Pauline Tweedie มูลนิธิเอเชีย: ‘28 กุมภาฯ’ คือวาระของสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ที่โลกจะสนใจ

รายงานพิเศษ ถอดความจาก Patani Peace Contact Group (PPCG) กับเพาลีน ทวีดี้ (Pauline Tweedie) รองผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประจำประเทศไทย วงสนทนาเพื่อสร้างสันติภาพสร้างความรู้และสร้างความร่วมมือต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ 28 กุมภาฯ คือวาระของสันติภาพที่นี่ สามารถดึงองค์กรระหว่างประเทศต้องมาสนใจเรียนรู้กลไกที่คนในและคนนอกจะมีส่วนร่วม พร้อมคำถามและข้อกังวลจากวงสนทนา

เพาลีน ทวีดี้ (Pauline Tweedie) รองผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประจำประเทศไทย นำเสวนาในงาน Patani Peace Contact Group 

“28 กุมภาพันธ์” ถือเป็นวาระหรือหมุดหมายสำคัญของกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ซึ่งกำลังจะครบรอบ 3 ปีในอีกไม่กี่วันแต่ในขณะที่การพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขกำลังดำเนินอยู่ก็มีคำถามมากมายในสังคม

ในวงสนทนา Patani Peace Contact Group (PPCG) ก็มีคำถามเช่นกัน โดยเฉพาะบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศและการมีส่วนของคนที่ไม่ใช่คู่เจรจาบนโต๊ะโดยตรงจะมีกลไกการมีส่วนร่วมอะไรบ้าง เผื่อจะได้เตรียมพร้อมก่อนวันนั้นจะมาถึง

ในวงสนทนา PPCG นี้จัดโดยวิทยาลัยประชาชน (People’s College) เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ที่คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีเพื่อให้นักปฏิบัติการทางสังคมปัญญาชนและผู้นำประชาชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพการสร้างความรู้และการสร้างความร่วมมือระหว่างคนท้องถิ่นกับคนนอกต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้

โดยมี เพาลีน ทวีดี้ (Pauline Tweedie) รองผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประจำประเทศไทย (Deputy Country Representative The Asia Foundation) เป็นผู้นากระบวนการซึ่งเธอทำงานในไทยและติดตามกระบวนการสันติภาพที่นี่มาต่อเนื่อง 7 ปีแล้ว การถ่ายทอดความรู้สันติภาพที่มีประโยชน์มากๆ ถึงในพื้นที่ครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของเธอ เพราะสิ้นเดือนนี้เธอก็จะกลับไปอยู่แคนาดาแล้ว ในวงสนทนามีฮาดี้ ฮามิดง เป็นล่ามแปล

สันติภาพไม่อาจสร้างได้ชั่วข้ามคืน หวังว่าที่นี่คงไม่นาน

เพาลีนเริ่มต้นกระบวนการสนทนาด้วยการแนะนำตัวเองและมูลนิธิเอเชีย โดยเธอเองมาทำงานในประเทศไทยมา 7 ปีแล้วและติดตามกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ (หรือปาตานี) มาตลอด ซึ่งหากเมื่อ 7 ปีที่แล้วมีใครมาชวนคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพคงเป็นเรื่องที่บ้ามากและเป็นไปไม่ได้ที่จะคุยเรื่องนี้ได้

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า “แต่จริง ๆ แล้วการสร้างสันติภาพของที่นี่มีความก้าวหน้ามาตลอด เพียงคนอาจมองไม่เห็น”

เธอบอกว่า เราทราบว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เป็นวันครบรอบ 3 ปีของการพูดคุยสันติภาพ แม้ในช่วง 3 ปีนี้การพูดคุยไม่มีความคืบหน้าอะไรมากซึ่งก็แน่นอนเพราะกระบวนการนี้ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะสำเร็จ เช่น กระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ก็ใช้เวลาถึง 22 ปี

“หวังว่าสันติภาพที่นี่คงจะใช้เวลาไม่นานเท่านี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสร้างได้ในชั่วเวลาข้ามคืน”

