เผย 'ไอซ์แลนด์' เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับพนักงานหญิง

'ไอซ์แลนด์' เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงานหญิงจาก 29 ชาติในกลุ่มประเทศ OECD มีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนถึงร้อยละ 44 ส่วนสวีเดนมีผู้หญิงนั่งในรัฐสภาถึงร้อยละ 44  ด้านญี่ปุ่น, ตุรกี และเกาหลีใต้รั้งท้าย 
 
6 มี.ค. 2559 เนื่องในวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีถือเป็นวันสตรีสากล (International Women's Day) ซึ่งเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานหญิงโดยตรง เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คนงานหญิงออกมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง การลาคลอดบุตรโดยไม่ต้องลาออกจากงาน ค่าแรงที่ดีขึ้น เป็นตัน (อ่านเพิ่มเติม "ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เสมอภาค: วันสตรีสากล 8 มีนาคม") 
 
 
ที่มา: economist.com
 
เว็บไซต์ economist.com ได้จัดทำดัชนีผู้หญิงและการทำงาน (Index for women and work) ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  ซึ่งได้นำค่าเฉลี่ยต่าง ๆ มาเป็นเกณฑ์ชี้วัด เช่น สัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภา, สัดส่วนผู้บริหารหญิงในองค์กรเอกชน, ระดับการศึกษา, การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน และอัตราช่องว่างค่าจ้างชาย-หญิง เป็นต้น ดัชนีนี้มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่าประเทศไอซ์แลนด์ได้คะแนนถึง 82.6 คะแนน โดย 5 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุดประกอบไปด้วย 1) ไอซ์แลนด์ 82.6 คะแนน 2) นอร์เวย์ 79.3 คะแนน 3) สวีเดน 79.0 คะแนน 4) ฟินแลนด์ 73.8 คะแนน และ 5) ฮังการี 70.4 คะแนน ส่วน 5 อันดับที่ได้คะแนนต่ำสุดประกอบไปด้วย 1) เกาหลีใต้ 25.0 คะแนน 2) ตุรกี 27.2 คะแนน 3) ญี่ปุ่น 28.8 คะแนน 4) สวิตเซอร์แลนด์ 40.6 คะแนน และ 5) ไอร์แลนด์ 48.4 คะแนน ทั้งนี้คะแนนเฉลี่ยของทั้งกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ 56.0 คะแนน
 
กลุ่มประเทศนอร์ดิกที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของการจัดอันดับครั้งนี้ มีสัดส่วนผู้หญิงในอัตรากำลังแรงงานใกล้เคียงกับผู้ชาย ในด้านการศึกษา ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ผู้หญิงได้รับการศึกษาในระดับสูงมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย ส่วนนอร์เวย์มีอัตราช่องว่างค่าจ้างชาย-หญิง (gender wage-gap) ต่ำมากคือร้อยละ 6.3 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD ทั้งหมดที่มีอัตราช่องว่างค่าจ้างชาย-หญิงอยู่ที่ร้อยละ 15.5 นอกจากนี้ไอซ์แลนด์ยังมีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนถึงร้อยละ 44 ส่วนสวีเดนมีผู้หญิงนั่งในรัฐสภาถึงร้อยละ 44 ด้วยเช่นกัน (ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรัฐสภาทั่วโลก) และฮังการีประเทศที่มาอันดับ 5 ก็พบว่าเป็นประเทศที่มีอัตราช่องว่างค่าจ้างชาย-หญิง ต่ำสุดคือร้อยละ 3.8
 
อนึ่งข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่ากลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 ปัจจุบัน OECD ประกอบด้วยสมาชิก 34 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์  โปแลนด์  โปรตุเกส  สโลวาเกีย  สโลเวเนีย สเปน  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และ 1 องค์กร คือสหภาพยุโรป นอกจากนี้ OECD ยังร่วมมือและมีข้อตกลงต่างๆ กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกว่า 70 ประเทศ ผ่าน Centre for Co-operation with Non-Members (CCNM)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท