Skip to main content
sharethis
ตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัด เสนอ 9 ประเด็น บรรจุลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอยกเลิกคำสั่ง คสช.เรื่องการยกเว้นผังเมืองรวมหวั่นกระทบสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม หนุนพลังงานหมุนเวียน  แต่ค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล

“เมืองระยองเก็บภาษีจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ  เช่น  ปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ  ปีหนึ่งได้หลายแสนล้านบาท  หรือเกือบครึ่งหนึ่งของภาษีที่เก็บได้ทั้งประเทศ  แต่คนระยองได้ภาษีกลับคืนมาปีหนึ่งไม่กี่พันล้านบาท  แถมยังต้องได้รับผลกระทบจากมลพิษต่างๆ  ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ  ถนนพังเสียหายจากรถบรรทุก อีกทั้งโรงพยาบาลก็มีคนงานต่างชาติเข้าไปใช้บริการมากกว่าคนระยองเสียอีก”

“การยกเลิกผังเมืองตามประกาศของคสช.จะทำให้มีโรงงานต่างๆ เข้าไปตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ  โดยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือแหล่งอาหารของชาวบ้าน  เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน โรงไฟฟ้าจากขยะ โรงงานปิโตรเคมี  รวมทั้งโรงงานคัดแยกและฝังขยะ  ซึ่งตามกฎหมายผังเมืองฉบับเดิมไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานเหล่านี้ในเขตเกษตรกรรม....ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และ 4 /2559  แล้วกลับไปใช้กฎหมายผังเมืองฉบับเดิม ”  ฯลฯ

นี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนของตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัดที่มาร่วมประชุมกันในงาน “เวทีสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ  และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ”  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยบ้านนอก (ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง) บ้านจำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  สภาองค์กรชุมชนตำบล  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  และภาคประชาสังคม  ภาคตะวันออก  ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น  โดยมีนายเธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทน  และมีแกนนำชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 400 คน 

เธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้ใหญ่ชาติชาย  เหลืองเจริญ แกนนำในการจัดเวทีนี้บอกว่า สาระสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ของภาคประชาชน คือ  การระดมความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2559   และจะนำสาระและข้อเสนอของประชาชนในภาคตะวันออกยื่นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้นำไปพิจารณาและบรรจุลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยมีประเด็นต่างๆ รวม 9 ประเด็นที่ประชาชนได้ร่วมกันนำเสนอ ได้แก่  1.ประเด็นด้านการเกษตร  2. ผังเมือง  3.ประมงชายฝั่ง  4.การกระจายอำนาจ  การมีส่วนร่วม  5.สิทธิหน้าที่  เสรีภาพ  สิทธิชุมชน  6.การจัดการทรัพยากร  ดิน  ป่า  น้ำ พลังงาน  7.การปฏิรูปต่างๆ  8.สิทธิส่วนร่วมในการพัฒนา  การกระจายรายได้  งบประมาณที่เป็นธรรม  และ 9.หมวดว่าด้วยท้องถิ่น

ข้อเสนอของคนตะวันออก

ส่วนข้อเสนอที่ได้จากการเปิดเวทีในครั้งนี้  เช่น  ประเด็นด้านการเกษตร 1. กำหนดให้เกษตรกรได้รับการประกันจากรัฐในการมีสิทธิที่ดินอย่างทั่วถึงและน้ำอย่างพอเพียง เพื่อประกอบอาชีพ  2. ให้รัฐสนับสนุนเกษตรกรรมรายย่อยด้านการบริหารโครงสร้างพื้นฐาน  การกำหนดมาตรการปกป้อง  การพยุงราคา แทรกแซงสนับสนุน  เลือกการทำเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคม  ระบบนิเวศน์  และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม

ประเด็นประมงพื้นบ้าน ปัญหาประมงพื้นบ้านจาก พ.ร.บ.ปี 2558   เช่น  การให้ทำประโยชน์ในพื้นที่  5.4กิโลเมตรและในเขต  3 ไมล์ทะเล หากทำผิดกฎหมายจะเสียค่าปรับ  ห้ามโอนถ่ายซื้อขายมรดกทางประมง ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน   ที่ประชุมจึงขอเสนอให้ยกเลิกมาตรา 34  ของ พ.ร.บ.ประมงปี 2558  และให้ทำประมงพื้นบ้านได้ในเขต  3 ไมล์ทะเล    และเสนอว่า  การออกกฎหมายควรคำนึงถึงภูมิปัญญาและการดำรงวิถีชีวิตของชาวประมง  ไม่ใช้ข้อมูลทางวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ขัดแย้งกับความเป็นจริงและเกิดผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน

ประเด็นการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม สภาพลเมือง มีข้อเสนอ  เช่น 1. ในการออกเสียงประชามติในการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยในการออกเสียง  2. บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน   มีสิทธิ์เข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 238  ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

ประเด็นสิทธิและหน้าที่ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิชุมชน  เช่น  1. การส่งเสริมสวัสดิการประชาชน คุ้มครองผู้พิการ ให้ได้รับความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนจน คนด้อยโอกาส  ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม  2. สิทธิชุมชน  มีสิทธิในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ  แยกไว้เป็นประเด็นต่างหาก ไม่ต้องแฝงในหน้าที่แห่งรัฐ

สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน  แต่ค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล

ประเด็นการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า พลังงาน (ภูเขา ทะเล และพลังงาน)  1.รัฐต้องประกาศเขตอนุรักษ์ให้ชัดเจน และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรร่วมกัน  2.ให้ชุมชน  โดยสภาองค์กรชุมชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ   เพราะที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นกรรมการ  3.ให้มีการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน  แต่ควรยกเว้นโรงไฟฟ้าชีวมวล  เพราะมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีการทำ EIA   ดังนั้นจึงเสนอว่า  ในการสนับสนุนการใช้พลังงานให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเภทดังกล่าว  ให้เน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) และโซล่าฟาร์ม

ประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านต่างๆ  เช่น  1. สนับสนุนการจัดตั้งกองทุน  ธนาคารแรงงาน  และสถาบันการเงินชุมชน   2. การจัดตั้งกองทุนการออมตั้งแต่เริ่มจนพ้นวัยทำงาน  3. คุ้มครองภูมิปัญญาของชาวบ้าน 4. การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากฐานราก  ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับวิถีชุมชนดั้งเดิม  5. ให้การทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ให้เป็นไปตามประชามติของประชาชนในชุมชน

สิทธิส่วนร่วมในการพัฒนา การกระจายรายได้ การเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิต งบประมาณที่เป็นธรรม   1.ชุมชนควรเข้าถึงแหล่งข้อมูลของรัฐ “อย่างเท่าเทียม”  2. บุคคล/ชุมชน  มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และมีส่วนร่วมในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่  3. บุคคลมีสิทธิฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดชอบเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นกระทำ   4.ชุมชนมีสิทธิปกป้องฟื้นฟู  อนุรักษ์  สืบสานพัฒนาขนบธรรมเนียมประเพณี  รวมถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5. จัดการส่งเสริมงบประมาณที่มุ่งให้เกิดประโยชน์  กลไกการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณรัฐที่มีประสิทธิภาพ  คุ้มครองแรงงานและชุมชน  6. มีการจัดสรรงบประมาณภาษีสังคม  ภาษีรายได้ให้ประชาชน และหักภาษีจากแรงงานต่างด้าว

หมวดว่าด้วยท้องถิ่น 1. องค์กรบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี  ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน  2. ยกระดับสภาองค์กรชุมชน สนับสนุนการจัดตั้งสภาพลเมืองท้องถิ่น   เพื่อความหลากหลายมากขึ้น  3. ผู้นำท้องถิ่นต้องผ่านหลักสูตรด้านการพัฒนา  ต้องมีการฝึกอบรมให้สมาชิกและผู้บริหารรู้บทบาทตนเอง มีโรงเรียนหลักสูตรการบริหาร  4. ให้กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

ประเด็นผังเมือง ที่ประชุมมีความเห็นว่า  ผังเมืองไม่สามารถควบคุมและบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง  โดยเฉพาะเมืองชายฝั่งอย่างจังหวัดระยองที่มีรายได้สูงต่อหัว  แต่ประชาชนได้รับผลกระทบ  เช่น ปัญหาประชากรแฝง ภาษีไม่ได้ตกอยู่กับคนระยอง  ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย จึงมีข้อเสนอดังนี้  1.ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายผังเมือง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง สามารถกำหนดอนาคตตนเองได้  2. การเก็บภาษีที่เป็นธรรม คุ้มครองคนที่อยู่ในพื้นที่