จากนั้นเธอแนะนำมูลนิธิเอเชียว่า เป็นองค์กรของสหรัฐอเมริกาที่ทำงานในประเทศไทยมา 60 ปีแล้วและทำงานในประเด็นภาคใต้มาแล้ว40 ปี เช่น ความร่วมมือในการก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามที่มีมากว่า 20 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นมูลนิธิเอเชียไม่ได้มาแล้วไปแต่ทำงานในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง

เธอเล่าว่า ที่มินดาเนา มูลนิธิเอเชียมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพด้วยเช่นกัน ทั้งใน ICG ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนของมูลนิธิเอเชียเป็นหนึ่งใน TPMT ด้วยเช่นกัน

International community (IC) เป็นใคร

แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ICG และ TPMT ในกระบวนการสันติภาพ เพาลีนได้ตั้งคำถามต่อผู้เข้าร่วมสนทนาเกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศ หรือ International community (IC) ว่าเป็นใคร เรารู้จักองค์กรเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนและทำไมองค์กรเหล่านี้ต้องมาสนใจเรื่องการสร้างสันติภาพด้วย

เพาลีนให้ผู้เข้าร่วมสนทนาได้ยกชื่อองค์กรระหว่างประเทศหลากหลายองค์กรขึ้นมาแล้ว จากนั้นเธอก็เลือกอธิบายถึงบทบาทขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ

เธออธิบายถึง เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ของ UN หรือ Millennium Development Goals (MDG) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 และที่ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในปี 2015

MDG มีหลายเป้าหมายแต่เป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น การศึกษา การพัฒนาเด็กและผู้หญิง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาความยากจน แต่ปัญหาที่นี่ไม่ได้อยู่ที่ความยากจนมากนัก MDG จึงไม่ค่อยถูกพูดถึง

เราต้องมีประเด็นร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ

เพาลีนอธิบายต่อไปว่า หลังจาก MDG สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2015 ทาง UN ก็ตั้งเป้าหมายใหม่ขึ้นมาเรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต่างจากเป้าหมายเดิมใน MDG ที่เน้นเชิงปริมาณ แต่เป้าหมายใหม่เน้นเชิงคุณภาพมากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ธรรมาภิบาลและความยุติธรรม

เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุดคือเป้าหมายที่ 16 คือการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของชีวิต ซึ่งหลายประเทศเห็นด้วยรวมทั้งไทยและเป้าหมายที่ 16 นี้เป็นช่องทางที่ให้องค์กรระหว่างประเทศได้เข้ามาทำงานได้

เป้าหมายที่ 16ยังมีเป้าหมายย่อยๆอีกหลายประการถ้าเราจะให้ UN หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งทูตประเทศต่างๆเข้ามาทำงานในพื้นที่ เราก็ต้องพูดถึงเรื่องนี้ด้วยเพื่อจะได้มีประเด็นร่วมกันกับองค์กรเหล่านั้น

กรณี ISIS หรือกลุ่มรัฐอิสลามก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้องค์กรระหว่างประเทศสนใจที่นี่รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์บางอย่างก็ส่งผลกระทบต่อปัญหาชายแดนใต้ด้วยแม้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครแต่ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้ต่างชาติสนใจปัญหาที่นี่ด้วย

UN แก้ไขมติเพื่อเพิ่มบทบาทผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ

เธอยังได้กล่าวถึงมติ 1325 ของUN ซึ่งพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพว่าเป็นมติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้กำลังจะพิจารณามตินี้ใหม่อีกครั้งว่าจะให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างไร

ในการพิจารณามตินี้มีหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ไปเป็นผู้ร่วมพิจารณาด้วยคนหนึ่ง โดยจะผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพให้มากขึ้น หรือไม่ก็ในการเจรจาต้องมีเรื่องผู้ณหญิงด้วย

กรณีขององค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (OIC) ที่เข้ามาติดตามกระบวนการสันติภาพที่นี่ด้วยในขณะนี้ไม่ใช่เพราะโอไอซีสนใจ แต่เพราะโอไอซีกำลังพูดคุยเรื่องนี้อยู่พอดีนั่นเองแต่เรื่องนี้ก็มีหลายมุมมอง

หลักการ 3D ขององค์กรระหว่างประเทศ

เพาลีตั้งคำถามต่อไปว่า เราต้องการอะไรจากองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้? จากนั้นเธออธิบายถึงหลักการ 3D ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ Diplomacy Development และ Defense

