Skip to main content
sharethis

Peace,Moving forward(4) ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เผยรายงานผลสำรวจสถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในชายแดนใต้ ยืนยันการสื่อสารคือกลไกสำคัญในการสร้างสันติภาพ เผยภูมิทัศน์การสื่อสารในพื้นที่เปลี่ยนไป คนเปิดรับสื่อที่หลากหลายและโอกาสของสื่อ 2 ภาษาแม้คนให้คะแนนดับไฟใต้แค่ผ่าน ส่วนความเชื่อมั่นต่อการพูดคุยสันติภาพยังเปราะบาง พร้อม 5 ข้อเสนอต่อวาระข่าวสารที่สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ถกกันเพราะยิ่งเปิดพื้นที่สื่อสารคนก็ยิ่งเชื่อมั่นแนวทางสันติวิธีและหนุนกระบวนการสันติภาพ

“การสื่อสารคือกลไกสำคัญในการสร้างสันติภาพ” มีผลการศึกษายืนยันแล้วนั่นคือ “รายงานการสำรวจสถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

เป็นผลการสำรวจของศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ (CPCS) คณะวิทยาการสื่อสาร(วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่นำเสนอโดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดี วสส. ผ่านเวทีเสวนาสะท้อนย้อนคิดข่าวสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่วสส. ม.อ.ปัตตานี

คณะผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ประกอบด้วย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, กุสุมา กูใหญ่, สุวรา แก้วนุ้ย, พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์, สุธิรัช ชูชื่น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง CPCS กับสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ในโครงการ“การศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนของสานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ผลสำรวจสถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพ

ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอสรุปโดยภาพว่า การสำรวจนี้ดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2558 –มกราคม 2559 เพื่อศึกษาการเปิดรับข่าวสารของประชาชนผ่านสื่อมวลชน สื่อชุมชนและสื่อสังคม ความคิดเห็นต่อข้อมูลข่าวสารและบทบาทของสื่อในการหนุนเสริมการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยสุ่มตัวอย่างประชากร 1,205 ตัวอย่างใน 200 ชุมชน กระจายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นชาย 622 คน (51.6%) หญิง 583 คน (48.4%) มีอายุเฉลี่ย 38 ปี นับถือศาสนาอิสลาม 82% และศาสนาพุทธ 18% สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย 30.4% ประถมศึกษา 21.9% การศึกษาศาสนาอิสลามระดับกลาง (มูตาวัตซิส) 23.7% ระดับชั้นตาดีกา 22.6% และมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน 56.4%

ใช้แนวคิดการสื่อสารสันติภาพและความรู้เท่าทันสื่อ

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอว่า การสำรวจครั้งนี้ใช้แนวคิดด้านการสื่อสารสันติภาพ (Peace Communication) และความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and Information Literacy) เป็นกรอบในการศึกษาซึ่งมีการใช้ในหลายพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ติมอร์-เลสเตในปี 2554 อัฟกานิสถานในปี 2553

คณะผู้วิจัยมีสมมติฐานว่าโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะมีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนและจะทำให้ผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้ทราบข้อกังวล ความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชนและนำมาใช้ในการกำหนดประเด็นการสร้างสันติภาพต่อไป

ภูมิทัศน์การสื่อสารในชายแดนภาคใต้

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอต่อไปว่า การสำรวจพบว่าโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่กลุ่มตัวอย่างเปิดรับข่าวสารมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือข่าวสารจากคนสนิทเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนและข่าวสารจากวิทยุ แต่มีแนวโน้มที่น่าสนใจคือการเปิดรับข่าวสารจากสื่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่นไลน์และสื่ออินเทอร์เน็ต

เปิดรับทั้งจากสื่อมวลชน สื่อบุคคลและสื่อใหม่

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนออีกว่า นอกจากนี้ แหล่งข่าวสารที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อถือ 5 อันดับแรก ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ข่าวสารจากมัสยิดคนสนิทหรือคนในชุมชนและจากอินเทอร์เน็ตตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนเปิดรับข่าวสารจากสื่อที่หลากหลายทั้งสื่อมวลชน สื่อบุคคลและสื่อใหม่

ประเด็นที่คนชายแดนใต้ติดตาม

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนออีกว่า สำหรับประเด็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจติดตามมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ เหตุรุนแรงรายวัน ปัญหายาเสพติดและแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ ส่วนปัญหาด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพและด้านการศึกษาเป็นประเด็นรองลงมา

ประเด็นข่าวสารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบั่นทอนสันติสุขในพื้นที่และสื่อควรให้ความสำคัญ

โอกาสของการสื่อสาร 2 ภาษา

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอด้วยว่า ภาษาที่ใช้ในการรับข่าวสารและความต้องการใช้ภาษานั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้ภาษาไทยในการรับสื่อโทรทัศน์ 87.2% วิทยุ 79.9% และหนังสือพิมพ์ 89.1%แต่ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นหลักในการสื่อสารในครอบครัว

การสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ต้องการใช้ภาษามลายูในการรับข่าวสารก็มีไม่น้อยคิดเป็น 18.8% สำหรับสื่อวิทยุ และ 12.2% สำหรับสื่อโทรทัศน์ ส่วนหนังสือพิมพ์มีเพียง 8.6% เนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษาเขียนในภาษามลายูถิ่น

ทัศนคติต่อสื่อในการหนุนเสริมสันติภาพ

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอว่า ประเด็นทัศนคติต่อข่าวสารและบทบาทสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการหนุนเสริมสันติภาพนั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าข่าวสารในสื่อมวลชนทุกวันนี้มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.41 จากคะแนนเต็ม 5) รองลงมาคือเห็นว่าสื่อมวลชนยังคงมุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารรัฐบาล (ค่าเฉลี่ย 3.29) สื่อมวลชนทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 3.25) และสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารที่เน้นความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง (ค่าเฉลี่ย 3.24)

ทัศนะต่อสื่อมวลชน

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอว่า ส่วนทัศนะต่อบทบาทสื่อมวลชนในการรายงานสถานการณ์ภาคใต้ 5 อันดับแรกคือ สื่อมวลชนควรตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขข้อผิดพลาดของข้อมูลเมื่อทราบโดยทันที (ค่าเฉลี่ย 3.72) ควรนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด (ค่าเฉลี่ย 3.70) ควรคอยติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่และรายงานโดยเร็ว (ค่าเฉลี่ย 3.61) ควรเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายและยอมรับความเห็นต่าง (ค่าเฉลี่ย 3.52) และควรนำเสนอรายละเอียดข้อมูลการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้เห็นต่าง (ค่าเฉลี่ย 3.40)

ทัศนะต่อสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชน

ผศ.ดร.กุสุมา นำเสนอว่า สำหรับบทบาทของสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยที่สื่อภาคประชาชน เช่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ท้องถิ่น ควรมีบทบาทคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยในประชาชนในพื้นที่ (ค่าเฉลี่ย 3.39) ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบกับคนอื่น (ค่าเฉลี่ย 3.35)

แก้ปัญหาไม่สงบให้แค่ผ่าน

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอว่า ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความสำเร็จในการจัดการปัญหาความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.32 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าผ่านกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย โดยกลุ่มตัวอย่างที่ให้คะแนนผ่านมีถึง76%

ส่วนความพึงพอใจต่อนโยบายและการทางานของรัฐบาลปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนคิดเฉลี่ย 5.58 โดยมี 80.8% ที่ให้คะแนนเกินครึ่ง

ความเชื่อมั่นต่อการพูดคุยสันติภาพยังเปราะบาง

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอว่า การสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์ต่างจากรัฐนั้น กลุ่มตัวอย่าง 78.2% ให้คะแนนผ่านเกณฑ์คือค่าเฉลี่ย 5.39จากคะแนนเต็ม 10

ในขณะที่คะแนนความเชื่อมั่นต่อความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขนั้น กลุ่มตัวอย่าง78.6% ให้คะแนนผ่านเกณฑ์คือค่าเฉลี่ย 5.51

กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้มีอุดมการณ์ต่างจากรัฐ และฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) เกินครึ่งเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มตัวอย่าง 77.7% ให้คะแนนฝ่ายรัฐผ่านเกณฑ์คือค่าเฉลี่ย 5.58

กลุ่มตัวอย่าง 80.1% ให้คะแนนฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกผ่านเกณฑ์ คือค่าเฉลี่ย 5.53 และกลุ่มตัวอย่าง 71.4% ให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อฝ่ายผู้มีอุดมการณ์ต่างจากรัฐผ่านเกณฑ์คือค่าเฉลี่ย 5.19

คนยิ่งรู้ทันสื่อยิ่งหนุนกระบวนการสันติภาพ

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอว่า การศึกษาครั้งนี้ได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นกับระดับคะแนนความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการและความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขด้วย

โดยผลการทดสอบยืนยันในทางสถิติว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการคิดวิพากษ์บทบาทสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นมาก จะให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีระดับการคิดวิพากษ์บทบาทของสื่อน้อยก็จะรู้สึกเชื่อมั่นน้อยเช่นเดียวกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยิ่งประชาชนสามารถใช้เหตุใช้ผลในการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้มากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขมีสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานสื่อสารในพื้นที่รวมทั้งรัฐบาล จึงควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพของข่าวสารและเปิดพื้นที่การสื่อสารให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