3. แต่ละจังหวัดมีปัญหาแตกต่างกันไปตามบริบทและนโยบาย เช่น สระแก้วเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ควรมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าควรรักษาแม่น้ำลำคลองแต่ละแห่ง  4. กำหนดการผังเมืองให้มีลักษณะบูรณาการและการมีส่วนร่วมในแต่ละจังหวัด  5.การกำหนดผังเมืองควรเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นและประชาชนร่วมกำหนดเป็นสัดส่วน 70 % 6.เสนอให้กลับมาใช้ผังเมืองเดิม  ที่ดำรงไว้ซึ่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชนบท  ให้มีการจัดโซนนิ่งของอุตสาหกรรม ไม่ให้รุกเข้ามาในพื้นที่แหล่งผลิตอาหารที่มีความสำคัญต่อคนทั้งโลกทำให้สิทธิชุมชนหายไป  ฯลฯ

กรรมการร่าง รธน.รับจะนำข้อเสนอของชาวบ้านไปปรับปรุงร่าง

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลงในช่วงบ่ายแก่ๆ ตัวแทนชาวบ้านภาคตะวันออกได้ยื่นข้อเสนอทั้งหมดต่อนายเทียนชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  โดยนายเทียนชัยกล่าวว่าจะนำข้อเสนอจากเวทีนี้ไปรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการร่างรธน.เพื่อให้นำไปพิจารณาและปรับปรุงตามข้อเสนอของประชาชนต่อไป  ทั้งนี้คณะกรรมการร่างรธน.จะจัดเวทีแบบนี้อีก 8 ภาคทั่วประเทศ  โดยเวทีสุดท้ายจะจัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 5 มีนาคมนี้  และหลังจากนั้นคณะกรรมการจะร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคมนี้

“วันนี้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนอยู่บนสองขา คือ ขาที่หนึ่ง  เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการต่อสู้ เรียกร้อง ขาที่สอง  คือเรื่องของสิทธิเสรีภาพหน้าที่ของรัฐ เช่น เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบ สิทธิชุมชนถูกกำหนดเข้าในรัฐธรรมนูญแล้ว เพิ่มเข้ามาว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำด้วย  จึงถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐ  ส่วนสภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน  มีกฎหมายรองรับ  ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับต้านโกง เพราะมีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง และในเรื่องสิทธิชุมชน  ประชาชน ได้ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการกำหนดหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ  ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่  29 มีนาคม  2559 นี้ “  กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวในตอนท้าย

เธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

เสนอยกเลิกคำสั่ง คสช.เรื่องการยกเว้นผังเมืองรวมหวั่นกระทบสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าการจัดเวทีรับฟังข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญจากคนภาคตะวันออกจะจบสิ้นลงแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  แต่การเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของคนตะวันออกเพิ่งจะเริ่มต้น โดยเฉพาะประเด็นด้านผังเมือง  ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นคัดค้านคำสั่งของ คสช.ที่ 3 และ  4/ /2559  เรื่องการยกเว้นการใช้ข้อบังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท  โดยก่อนหน้านี้คือในวันที่  18 กุมภาพันธ์เครือข่ายประชาชนในภาคตะวันออกหลายจังหวัด   เช่น  ระยอง  ชลบุรี  ฯลฯ  ได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพื่อคัดค้านคำสั่งดังกล่าว

ธวัชชัย  พรหมจันทร์  จากกลุ่มเพื่อนตะวันออก   กล่าวว่า  เหตุผลของคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ  แต่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง  และข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ   โดยเฉพาะกิจการด้านคลังน้ำมันและพลังงานไฟฟ้า  รวมทั้งปัญหาขยะล้นเมือง  การบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ   รัฐบาลจึงอาศัยอำนาจมาตรา 44  แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งฉบับนี้   โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา  เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดตั้งและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว  และมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  โดยจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นใน 10 จังหวัดชายแดน  ประกอบด้วย  ตราด  สระแก้ว  กาญจนบุรี  ตาก  เชียงราย  มุกดาหาร  หนองคาย  นครพนม  สงขลา และนราธิวาส