D1-Diplomacy คือ การทูต คือการไม่ใช่ไม้แข็งในการตอบโต้ เช่น การออกแถลงการณ์ การประณาม

D2-Development คือ การพัฒนา เป็นเรื่องเงินหรืองบประมาณ ซึ่งหลายองค์กรเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ D2 นี้มากมาย

D3-Defenseคือความมั่นคงแต่ไม่ค่อยถูกใช้มากนัก เพราะเป็นความร่วมมือในทางทหารมากกว่า เช่น การฝึกรบ

ความร่วมมือที่เราอยากได้มากที่สุดคือการทูต เช่น การเยี่ยมคนที่อยู่ในคุก ซึ่งการทูตเป็นอาวุธนำหน้าในการกดดันที่ใช้การพูดมากกว่าวิธีอื่นส่วนการพัฒนา เป็นเรื่องที่เราอยากได้และสามารถมาทำงานร่วมกันได้ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานคำถามคือ เราอยากให้องค์กรระหว่างเทศเข้ามาทำไมเข้ามาเพื่อรับรู้หรือเพื่ออะไร

เพาลีนบอกว่า ความเข้าใจต่อระดับปัจเจกบุคคลที่อยู่ในองค์กรเหล่านั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เรารู้ว่าเขามีความคิดอย่างไร ส่วนความเข้าใจต่อบริบทสังคมวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่น เราเข้าใจว่าประชาคมอาเซียนมีหลักการใหญ่คือไม่แทรกแซงประเทศสมาชิก มีกรอบที่จะทำงานร่วมกันระหว่างประเทศก็ไม่เยอะ

28 กุมภาฯ คือวาระของสันติภาพที่นี่

คำถามต่อมาคือ เมื่อไหร่ที่เราต้องการความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ การดูปฏิทินก็เป็นเรื่องสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

ในภาคใต้มี 2 วาระที่สำคัญในช่วงนี้คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันครบรอบของการพูดคุยสันติภาพของที่นี่ และวันที่ 8 มีนาคม คือวันสตรีสากล

วาระของวันที่ 28 กุมภาพันธ์มีความสำคัญสำคัญคนที่นี่ แต่ในต่างประเทศหรือในเมืองใหญ่ๆเขาไม่สนใจ เขาสนใจแต่เรื่องที่เกิดขึ้นวันต่อวันกับเขา ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้คนทั่วโลกสนใจก็คือวันไหนคือวันสำคัญบ้างที่จะดึงให้คนมาสนใจได้

ICG และ TPMT ในกระบวนการสันติภาพ

จากนั้นเพาลีนจึงอธิบายเรื่อง ICG (International Contact Group) หรือคณะช่วยเหลือด้านการไกล่เกลี่ยนานาชาติ และ TPMT (Third Party Monitoring Team) หรือคณะติดตามตรวจสอบโดยฝ่ายที่สาม ซึ่งทั้งสองคณะก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ

เธอบอกว่า ICG ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์และตั้งขึ้นมาจากความเห็นชอบของคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายเช่น ในกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ICG มาจากกลุ่มที่ฝ่ายขบวนการ MILF เสนอ 2 กลุ่ม และมาจากที่ฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์เสนออีก 2 กลุ่ม

แต่กระบวนการสันติภาพที่นี่ยังไม่มีข้อตกลงที่จะให้มีICG แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องรอให้มีข้อตกลงก่อน ตอนนี้เราสามารถที่จะเตรียมพร้อมไปก่อนได้ ให้เรามีของอยู่ในมือก่อนไม่ต้องรอให้มีข้อตกลงแล้วค่อยเตรียม

สิ่งที่แตกต่างระหว่างกระบวนการสันติภาพมินดาเนากับกระบวนการสันติภาพที่นี่ คือรัฐบาลฟิลิปปินส์พร้อมที่จะยอมรับองค์กรระหว่างประเทศ และพร้อมที่จะดำเนินกระบวนการสันติภาพที่เปิดเผย

ก่อนหน้านี้มูลนิธิเอเชียได้ทำวิจัยเพื่อประเมินทุนต่างประเทศที่เข้าไปในมินดาเนา เราพบว่าที่นั่นมีพื้นที่ทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศมากกว่าที่นี่ มีการอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดการเปิดกว้างของรัฐบาลได้เช่นกัน

