Skip to main content
sharethis

กรณี ครม.มีมติผ่อนผันแรงงานข้ามชาติสองกลุ่ม ต่อไปอีก 2 ปี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติชี้ขัดแย้งกับนโยบายรัฐไทยในการพยายามพัฒนาสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ เสนอบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ

2 มี.ค. 2559 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องข้อสังเกตต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ปี 2559 รายละเอียดมีดังนี้ 

00000

จดหมายเปิดผนึกเรื่องข้อสังเกตต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการบริหารจัดการ
แรงงานต่างด้าว ปี 2559


2 มีนาคม 2559

เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2559

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ปี 2559 โดยจะมี การผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) และกลุ่มที่ประเทศต้นทางออกเอกสารให้ (กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว) ให้อยู่อาศัยและทำงาน ในประเทศไทยได้เป็นเวลาสองปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ทั้งนี้ จะให้แรงงานข้ามชาติ ทั้งสองกลุ่มมารายตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ ขออนุญาตทำงาน และจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 29 กรกฎาคม 2559 ดังที่ปรากฏในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

แนวทางการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรีจะเป็นการขยายเวลาการผ่อนผันให้แก่แรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่กำลังจะสิ้นสุดการผ่อนผัน แต่หากพิจารณาจากหลักการและการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นแล้ว ทางเครือข่าย องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) จึงมีประเด็นข้อสังเกตต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น ดังนี้

1. สถานะทางกฎหมายของกลุ่มแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อประเทศต้นทางได้ออกเอกสารให้แล้วทำให้แรงงานถูกพัฒนาสถานะเป็นคนที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย แต่เมื่อแรงงานกลุ่มนี้จะต้องมารายงานตัวตามมติคณะรัฐมนตรี และได้รับเอกสารที่เรียกว่าบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือบัตรชมพู (ให้สิทธิในการอาศัยอยู่และทำงานในราชอาณาจักร) แทนการถือหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงาน อันจะอาจจะทำให้แรงงานกลุ่มนี้กลับไปสู่การมีสถานะการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ได้ชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราว ซึ่งแนวทางนี้ย่อมขัดแย้งกับนโยบายในการพยายามพัฒนาสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติมาตั้งแต่ปี 2547

2.กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนตามนโยบายของ คสช.เมื่อปี 2557-2558 ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้ชั่วคราว หรือเรียกว่า กลุ่มถือบัตรสีชมพู โดยได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยก่อนครบวาระการอนุญาตแรงงานกลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ/ตรวจสัญชาติ ซึ่งทำให้มีแรงงานกลุ่มดังกล่าวบางส่วนได้เดินทางกลับประเทศต้นเพื่อให้มีหนังสือเดินทาง/เอกสารรับรองบุคคลจากประเทศต้นทาง แต่ผลของมติ ครม.ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่อนุญาตให้แรงงานกลุ่มนี้ยังคงทำงานต่อไปได้อีก 2 ปีและถือบัตรสีชมพูแทนการอาศัยและทำงานในราชอาณาจักร อันจะเป็นผลทำให้การเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของผู้ถือบัตรกลุ่มนี้ยุติลง และยังไม่มีกระบวนการเยียวยาสำหรับกลุ่มแรงงานที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยื่นเอกสารเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติแล้วประมาณ 6 แสนคน 

3.การยุติการพิสูจน์สัญชาติจะทำให้ขาดช่องทางที่สำคัญในการพัฒนาสถานะของแรงงานให้กลาย เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายโดยความร่วมมือระหว่างไทยและประเทศต้นทาง อันจะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตัวแรงงาน ประเทศไทย และประเทศต้นทาง ซึ่งเคยเป็นความสำเร็จในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน การขาดช่องทางการพิสูจน์สัญชาติในฐานะกลไกการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายนั้น อันอาจจะทำให้ขาดทิศทางหรือแผนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบในระยะยาว

4. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจำนวนหนึ่งได้เข้าสู่การเป็น ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน มีการจ่ายสมทบ ดังนั้นเมื่อกลับไปใช้บัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งการดำเนินการของสำนักงานประกันสังคมยังมีเงื่อนไขที่จำกัดในการเป็นผู้ประกันตนของแรงงานข้ามชาติ ของกลุ่มที่ไม่มีหนังสือเดินทาง จะส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิในฐานะผู้ประกันตนของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ นอกจากนั้น การที่แรงงานข้ามชาติไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคมอันเนื่องมาจากข้อจำกัดในเรื่องเอกสารแสดงตน อาจส่งผลให้เกิดการผลักภาระความรับผิดชอบในเรื่องประกันสุขภาพไปที่แรงงานข้ามชาติ โดยขาดความรับผิดชอบในเรื่องสวัสดิการในลักษณะดังกล่าวของนายจ้าง

ต่อประเด็นข้อสังเกตข้างต้น เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและองค์กรที่มีรายนามแนบท้ายนี้ จึงมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบอย่างยั่งยืน ดังนี้

1.  รัฐบาลไทยควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานภาพการเข้าเมืองของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ประเทศต้นทางออกเอกสารให้ (กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ) ในรูปแบบ การขอต่ออายุเอกสารหนังสือเดินทาง/ เอกสารแทนหนังสือเดินทาง และขยายการตรวจลงตราวีซ่าในกลุ่มแรงงานกลุ่มนี้ อันจะส่งผลโดยตรงต่อการลดจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามมาตรการนี้

2.  รัฐบาลไทยควรพิจารณาแนวทางการประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อให้เกิดการพิสูจน์สัญชาติ อันเป็นแนวทางที่เปิดให้ประเทศต้นทางได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และเอื้ออำนวยให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบในระยะยาว

3.  กรมการจัดหางาน และกระทรวงแรงงาน ควรมีการประสานงานและแสวงหาแนวทางการดำเนินการเรื่องประกันสังคม สำหรับแรงงานข้ามชาติกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม รวมทั้งพิจารณาขยายการเข้าถึงประกันสังคม ไปยังกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผัน อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบประกันสังคม ลดปัญหาการจัดการด้านสุขภาพและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติที่ต้อง ดำเนินการโดยกรมการจัดหางาน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการระบบสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติของไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net