ธวัชชัยกล่าวอีกว่า  การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบหลายด้าน  เช่น  ด้านสิทธิชุมชน  สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  เนื่องจากในภาคตะวันออกมีแม่น้ำที่สำคัญหลายสาย  นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมก็จะแย่งชิงแหล่งน้ำจากภาคเกษตรเกษตร  ส่วนบางพื้นที่ก็มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเข้าไปตั้งรุกเข้าไปในพื้นที่การเกษตร  โดยการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย  เช่น  ตั้งโรงงานไฟฟ้ากำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกกะวัตต์  ทำให้ไม่ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA   จึงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อพืชผลที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้  รวมทั้งมีผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านที่ต้องสูดดมเอาฝุ่นควันจากโรงงานไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายด้วย  ดังเช่นปัญหาจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นแล้วในหลายจังหวัด

“การยกเลิกผังเมืองตามประกาศของคสช.จะทำให้มีโรงงานต่างๆ เข้าไปตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ  โดยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือแหล่งอาหารของชาวบ้าน  เช่น  โรงไฟฟ้าชีวมวล  โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน  โรงไฟฟ้าจากขยะ โรงงานปิโตรเคมี  รวมทั้งโรงงานคัดแยกและฝังขยะ  ซึ่งตามกฎหมายผังเมืองฉบับเดิมไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานเหล่านี้ในเขตเกษตรกรรม   โดยในภาคตะวันออกมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสระแก้วและตราด  ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร   และจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน  ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และ 4 /2559  แล้วกลับไปใช้กฎหมายผังเมืองฉบับเดิม  ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น  ควรจะกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดผังเมือง  ไม่ใช่ปล่อยให้เฉพาะกลุ่มที่เห็นด้วยเข้าไปประชุมและลงความเห็นชอบ  เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่เห็นด้วยกับทางราชการ”  ตัวแทนกลุ่มเพื่อนตะวันออกกล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้  ตัวแทนภาคประชาชนในภาคกลางและตะวันตก  28 จังหวัด  จะทำหนังสือคัดค้านการยกเลิก พ.ร.บ.ผังเมืองดังกล่าวผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด  28  จังหวัดไปถึงรัฐบาลคสช.  ซึ่งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดภาคตะวันออกก็จะไปยื่นหนังสือภายในวันเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดในภาคตะวันออกด้วยเช่นกัน

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น  นายจักรกฤศฎิ์  พาราพันธกุล  อธิบดีกรมธนารักษ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า  กรมธนารักษ์ได้ลงนามให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าพื้นที่ราชพัสดุใน ต.ป่าไร่   อ.อรัญประเทศ  จ.สระแก้ว  เนื้อที่  650 ไร่  ระยะเวลา 50 ปี  ในราคา  22,400  บาทต่อไร่ต่อปี  เพื่อจัดทำเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ   ส่วนในจังหวัดตากให้กนอ.เช่า  836 ไร่  และสงขลา 1,196  ไร่

ขณะที่นายวีรพงศ์  ไชยเพิ่ม   ผู้ว่า กนอ.กล่าวว่า  เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วมีเอกชนรายใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนแล้ว 5-6 ราย  เช่น  ปตท. SCG (เครือซีเมนต์ไทย)  โดยจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก่อสร้าง  โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ  รวม 60 แปลง  คาดว่าจะมีเอกชนเข้ามาเช่าประมาณ 40-50 ราย  ในอัตราไร่ละ 1.6 แสนบาท  คาดว่าจะมีเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท  และกนอ.จะมีรายได้ต่อปีประมาณ 4,000 ล้านบาท  มีการจ้างแรงงานประมาณ 3,000-4,000 คน  เริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2560 (ที่มา :  คมชัดลึก / หน้า 8 / 19 ก.พ.2559)

ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนภาคตะวันออกต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช.  รวมทั้งการเคลื่อนไหวคัดค้านการยกเลิกกฎหมายผังเมืองเพื่อเอื้อต่ออุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net