Skip to main content
sharethis

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 16 ข้อเสนอ และข้อที่ 16 ซึ่งเป็นข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดย ครม. ระบุว่า ขอให้ กรธ. พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง หรือขยายบทเฉพาะการที่ให้คงอำนาจพิเศษเพื่อเหตุผลความมั่นคง ให้ยาวครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยอ้างถึงความขัดแย้งที่อาจก่อวิกฤตที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา

จนล่าสุดวานนี้ (23 ก.พ.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ออกมาระบุตัวเลขระยะเปลี่ยนผ่านหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญอยู่ที่ 5 ปี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

มีชัย เผยไม่กดดัน ยันไม่เป็นรธน.ครึ่งใบ

ขณะที่วันนี้ (24 ก.พ.59) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. พร้อมด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมหารือถึงข้อสงสัยในข้อเสนอของครม.ต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะข้อ 16 นานกว่า 2 ชั่วโมง โดยหลังจากหารือเสร็จสิ้น นายมีชัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีอะไร เพียงแต่บอกว่าอะไรที่แก้ข้างในไม่ได้ก็ให้มาเขียนในบทเฉพาะกาลก็เท่านั้น ส่วนกรธ.จะแก้ไขตามข้อเสนอหรือไม่นั้น ยังพิจารณาไม่ถึง เพราะขณะนี้พิจารณาถึงหมวดสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ การหารือไม่ได้พูดถึงแนวทางและกลไกใดๆ มีเฉพาะเรื่องที่คนอยากได้ แต่เขียนข้างในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะเขียนในบทเฉพาะกาล และกรธ.ทำงานคืบหน้าตลอดไม่ได้หยุดชะงัก เพื่อรอคำชี้แจงจากครม. ส่วนข้อเสนอแนะข้อ 16 ของครม.จะพิจารณาเมื่อใดนั้น ขณะนี้ยังพิจารณาไม่ถึง จะพิจารณาไล่ไปตามลำดับ

ต่อกรณีคำถามที่ว่า กรธ.คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องมีกลไกพิเศษใดๆมาบังคับใช้ในช่วงแรกของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ นายมีชัย กล่าวว่า ไม่น่าจะมี เมื่อถามย้ำว่า กลไกที่กรธ.วางไว้ถือว่าเพียงพอ สำหรับข้อเสนอของรัฐบาลข้อที่ 16 หรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า วางไว้ข้างในร่างรัฐธรรมนูญเยอะแล้ว ก็ต้องไปดูอีกครั้งว่ายังขาดอะไรอยู่ ก็จะต้องพิจารณาร่วมกับความเห็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ยังมีกลอีกมากที่เสนอมา เราจะต้องไปดูอีกครั้ง ส่วนข้อเสนอของรัฐบาลโดยเฉพาะข้อ 16 ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น ตนยืนยันว่าไม่มี ที่เสนอมาส่วนใหญ่ตอนนี้ก็กำลังดูข้อเสนอของหลายฝ่ายที่เสนอมา พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ข้อเสนอของใครพอจะใส่ในร่างรัฐธรรมนูญได้เราก็จะนำไปใส่ ร่วมถึงข้อเสนอของครม.ที่ติติงในบางประเด็น อย่างไรก็ตาม ตนไม่รู้สึกกดดันกับข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้ทำอะไร เหมือนผู้สื่อข่าวเขียนบทความเสร็จแล้วลืมบางประเด็นก็ไปเขียนไว้ในย่อหน้าสุดท้าย และยืนยันไม่มีแนวคิดตั้งองค์ใดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว ยืนยันคสช.จะไม่มีอำนาจเหนือรัฐบาล ทุกคนต้องไปหมด

(ที่มา : มติชนออนไลน์)

กษิต ชี้ไม่มีเหตุผล อยู่มา 2 ปีไม่มีผลงาน แต่กล้าขอเปลี่ยนผ่านอีก 5 ปี  

24 ก.พ.59 นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสปท. กล่าวถึง ข้อเสนอที่ 16 ของครม. ดังกล่าวว่า รัฐบาลคสช. เข้ามาเพื่อแก้ไขความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีภารกิจวางรากฐานประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่าง ตลอดจนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และปราบทุจริตเอาคนผิดมาดำเนินคดี เป็นรัฐบาลเปลี่ยนผ่านก่อนมีการเลือกตั้งปลายปี 2560 ตามโรดแมป ก่อนกลับเข้าสู่กรมกอง แต่ตอนนี้ทุกอย่างที่คสช.ทำยังไม่ตอบโจทย์สักข้อ ความปรองดองยังไม่เกิดขึ้น การปฏิรูปไม่มีอะไรคืบหน้า คดีจำนำข้าวก็ยื้อกันไปมา
 