สำคัญอยู่ที่ความไว้วางใจ

แล้ว ICG เป็นใครบ้าง เพาลีนบอกว่า เราพบว่ามีทั้งกลุ่มที่อยู่ภายในพื้นที่กับกลุ่มที่มาจากภายนอก ซึ่งในกรณีของมินดาเนาเป็นงานของทั้งคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงกันว่าจะให้ใครมาเป็น ICG

อย่างไรก็ตามโมเดลหรือรูปแบบของ ICG ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบที่แน่นอนและไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมดเช่น อาจะมีลักษณะเฉพาะกลุ่ม เป็นแบบผสมผสานกันหรือให้ UN กำหนดก็ได้

ทว่า ประเด็นสำคัญที่สุดของ ICGคือความไว้วางใจICG ต้องไว้ใจได้และเป็นกลาง ชัดเจนและไม่มีวาระของตัวเอง แต่การสื่อสารภายในต้องเป็นความลับ

ใน ICG จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในบางเรื่องอยู่ด้วย เพราะคำแนะนำของ ICG เป็นเรื่องเทคนิคมากเช่น ในกระบวนการสันติภาพมินดาเนา ICG จะให้คำแนะนำในเรื่องภาษี

ICGไม่ใช่กลไกที่จะนำข้อเสนอจากข้างล่างเข้าสู่โต๊ะเจรจา แต่เป็นเหมือนคลังเก็บข้อมูลให้คำแนะนำหรือข้อเสนอที่เป็นทางเลือกมากกว่าที่จะนำประเด็นต่างๆมาถกเถียงกัน เป็นการสนับสนุนในเชิงเทคนิคมากกว่า

อุปสรรคและข้อท้าทายของ ICG และ TPMT

เพาลีนบอกว่า ในกระบวนการสันติภาพ ICG จะทำงานให้กับคณะพูดคุยบนโต๊ะเจรจาทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่เจรจาส่วน TPMT จะทำงานให้กับผู้นำของแต่ละฝ่าย คือให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายของตัวเองเท่านั้น ซึ่งแต่ละฝ่ายจะเลือกคนมาตั้งเป็นTPMTในนามบุคคลไม่ใช่ในนามองค์กร

ในกรณีการเจรจาสันติภาพมินดาเนา ICG มีคณะเดียวมาจาก 4 กลุ่มหรือ 4 องค์กรที่มาจากการเสนอของทั้งสองฝ่าย ส่วน TPMT มีฝ่ายละ 5 คน ซึ่งกลไกเช่นนี้จะทำงานไม่ได้เลยถ้าไม่มีความไว้วางใจ

อย่างไรก็ตามในกระบวนการสันติภาพที่อื่นๆอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่บริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางแห่งตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครมาเป็น ICGบางแห่งพยายามสร้างกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเพื่อไปเป็น ICGแต่วิธีการแบบนี้ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพูดคุย เพราะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ

อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักคือผู้อำนวยความสะดวก หรือ Facilitator ซึ่งในกระบวนการสันติภาพมินดาเนามาเลเซียทำหน้าที่นี้ และมาเลเซียก็เห็นด้วยกับกลไกเช่นนี้

คำถามและข้อกังวลจากวงสนทนา

คำถาม–ICG มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

เพาลีนตอบ–ICGไม่จำเป็นต้องมีในทุกกรณีกระบวนการสันติภาพ แต่ถ้ามีมันก็จะดีต่อกระบวนการสันติภาพ

คำถาม–ICG สามารถนำมาใช้ในกระบวนการสันติภาพปาตานีได้หรือไม่ เพราะในพื้นที่มีองค์กรที่หลากหลาย แต่ละองค์กรก็มีธงที่แตกต่างกัน อาจจำเป็นต้องมีInner Contact Group ซึ่งทำงานเหมือน ICG แต่ทำกับกลุ่มต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ก่อนหรือไม่ และความแตกต่างระหว่าง ICG กับ Inner Contact Group คืออะไร

เพาลีนตอบ–ในการตั้ง ICG นั้นถ้าเสียงของพวกเราในพื้นที่ยังไม่ดังพอก็ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องนี้ก็ได้ ขณะเดียวกันในพื้นที่เองก็มีคนที่หลากหลายซึ่งไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด แต่ถ้ามีอะไรที่เหมือนกันอยู่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้แค่นี้ก็ทรงพลังมากแล้ว