5ข้อเสนอกับวาระข่าวสารเพื่อสันติภาพ

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอด้วยว่า เสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพูดคุยและการแสวงหาเป้าหมายร่วมที่พอจะเป็นไปได้ระหว่างคู่เจรจา ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ประเด็นที่ประชาชนเห็นว่าควรทำหรือมีมาตรการโดยเร่งด่วน 5 อันดับแรกมีดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงหรือปฏิบัติการที่กระทบต่อผู้บริสุทธิ์

2.การแก้ไขปัญหายาเสพติด

3.การสร้างเขตพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนนำร่อง

4.การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้มีความเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม การตั้งกลไกซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัยและ

5.การมีหลักประกันว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจะเป็นวาระแห่งชาติที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ความต้องการสอดคล้องกับข้อเสนอสื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ถกกัน

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนออีกว่า จากข้อเสนอดังกล่าวเมื่อพิจารณาถึงความต้องการข่าวสารของประชาชน ได้แก่ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุรุนแรงรายวัน การแก้ปัญหาสังคมเช่นยาเสพติด แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐและการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข กับข้อเสนอของประชาชนในการสร้างสันติภาพนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้ประชาชน การพัฒนาสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ กระบวนการยุติธรรม และการมีกลไกตรวจสอบความจริง

ดังนั้น วาระข่าวสารที่สื่อมวลชนและสื่อในพื้นที่พึงพิจารณานำเสนอจึงควรเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ เพื่อเปิดพื้นที่การถกเถียง การสร้างความชัดเจนของปมเงื่อนไขความขัดแย้ง และการแสวงหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน

การสื่อสารคือกลไกสำคัญในการสร้างสันติภาพ

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอว่า ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ช่องทางการสื่อสารในพื้นที่มีความหลากหลาย สื่อท้องถิ่น สื่อบุคคลและสื่อใหม่เป็นสื่อที่ประชาชนให้ความสำคัญนอกเหนือจากสื่อมวลชน การขยายตัวของการรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคม เช่น เฟสบุ๊คและไลน์เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากเปิดโอกาสให้กระจายข้อมูลข่าวสารทั้งในวงกว้างและกลุ่มเฉพาะ

การตรวจสอบข่าวสารและข่าวลือที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพในสื่อสังคมจึงต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและแหล่งข่าวสารที่เชื่อถือได้อื่นๆ ประกอบ สื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติการสื่อสารจึงควรตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารและนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อการพิจารณาอย่างรอบด้านของผู้รับสารด้วย

ยิ่งเปิดพื้นที่สื่อสาร คนยิ่งเชื่อมั่นแนวทางสันติวิธี

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอว่า ผลการศึกษาที่พบเป็นการยืนยันแนวคิดที่ว่า การพูดคุยสันติภาพไม่ควรจำกัดแค่เพียงระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้โดยผ่านช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ด้วย ดังนั้น การเปิดพื้นที่การสื่อสารจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองและสันติวิธี

การสื่อสารเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพ

ผศ.ดร.กุสุมานำเสนอทิ้งท้ายว่า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสื่อสารที่เป็นธรรมและสมดุลจะช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจและแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนบนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้และการใช้เหตุผลอันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่

“และนั่นจึงเป็นการยืนยันด้วยว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขนั้นเป็นวิธีการที่มีเหตุมีผลมากกว่าการใช้ความรุนแรงหรือการโฆษณาชวนเชื่อ และส่งผลให้การสร้างสันติภาพในพื้นที่นี้เป็นจริงและยั่งยืน”

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเสียงของประชาชนคือเสียงแห่งสันติที่ต้องรับฟัง

เมื่อสันติภาพเดินหน้า: การปรับตัวของผู้คนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในรอบปีที่ผ่านมา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Peace, Moving forward(1) ย้ำสันติภาพจะเป็นไปไม่ได้ หากไร้ซึ่งการสื่อสาร

Peace,Moving forward(2) ดุลยปาฐก“อาวัง ญาบะ” มาราปาตานีกับข้อท้าทายของสันติภาพ

Peace,Moving forward(3) “พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง” รัฐขยับเป้าการพูดคุยฯ จาก10เหลือ3ปี

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

รวมถ้อยแถลงและเอกสารประกอบในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 "สันติภาพเดินหน้า" (Peace, Moving Forward)

คลิกชมภาพงานที่

WeWatchDsp Coordinate

ประมวลภาพ วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 Peace, Moving Forward

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net