นายกษิตกล่าวอีกว่า อยู่ดีๆจะมาขอต่ออายุอีก 5 ปี ช่วงจะลาจากเวที ทั้งที่อยู่มาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีผลงาน จึงเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล ทั้งนี้รัฐบาลต้องบอกประชาชนให้ได้ว่าที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง แล้วจากนี้จนถึงปลายปี 2560 จะทำอะไรอีกบ้าง ยังมีอะไรค้างอยู่อีกหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ให้อยู่ต่อ แต่ถ้าไม่มีเหตุผล ก็ไม่สมควรอยู่ต่อไป การร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ ต้องรับฟังว่า มวลชน กปปส. นปช. ต้องการอะไร ไม่ใช่ทำตามความต้องการของตัวเอง หรือกำหนดเนื้อหาให้ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนเป็นใหญ่ ดังนั้นทุกอย่างต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือเหมือนร่างรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะสุดท้ายอะไรก็ตามที่ไม่สนองต่อประชาชนส่วนใหญ่ รับรองว่าไปไม่รอด ต้องถามว่า นายกรัฐมนตรีอยากทำเพื่อชาติหรือเพื่อตัวเอง 

(ที่มา : เนชั่น)

พท.ชี้อยู่ต่อ 5 ปี คือการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีการวางกรอบปฏิรูป 20 ปี และ คสช.จะอยู่ดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีก 5 ปี ว่า ถ้าฟังที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดก็มีอยู่ 2 ประเด็นคือ 1.ช่วงเปลี่ยนผ่านจะทำอย่างไรให้ คสช.มีอำนาจในการที่จะดูแลการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง และ 2.ในรัฐธรรมนูญให้เขียนวางกรอบการปฏิรูปเอาไว้ 20 ปี แต่ คสช.จะขอมีอำนาจอยู่เพียง 5 ปี ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ซึ่งหากถามความเห็นตน มองว่า 1.เป็นการสืบทอดอำนาจ และ 2.เป็นการวางเข็มทิศในการบริหารประเทศไว้ เพราะจากนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ในกำกับ ให้ดำเนินการไปตามกรอบการปฏิรูปนี้ไป 20 ปี ซึ่งตรงนี้นายกฯก็โยนให้ กรธ.ไปเขียนว่าจะให้หน่วยงานไหนมากำกับดูแล ทั้งนี้ เมื่อจะคืนอำนาจให้ประชาชนก็ต้องให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่ไปคิดแทนประชาชน เพราะจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปตลอด แต่กรอบที่วางไว้นั้นกระด้างและไม่ยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศ หรือปรับการพัฒนาให้ทันโลกได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานั้นอยู่ที่สถานการณ์และวิธีการของรัฐบาลในขณะนั้นมากกว่า และการอยู่ต่ออีก 5 ปีนั้น เห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจ

(ที่มา : มติชนออนไลน์)

อุดม อดีตสปช. หนุน ชี้เหมือนคนเพิ่งหายป่วยต้องพักฟื้น

24 ก.พ.59 นายอุดม ทุมโฆษิต อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงข้อเสนอข้อที่ 16 ดังกล่าว ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวที่จะให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง เพราะประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เหมือนคนเพิ่งหายป่วยต้องพักฟื้นให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติ ดังนั้น จึงควรมีกลไกขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนผ่านและต้องเป็นกลไกที่เหมาะสม

(ที่มา : โพสต์ทูเดย์)

ณัฐวุฒิ ชี้ประยุทธ์ต้องการสืบทอดอำนาจ 

24 ก.พ.59 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า คำอธิบายเรื่องช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ทำให้คำพูดของนายบวรศักดิ์ที่ว่า เขาอยากอยู่ยาว เป็นรูปธรรมชัดขึ้นทันที อย่าไปว่าใครเลยหากถูกมองว่าสะท้อนเจตนาสืบทอดอำนาจ เพราะเนื้อหาแบบนี้ จะทำให้การเลือกตั้งมีความหมายเพียงแค่การเฟซออฟอำนาจรัฐจากเผด็จการเต็มรูปแบบเป็นรัฐบาลเลือกตั้งที่อยู่ใต้อำนาจเผด็จการ ทั้งๆที่ไม่มีหลักประกันเลยว่า ถึงจุดนั้นแล้วทุกอย่างจะสิ้นสุด เหมือนโรดแมปวันนี้ที่ทดเวลาบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลา อยู่ไป 5 ปีหากอ้างว่าต้องประคับประคองยุทธศาสตร์ชาติให้เดินหน้า รวมแล้วใช้เวลาอีก 20 ปี ใครยืนยันได้บ้างว่าจะไม่เกิดขึ้นแบบนี้  

