Skip to main content
sharethis
บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนแต่งกายด้วยเครื่องเเบบสีเขียวประมาณ 10 นาย ขอพบนักกิจกรรมชายแดนใต้โดยไม่มีหมายจับ-หมายค้น หลังจากที่มีการยื่นรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ให้แก่แม่ทัพภาค 4 
 
เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อ 19 ก.พ. 2559 เวลา 17.00 น. บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน แต่งกายด้วยเครื่องเเบบสีเขียว ประมาณ  10 นาย ได้มาขอพบ น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น เจ้าหน้าที่ได้จอดรถสามคันล้อมรอบบ้านของอัญชนาในเขต จ.สงขลา พร้อมทั้งซักประวัติ ถ่ายรูปบ้านและมารดาของอัญชนาไว้ ก่อนกลับไปหลังจากไม่พบอัญชนา
 
ทั้งนี้ในเวลาดังกล่าวมีเพียงมารดาของนอัญชนา ซึ่งมีอายุ 75 ปีอยู่บ้านคนเดียว ทำให้มารดาของอัญชนารู้สึกกังวลที่ต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีใครอยู่ด้วยและบ้านใกล้เคียงก็อยู่ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมทั้งสอบถามถึงประวัติส่วนตัวของอัญชนา หีมมิหน๊ะ ในเรื่องการทำงาน และได้ถ่ายรูปมารดาและบ้านของนางสาวอัญชนาไว้หลายรูป แต่ไม่ได้เข้าไปด้านในบ้าน การพบครั้งนี้ไม่มีหมายหรือเอกสารใดๆมาแสดง ภายหลังจากพูดคุยกันประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว ก่อนกลับเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับมารดาว่าฝากบอกลูกสาวด้วยว่าห้ามเล่นไลน์ (line) และเฟซบุ๊ก (facebook)
 
การที่เจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้าน น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะครั้งนี้  เป็นครั้งที่ 2 ของปี 2559 หลังจากที่มีการยื่นรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ให้แก่แม่ทัพภาค 4 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2559 โดยในครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่มาตามหาตัว น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะคือวันที่ 19 ม.ค. 2559 เวลากลางวันก่อนเที่ยง  โดยเจ้าหน้าที่แต่งชุดเขียวเเยกไม่ออกว่าทหารหรือตำรวจตระเวนชายเเดนประมาณ 3 นาย เข้าไปที่ร้านขายผ้าในตลาดอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อตามหานางสาวอัญชนาที่ร้าน  พบแต่พนักงานในร้าน เจ้าหน้าที่จึงกลับไปโดยไม่มีการฝากเอกสารหรือข้อความใดๆไว้
 
ต่อมา 14 ก.พ. 2559 แม่ทัพภาค 4 ได้โทรเรียกให้ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และทีมงานที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี เข้าไปพูดคุยที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ได้มีการคุยกันประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกันในเรื่องรายงานและการจัดบันทึกข้อร้องเรียนจากผู้เสียหายจากการทรมาน
 
น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ กลุ่มด้วยใจเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่มาพบครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากการเผยแพร่รายงานสถานการณ์ทรมานฯออกไป ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดได้ไปพบเจ้าหน้าที่คนอื่นขององค์กรเครือข่ายที่ช่วยเก็บข้อมูลและเจ้าของกรณีที่ให้ข้อมูล  สำหรับรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 เป็นรายงานซึ่งจัดทำโดยกลุ่มด้วยใจ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี โดยรายงานเป็นการนำเสนอหลักการและผลของการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์โดยแบบสอบถามดังกล่าวได้นำหลักการสากลที่ชื่อว่า “พิธีสารอิสตันบูล” (Istanbul Protocol: Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) มาเป็นแนวทางในการตั้งกรอบคำถามและแนวทางการบันทึกผลกระทบจากการทรมานจากผู้ร้องเรียนทั้งหมด 54 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net