถอยภายในองค์กรตามที่ได้ปรากฏ

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบ “การเลือกกันเองภายในกลุ่ม” กับ “การเลือกข้ามกลุ่ม” นั้น การเลือกกันเองภายในกลุ่มน่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่าการเลือกข้ามกลุ่ม หากให้ความสำคัญในการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มากกว่าการแก้ปัญหาการสมยอมกันในระหว่างผู้สมัคร

ดังนั้น องค์กรกลางจึงขอเสนอให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจำนวน 150 คนและสรรหาจากกลุ่มที่ด้อยโอกาสจำนวน 50 คน โดยระบบเลือกตั้งที่จะใช้อาจใช้เขตเลือกตั้งขนาดกลางดังที่จะนำเสนอสำหรับการนำระบบสมาชิกสัดส่วนแบบผสมมาใช้

3. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

เจตนารมณ์ที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการปราบทุจริต พิชิตคนโกง ซึ่งกลไกหนึ่งที่สำคัญของการปราบปรามการทุจริตนั้นคือต้องให้การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองเพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกคนดี คนกล้า และมีความสามารถ มาทำงานทางการเมือง และยังเข้ามามีบทบาทในการติดตามการทำงานของนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นองค์กรกลางเสนอให้ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและขจัดการทุจริต ประพฤติมิชอบในทุกภาคส่วนของสังคมตามมาตรา 59 (ร่าง รธน.ของกรธ.) และส่งเสริมให้ประชาชนมีเสียง มีสิทธิ มีส่วน ร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งในทุกระดับเพื่อให้การเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านสู่ยุคปฏิรูปเป็นการเลือกตั้งที่เสรี โปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ตามมาตรา 220 ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อเรียกร้อง

ขอเรียกร้องให้ คสช. และคณะรัฐมนตรีเปิดพื้นที่ต้อนรับการปฏิรูป ให้พลเมืองที่สนใจปัญหาบ้านเมืองมีสิทธิ เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการปิดกั้นหรือขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นหลักสากลที่สำคัญในการลงประชามติ ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความชอบธรรมและฉันทามติของผู้มีสิทธิในการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังเข้าสู่กระบวนการทำให้สมบูรณ์นี้

ด้วยความเคารพต่อเสียงอันบริสุทธิ์ของประชาชน

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
18 กุมภาพันธ์ 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net