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า แม้จะยิ่งง่ายสำหรับการอธิบายข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวยังหวังว่าจะไม่มีเนื้อหาเช่นนี้ถึงจะอยู่ในบทเฉพาะกาลก็ตาม เพราะหากคงทุกมาตราที่เป็นปัญหาไว้แล้วเติมข้อเสนอครม.ลงไป เมื่อถึงขั้นตอนประชามติเท่ากับเอาของบูดเน่าไปถามประชาชนว่าจะรับไม่รับ ถือว่าดูแคลนกันเกินไปหรือไม่ ประเด็นนี้เหมือนดาวมฤตยูกำลังเคลื่อนเข้าสู่ร่างรัฐธรรมนูญ อิทธิพลของมันจะทำให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำโดยประชามติอย่างถล่มทลาย หากผู้มีอำนาจยังยืนยันเดินหน้าคงต้องรอดูบทสรุปในขั้นสุดท้าย  
 
“อย่าไปมัวตอบโต้นายทักษิณอยู่เลย ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ใครเห็นก็ต้องเป็นห่วงประเทศไทย ข้อเสนอเจรจาถือเป็นการหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างคนมีปัญญาและวุฒิภาวะ ส่วนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ระหว่างใครกับใครนั้น อยู่ที่รัฐบาล ถ้าเห็นว่าที่ทำอยู่ถูกถ้วนดีแล้วก็เอาที่สบายใจ แต่การยกตัวอย่างทีมฟุตบอลเชลซีกับแมนฯซิตี้นั้นต้องระวังหน่อย เพราะนั่นเขากีฬามาตรฐาน แข่งกันในกติกาสากล ทั่วโลกดูเข้าใจ แต่ของไทยวันนี้ ระบบแบบนี้มีชาติไหนดูรู้เรื่องบ้าง แค่เห็นนายทักษิณที่ถูกยึดอำนาจมา 10 ปียังมีคนเชื่อมั่นศรัทธา เลือกตั้งชนะทุกที ส่วนพวกที่รุมกล่าวหามาตลอดผูกปีแพ้จนเดี๋ยวนี้ ก็ไม่รู้จะอธิบายกันยังไงแล้ว” นายณัฐวุฒิ กล่าว
 

 

ทักษิณ อัด คสช. อยู่ต่อ เศรษฐกิจไทยจะยากลำบากขึ้น ชี้ รบ.ทหารทหารไม่มีวิสัยทัศน์

23 ก.พ.59 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ประเทศ­สิงคโปร์ โดยเตือนว่า การที่ คสช. ต้องการจะอยู่ในอำนาจให้ยาวนานออกไปอีก จะยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจของไทยที่ย่ำแย่อย­ู่แล้ว ประสบความยากลำบากยาวนานขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่มีวิสัยทัศน์และควา­มสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้

(ที่มา :  BBC Thai )

 

เสนอข้อที่ 16 ของ ครม. :

ข้อ 16 ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยงกับร่างรัฐธรรมนูญมาก ส่วนใหญ่เป็นความไม่แน่ใจ หรือไม่วางใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ วิธีการที่จะได้คนมาสู่ระบบ และอำนาจหน้าที่ แต่ที่ ครม. เป็นห่วงคือทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากโกลาหลความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลว ดังเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้งและภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะหากเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติอย่างรุนแรง ประเทศอาจจะตกอยู่ในวังวนหรือบ่วงแห่งการสู้รบ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแทรกแซงกลไกของรัฐ การใช้วาจาก่อให้เกิดความเกลียดชัง การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
       
และในครั้งนี้อาจหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมอันเป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏในต่างประเทศ และยากแก่ความเข้าใจของประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศจะสะดุดหรือล้มเหลวจนเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ ครม. จึงเห็นว่าบางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสองเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงให้มาก ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net