เวลาสร้างบ้านหนึ่งหลังก็จะมีคนจำนวนมากมาสร้างบ้าน ไม่ได้มีแค่ช่างประเภทเดียวเท่านั้นที่มาสร้างบ้านทั้งหลัง ดังนั้นเราก็ต้องกลับไปดูว่า แต่ละคนมีอะไรที่เป็นจุดแข็ง ก็เอาจุดแข็งนั้นมาทำงานแต่สิ่งที่เราไม่อยากได้ก็คือ ใครก็ไม่รู้มาออกแบบบ้านให้

คำถาม–จะทำให้เสียงที่แท้จริงจากพื้นที่ออกมาได้อย่างไร

เพาลีนตอบ–มีหลายกลไกที่จะทำให้เสียงจากพื้นที่ออกมาได้ วิธีการหนึ่งคือการสำรวจความคิดเห็นหรือที่เรียกว่า Peace Survey หรือให้คนพูดผ่านเวทีสาธารณะซึ่งก็มีหลายองค์กรที่พยายามทำแบบนี้อยู่เพื่อให้เสียงคนในพื้นที่ออกมา

คำถาม– ปัจจุบันพื้นที่ทางการเมืองไม่มี มีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงทำให้คนไม่กล้าพูดความจริง แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลของ Peace Survey นั้นเป็นคำตอบที่แท้จริง จะประเมินได้อย่างไร

เพาลีนตอบ–แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ยากที่จะทำให้คนพูดออกมาได้ ดังนั้น Peace Survey ต้องทำให้แน่ใจว่าข้อมูลของผู้ให้สัมภาษณ์จะเป็นความลับ แต่จริงๆแล้วพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกปิดตอนนี้ไม่ใช่แค่ในในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นประเด็นของคนทั้งประเทศไปแล้วในตอนนี้ ซึ่งประเด็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นองค์กรระหว่างประเทศก็ให้ความสนใจ

คำถาม– ถ้ามีองค์กรที่เป็นมือไม้ให้กับรัฐเข้ามาร่วมใน ICG ด้วยและกลายเป็นแรงต้านกันเอง เราจะทำอย่างไร

เพาลีนตอบ– ภาคประชาสังคมแต่ละองค์กรก็มีวาระที่แตกต่างกัน มูลนิธิเอเชียก็พอจะรู้ แต่มันก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าองค์กรไหนพูดแทนประชาชนได้ และการที่มีกลุ่มองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนแตกต่างกันก็เป็นเรื่องปกติและมันก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่มากนัก

ตอนที่เราคุยกันไปนั้น เราก็หาทางไปด้วยว่าจะมีเส้นทางไหนที่ทำให้เกิดสันติภาพโดยเร็ว เราหวังว่าวันหนึ่งเครือข่ายของภาคประชาสังคมจะกว้างขึ้น เข้มแข็งขึ้น และมีส่วนร่วมมากพอ และขึ้นอยู่กับเครือข่ายของเราด้วยว่า ถ้าเปิดโอกาสให้คนที่มีความแตกต่างกันได้เข้ามาทำงานอยู่ด้วยได้มันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

คำถาม– สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร

เพาลีนตอบ– ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองเปิดมากขึ้น ถ้าเป็นช่วงก่อนปี 2010 เวทีแบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลย แม้ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนไม่ดีขึ้นนั้นที่จริงแล้วมันค่อยๆดีขึ้น มีองค์กรที่ทำงานเพื่อนำความรู้ลงไปในพื้นที่ และเก็บเสียงจากพื้นที่ออกมาและไม่คิดว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะย้อนกลับที่เดิม ตอนนี้เรายังมีช่องทางการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้อยู่ แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่ก็ตาม

คำถาม– ใครจะรับรองว่าตัวแทนจะได้รับการปกป้องถ้ามี ICG เกิดขึ้น

เพาลีนตอบ–ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือยุทธศาสตร์ที่พวกเราต้องไปคุยกัน ส่วนตัวดิฉันไม่มีส่วนร่วมกับคำตอบนี้.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท