25 ปี เขื่อนปากมูล: อาชญากรรมในเงาการพัฒนา

เดอะซีรีย์วันหยุดเขื่อนโลก(ตอนที่ 1) ย้ำปมปัญหา 25 ปีเขื่อนปากมูล บทเรียนประวัติศาสตร์การพัฒนาที่ผิดพลาด-การพัฒนาที่มองไม่เห็นหัวคนจนของรัฐไทย

ทางเข้าห้องควบคุมประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล

เป็นเวลาเกือบ 25 ปีแล้วหากนับตั้งแต่วันที่ศาลเพียงตาของชาวบ้านซึ่งสร้างไว้เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถูกรื้อเพื่อเปิดทางสร้างเขื่อนในวันที่ 15 พ.ค. 2534 ซึ่งประเทศไทยในช่วงนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. โดยมี อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าการอนุมัติงบประมาณสำหรับการสร้างเขื่อน เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีก่อนหน้าในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน โดยอนุมัติงานประมาณทั้งสิ้น 3,880 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ที่ได้รับจากธนาคารโลก 1,940 ล้านบาท

หลังจากวันนั้น ระเบิดลูกแล้วลูกเล่าได้โถมทลายแก่งคันเห่ว ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัย และที่วางไข่ปลานานาชนิด เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนซึ่งเชื่อว่าจะนำพาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติทั้งด้านพลังงานไฟฟ้า และด้านการชลประทาน เขื่อนซึ่งรัฐเชื่อว่า เป็นเสมือนตัวแทนของการพัฒนา

เพียงเวลา 3 ปีเท่านั้น เขื่อนคอนกรีตบดอัดแน่น สูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 136 เมกกะวัตต์ ก็ตั้งตระหง่านอยู่กลางลำน้ำมูล ที่หมู่บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยอยู่ห่างจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำมูล กับแม่น้ำโขงประมาณ 5.5 กิโลเมตร และห่างจากจุดที่เคยมีการศึกษาเพื่อสร้างเขื่อนก่อนหน้าบริเวณแก่งตะนะเพียง 1.5 กิโลเมตร เขื่อนขนาดใหญ่ ทอดยาวพาดกลางลำแม่น้ำมูล พร้อมเดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลัง ท่ามกลางเสียงคัดค้านต่อต้านจากชาวบ้านซึ่งดังขึ้นตั้งแต่ก่อนการสร้าง จนการก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ จวบจนถึงปัจจุบันนี้

ปิดประตูเขื่อน ปิดประตูวิถีชีวิต

การเรียกร้องของชาวบ้านเริ่มต้นจากผู้คนที่ประกอบอาชีพหาปลาในลำน้ำมูล และกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนกล่าวคือ มีความจำเป็นต้องอพยพ ย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่พื้นที่อื่น เนื่องจากเขาเหล่านั้นอยู่ใกล้กับพื้นที่สร้างเขื่อนมากเกินไป อาจจะได้รับผลกระทบจากการระเบิดแก่งหิน และผลกระทบน้ำท่วม หลังจากเขื่อนสร้างเสร็จ

ข้อเรียกร้องในช่วงแรกเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นว่า การสร้างเขื่อนแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสอดรับกับความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม พูดให้ถึงที่สุดคือเป็นไปเพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ซึ่งระบุว่า ภาคอีสานมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 820 เมกะวัตต์ ทว่ากำลังผลิตในตอนนั้นมีเพียง 130 เมกะวัตต์ การสร้างเขื่อนปากมูลที่เชื่อว่ามีกำลังผลิตมากถึง 136 เมกะวัตต์ จึงเป็นตัวเลือกสำคัญที่ช่วยรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม

นั้นเป็นมุมมองของรัฐที่มองเห็นการพัฒนาประเทศเป็นฐานหลัก ทว่าในทางกลับกันสิ่งที่ชาวบ้านมองเห็นคือ การสร้างเขื่อนเท่ากับเป็นการปิดเส้นทาง การเดินทางของปลากว่า 200 สายพันธุ์ในแม่น้ำโขงซึ่งจะเดินทางมาวางไข่ตามเกาะแก่งต่างๆ ในลำน้ำมูลตามฤดูกาลผสมพันธุ์ และมองเห็นวิถีชีวิตที่กำลังจะถูกบดขยี้ จากฟันเฟืองของการพัฒนา รวมทั้งมองเห็นความอยุติธรรมในการจ่ายค่าชดเชย เยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งผู้ที่สูญเสียพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และผู้ที่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพหาปลา

ภายใต้เงามหึมาของการพัฒนา วิถีชีวิตดั้งเดิม การประกอบอาชีพ การทำมาหากิน ของคนส่วนหนึ่งกลับถูกทำลายลง โดยที่เขาไม่มีทางเลือก

การรวมตัวเรียกร้อง คัดค้าน และต่อต้าน จากกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบ นำไปสู่การรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อเพิ่มพลังในการต่อรองกับรัฐบาลในแต่ยุค พวกเขารวมตัวกันเข้าในนามกลุ่มสมัชชาคนจน อีกทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการหลายสถาบัน โดยร่วมดำเนินการต่อรองกับรัฐบาลมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิธีการต่อรองต่างๆ ตั้งแต่การยื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหา ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และเคยบุกยึดพื้นที่บริเวณสะพาน และหัวงานเขื่อน เพื่อยึดระเบิดสำหรับใช้ระเบิดแก่งหิน และเครื่องมือก่อสร้าง เมื่อวันที่ 2  มี.ค. 2536 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และ กฟผ. ให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบกับชาวบ้านให้ชัดเจน เพราะทั้งเรียกร้องค่าชดเชย และการจัดสรรที่อยู่อาศัยที่ทำกินอย่างเป็นธรรม

นั่นเป็นหนึ่งตัวอย่างของการต่อสู้เรียกร้อง เพื่อปกป้องวิธีชีวิตของกลุ่มชาวบ้านที่นิยามตัวเองว่า ‘คนจน’ จากการต่อต้านการสร้างเขื่อน การเรียกร้องค่าชดเชย ที่เป็นธรรม จนล่าสุดการต่อสู้เรียกร้องอยู่ที่การขอให้มีการเปิดประตูระบายอย่างถาวร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในลุ่มน้ำมูล

ตลอดเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่แน่ชัดแล้วว่า เขื่อนปากมูลคือความผิดผลาดของการพัฒนาโดยรัฐ จากรายงานการศึกษาของคณะกรรมการธิการเขื่อนโลก Executive Summary, Pak Mun Case Study (2000) ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย TDRI  ได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการเขื่อนปากมูลนั้นไม่มีความคุ้มทุน ถือเป็นโครงการที่ล้มเหลว ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนแม้จะคำนวณต่อไปอีก 50 ปีตามที่โครงการคาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุที่ว่า ต้นทุนสำหรับการสร้างเขื่อนที่มีการอนุมัติไว้ตอนแรกคือ 135 ล้านเหรียญสหรัญฯ / 3,880 ล้านบาท ทว่าต้นทุนทั้งให้หมดในการก่อสร้างจริงอยู่ที่ 233 ล้านเหรียญสหรัฐฯ / 6,600 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนนี้ไมได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารโลก อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนเองก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เขื่อนปากมูลสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เพียง 40 เมกะวัตต์ จากที่ติดตั้งไว้ทั้งหมด 136 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันผลกระทบที่ได้รับจากเขื่อนปากมูลที่ภาครัฐไม่ได้คาดการณ์มาก่อนก็เกิดขึ้น จากจำนวนพันธุ์ปลาที่มีบันทึกไว้ในปี 2537 จำนวน 265 ชนิดในแม่น้ำมูลนั้นเป็นปลาอพยพที่มาจากแม่น้ำโขงมากถึง 77 ชนิด ขณะที่ปลาถึง 35 ชนิดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่ง แต่แก่งต่างๆ กว่า 50 แก่งได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน และจากการสำรวจล่าสุดพบว่าปลาในแม่น้ำมูลเหลือเพียง 99 ชนิด ขณะที่ปลา 165 ชนิดได้รับผลกระทบจากเขื่อน และมีปลาถึง 56 ชนิดไม่ปรากฏว่าสามารถจับได้อีกเลย

ข้อมูลผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และความไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ถือเป็นความผิดพลาดจากการพัฒนาโดยรัฐ ที่นานาประเทศต่างจับจ้อง ทว่ารายงานดังกล่าวกลับไม่อาจเป็นสิ่งที่รับรู้ได้สำหรับรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม...

เขื่อนปากมูลกับพันธุ์ปลา ในคืนวันที่(ไม่)อาจห้วนกลับ

“เขา(ปลา) จะมาช่วงฤดูฝน เขาจะอุ้มคอกมาเลย มันจะมีปลาสะอี ปลาเปียน ปลาปาก ตอนนี้มันก็เข้ามา แต่ว่ามันมีน้อยนิด มันบ่เยอะเหมือนก่อนๆ” แม่ทัศนี ชัยงาม

“เมื่อก่อนตอนพ่อยังหนุ่ม หาได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 โล สมัยนั้นคนเขารู้กันว่าเงินเดือนนายอำเภอเดือนหนึ่ง ยังไม่สู้เงินที่คนหาปลาทำได้วันหนึ่งเลย แต่พอมีเขื่อนมันก็น้อยละไปเรื่อยแรกๆ ก็ได้ 10 โล แต่หลังๆ มานี่ได้มาสุด 2-3 โลก็ดีแล้ว” เข็มพร เชื่องดี

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลชัดเจนที่สุดคือ รายได้ที่ลดลงของคนหาปลา พ่อเข็มพร เชื่องดี อาชีพหาปลา อายุ 65 ปี ชาวบ้านคันเปื่อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้รายของคนหาปลาลดน้อยลงว่ามาจากการปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดปีหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จ เพราะในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้ความต่างของระดับน้ำทั้งสองฝั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือปลาจากแม่โขงที่เข้ามาในแม่มูลในช่วงฤดูฝน ไม่สามารถเดินทางเข้ามาวางไข่ได้ในช่วงนั้น ปริมาณปลาในแต่ละปีจึงลดลงไปเรื่อยๆ แม้ว่า กฟผ. จะสร้างบันไดปลาโจนซึ่งอ้างว่าสามารถทำให้ปลาว่ายน้ำข้ามเขื่อนผ่านบันไดดังกล่าวเพื่อไปวางไข่ได้ตามฤดูกาล ทว่าในทางปฏิบัติจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

พ่อเข็มพร เชื่องดี อาชีพหาปลา อายุ 65 ปี ชาวบ้านคันเปื่อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

บันไดปลาโจน

“ปีหนึ่งลงทุนสองหมื่น ซื้อข่ายดักปลา ของมันต้องใช้ต้องซ่อมตลอด แต่ปลาที่หาได้มันน้อย ขาดทุนทุกปี ทุกวันนี้ก็แค่หาอยู่หากินไป นานๆจะได้ปลาไปขายสัก เราก็หากกินไปวันๆ จะให้ไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ที่ดินทำไร่ทำนาก็ไม่มี” พ่อเข็มพร เล่าให้ฟังต่อไปถึงความยากลำบากในการทำมาหากินช่วงหลัง จากรายได้หลักที่เคยอิงอาศัยอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังพอทำงานไหวก็ออกเรือหาปลาเพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน นอกเหนือไปจากการหาปลา บางคนก็ต้องหางานอื่นทำ เช่นไปรับจ้างก่อสร้างรายวัน กระนั้นก็ตามงานก่อสร้างที่พอจะทำได้ก็เป็นงานที่ต้องอยู่ไม่ไกลจากบริเวณบ้านที่อยู่อาศัย และที่สำคัญงานก่อสร้างไม่ได้มีให้ทำตลอดปี

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนหาปลาจากคำบอกเล่าของพ่อเข็มพร สอดคลองกับเรื่องราวของแม่ทัศนี ชัยงาม อายุ 53 ปี ชาวบ้านห้วยหมากใต้ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประสบปัญหาการทำมาหากินมานานพอกัน เธอเล่าว่า  ด้วยเหตุที่การทำมาหากินในพื้นที่ลำบากมากขึ้น จึงทำคนหนุ่มคนสาวในหมู่บ้านส่วนมากต้องเข้าเมืองไปทำงานในกรุงเทพ ใครพอมีความรู้ มีการศึกษาสูงก็ได้ทำงานสบายกว่าเพื่อน ใครที่ไม่ได้เรียนสูงก็จะไปรับจ้างเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ก็เป็นแรงงานรับจ้างก่อสร้างในกรุงเทพ

“คิดถึงไหม มันก็คิดถึงเขาอยู่ อยากให้กลับมาบ้าน กลับมาอยู่ด้วยกัน แต่ถ้ากลับมาก็บ่ฮู้จะเฮ็ดเวียก เฮ็ดงานหยั่ง” แม่ทัศนี เล่าต่อไปว่า จากเดิมที่เคยอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากับลูก หาอยู่หากินกับแม่น้ำ ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หลงเหลืออยู่อีกแล้ว ครอบครัวจะได้อยู่กันพร้อมหน้าปีละประมาณครั้งสองครั้ง หลังจากนั้นลูกก็ต้องกลับไปทำงานที่กรุงเทพต่อ และใช่ว่าการแยกกันอยู่ของครอบครัวจะทำให้มีความสบายมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามคนที่อยู่ในท้องถิ่นเดิมก็ยังคงลำบาก ส่วนคงที่เดินหน้าออกไปหาเงิน หาชีวิตใหม่ ก็ตกอยู่ในห้วงความลำบากไม่ต่างกัน เพียงแต่อยู่กันคนละสถานที่เท่านั้นเอง

แม่ทัศนี ชัยงาม อายุ 53 ปี ชาวบ้านห้วยหมากใต้ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

“ค่าชดเชยเขาก็ให้มาครอบครัวละสามหมื่นบาท มันไม่คุ้มหรอก กับว่าถ้าเราไม่ได้สามหมื่นบาท แต่ไม่มีเขื่อน ปลามีเหมือนเดิมเราเอาอย่างนั้นมากว่า” พ่อเข็มพร เล่าให้ฟังถึงการต่อสู้เรียกร้องกับรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาว่า น้อยครั้งที่รัฐบาลจะหันมาสนใจปัญหาของชาวบ้าน จากจุดเริ่มต้นพวกเขาเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน แน่นอนว่ารัฐบาลไม่ได้มีการชะลอ หรือทบทวนโครงการแต่อย่างใด เมื่อเห็นว่าไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการดำเนินโครงการได้พวกเขาจึงเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรม แม้ในปี 2538 รัฐบาลจะอนุมัติให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวชาวประมงครอบครัวละ 90,000 บาท (30,000 บาทให้เป็นเงินสด อีก 60,000 นำเข้าสหกรณ์การเกษตร) ซึ่งนับเป็นเงินชดเชยทั้งหมด 3 ปี ในช่วงที่เขื่อนกำลังก่อสร้าง แต่เงินที่จะได้รับกลับเดินทางมาถึงในปี 2542 จำนวนผู้ได้รับการชดเชยในครั้งนั้นมีจำนวนทั้งสิน 3,966 ครอบครัว และได้ในปีถัดได้มีการจ่ายค่าชดเชยเพิ่มอีก 2,000 ครอบครัว

อย่างไรก็ตามปมปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การได้รับเงินชดเชยแล้วหรือไม่ เพราะนั่นเป็นความรับผิดชอบที่รัฐต้องทำอยู่แล้ว เมื่อมีการทำโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน และเงินชดเชยที่ได้รับมานั้นในความจริงเป็นแล้วไม่ได้เพียงพอหรือมีค่ามากเท่ากับ ทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป

