Skip to main content
sharethis
โฆษก กมธ.สปท.ด้านการเมือง สนับสนุนข้อเสนอ ครม.ที่ให้แบ่งเขียนรัฐธรรมนูญ 2 ช่วง ด้านพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.ในหลายประเด็น ส่วนรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ห่วงข้อเสนอ ครม.แบ่ง รธน. 2 ช่วง เกรงกระทบต่อการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตและอาจถูกมองว่าเป็นการขยายอำนาจ คสช.
 
21 ก.พ. 2559 นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ให้สัมภาษณ์ ถึงข้อเสนอของ ครม.ที่มีต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องการบัญญัติเนื้อหาและการใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง คือช่วงเฉพาะกิจ ในระยะแรกที่ต้องมีทั้งการเลือกตั้ง และให้มีทั้งความมั่นคงอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่า  เป็นสิ่งที่เห็นด้วยและเสนอมาโดยตลอด เพราะหากการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มที่ ก็มีแนวโน้มว่าจะกลับไปเป็นเหมือนตอนเดือนพฤษภาคม 2557
 
“ดังนั้น ความพอดีระหว่างประชาธิปไตยกับความมั่นคงในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องเปลี่ยนผ่านนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสืบทอดอำนาจ” นายวันชัย กล่าว
 
นายวันชัย กล่าวว่า อาจระบุชัดเจนไปเลยว่า ช่วงแรกให้มีการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเรื่องความมั่นคง ยังจะต้องมีส่วนในการบริหารชาติบ้านเมือง เพื่อประคับประคองสร้างความปรองดอง และปฏิรูปประเทศให้เข้าที่เข้าทาง และเมื่อมั่นใจแล้ว จึงปล่อยให้เป็นการเลือกตั้งแบบเต็มที่แบบสากล เช่น ในช่วง 2 ปีแรก มี ส.ส. 550 คน แบ่งเป็น  ส.ส.จากการเลือกตั้งโดยประชาชนจำนวน 350 คน และภาคส่วนอื่นๆ ที่มาจากการสรรหาจำนวน 200 คน และจัดตั้งรัฐบาล โดย ส.ส.ทั้งหมดเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
 
“แต่ท้ายที่สุด รูปแบบและวิธีการก็เป็นเรื่องที่ กรธ.จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง” นายวันชัย กล่าว
 
พท.ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.ในหลายประเด็น
 
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ เรื่องข้อเสนอในการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การตั้งโจทย์เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มอำนาจและบทบาทในองค์กรอิสระและศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ   ผิดพลาดตั้งแต่ต้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน เห็นว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นการปิดโอกาสประชาชน ไม่สะท้อนความนิยมที่แท้จริง และไม่แก้ปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง รวมทั้ง ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเสียเปรียบ เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ จึงเสนอให้นำระบบการเลือกตั้งแบบผสม ที่ใช้ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือ 2550 มาใช้
 
ขณะที่ การได้มาซึ่ง ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดว่าไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.นั้น พรรคเพื่อไทยมองว่า มีนัยสำคัญที่เป็นการเตรียมแผนรองรับผู้ที่มีอำนาจบางคนหรือไม่ จึงควรกำหนดให้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น
 
นอกจากนี้ ควรให้อิสระแก่รัฐบาลชุดต่อไป ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยไม่ผูกพันกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลและ คสช.กำหนดไว้ และควรจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีหน้าที่วินิจฉัยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ควรให้มีอำนาจวินิจฉัยถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ประเพณีการปกครองประเทศตามที่ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้
 
ขณะเดียวกัน การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากที่สุด จะก่อให้เกิดวิกฤตของชาติในอนาคต และควรตัดบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ คสช.และหัวหน้า คสช.ออก โดยให้ คสช.สิ้นสุดทันทีเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว
 
รอง หน.ปชป.ห่วงข้อเสนอ ครม.แบ่ง รธน. 2 ช่วง
 
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้พิจารณาข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี ในประเด็นการแบ่งรัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง ว่า กรธ. ควรเก็บข้อเสนอนี้ไว้ก่อน เนื่องจากคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถยกตัวอย่างสถานการณ์ หรือบริบทว่ารัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร เพราะหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เล็งเห็นปัญหาของความไม่สงบเรียบร้อย หลังจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ตอนนี้มากกว่า
 
นายองอาจ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีระบบกลไกที่บัญญัติไว้อยู่แล้ว ในการป้องกันความไม่สงบเรียบร้อย เช่น กระบวนการทางยุติธรรม ซึ่งหากแบ่งรัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง อาจทำให้เกิดปัญหาในการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตได้ รวมถึง อาจทำให้ถูกมองว่า คสช.พยายามยืดการอยู่ในอำนาจออกไปอีก
 
นอกจากนี้ นายองอาจ ยังเสนอไปยัง กรธ.ถึงประเด็นการปราบปรามการทุจริต ว่า ควรเพิ่มกลไกให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การป้องกันการทุจริตเป็นไปอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่นการสร้างกลไกให้ประชาชน หรือกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมสอบการทุจริตของนักการเมืองและนักธุรกิจ พร้อมมีระบบคุ้มครองประชาชน ที่เป็นพลเมืองดีเข้ามาชี้เบาะแสให้ข้อมูล หรือเป็นพยานในกระบวนการยุติธรรม เพราะขณะนี้พบว่าการคุ้มครองประชาชนยังไม่เข้มแข็งพอ ขณะเดียวกัน หน่วยงานราชการควรปิดข้อมูลให้สามารถตรวจสอบได้และควรสร้างหลักป้องกันการแทรกแซงของกระบวนการยุติธรรมด้วย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net