25 ปี เขื่อนปากมูล การพัฒนา  ปัญหาที่ยั่งยืน

ข้อเรียกร้องของชาวบ้านในปัจุบันนี้ คือการเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างน้อย 5 ปี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศใหม่ แม้ว่าในปี 2544 ในสมัยของรัฐบาลทักษิน 1 ได้อนุมัติให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อให้มีการสำรวจ โดยมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลผลกระทบ หลังจากเปิดประตูระบายน้ำ ผลปรากฎกาณณ์ว่าสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำแม่มูลเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านเริ่มจับปลาได้มากขึ้น มีรายได้จากการหาปลามากชึ้น ทีมวิจัยจึงได้เสนอให้รัฐบาลอนุมัติให้มีการเปิดประตูระบายน้ำตลอดปี เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยแสดงให้เห็นถึงความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน และเทียบกับตัวเลขความยากจนของชาวบ้าน

แต่ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลกลับไม่รับข้อเสนอดังกล่าว แต่ได้มีการอนุมัติให้เปิดประตูระบาย 4 เดือนต่อปีในช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. โดยประตูระบายได้ถูกเปิดครั้งแรกในปี 2546 ต่อมาในปี 2547 ชาวบ้านได้รวมตัวกันเรียกร้องอีกครั้ง โดยขอให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำให้ตรงกับช่วงปลาอพยพ คณะรัฐมนตีในขณะจึงได้อนุมัติให้มีการเปิดประตูระบายเขื่อนปากมูลในช่วงเดือน พ.ค. –ส.ค. อย่างไรมติคณะรัฐมนตีครั้งก็ได้ถูกยกเลิกไปหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ภายใต้รัฐบาลบาลที่มีพลเอกสุรยุทธฺ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลอ้างว่ามีผู้ยื่นร้องเรียกมากถึง 20,000 รายชื่อเพื่อขอให้ปิดประตูระบายเขื่อนปากมูล การเจรจาต่อรองรัฐบาลและชาวบ้านจึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้รัฐบาลยอมให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเหมือนเดิม 4 เดือนต่อปี แต่ให้ใช้เกณฑ์ใหม่ โดยดูจากปริมาณการไหลของน้ำผ่านจุดเฝ้าระวัง ซึ่งไม่ได้สอดคล้องการฤดูกาลปลาอพยพแต่อย่างใด และยังคงใช้เกณฑ์นี้มาจนถึงปัจจุบัน

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการผู้ศึกษาประเด็นปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลมาอย่างยาวนาน ให้ความเห็นว่าตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลได้วนกลับมาอยู่ที่เดิมคือ รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีได้มองเห็นถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เมื่อชาวบ้านออกมาเรียกร้องในปีหนึ่ง ก็แก้ไขปัญหาในปีนั้นๆ ให้เสร็จสิ้นไป เช่นการยอมเปิดประตูระบายน้ำ 4 เดือนต่อปี

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“แต่เมื่อถามว่ามันยั่งยืนไหม อันนี้เป็นคำถามสำคัญที่รัฐบาลตอบไม่ได้ ความยั่งยืน การสร้างวิถีชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยื่นมันแปลว่าอะไร เราต้องการให้ชาวบ้านพึ่งพาทรัพยากรข้างนอกที่มีต้นทุนที่สูง กับการที่เราให้ชาวบ้านสามารถใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นได้ อะไรคือความยั่งยื่น” กนกวรรณ กล่าว

กนกวรรณเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูลว่า มีการพูดถึงเรื่องเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่ปี 2510 โดยเธอมองการความคิดที่จะสร้างเขื่อนตอนนั้น เป็นหนึ่งในกระบวนการของรัฐที่ต้องการแย่งชิงพื้นที่อดุมการณ์ทางความคิดในชนบทคือจาก กลุ่มคอมมิวนิสต์ โดยมุมว่าที่ว่าการพัฒนาในพื้นที่ชนบทจะทำให้ชาวบ้านกลับคืนมา ไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่การเริ่มต้นสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อนในครั้งนั้นยังไม่ประสบความเร็จ เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่าจะส่งผลกระทบให้กับชาวบ้านจำนวนมาก แต่ต่อมาในปี 2523 ได้มีการรื้อโครงการเขื่อนปากมูลขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งโดยมีการปรับย้ายพื้นที่สร้างเขื่อน และลดขนาดความสูงของเขื่อนลดจาก 112 เมตร เป็น 108 เมตร จากระดับระดับทะเลปานกลาง เพื่อให้ลดจำนวนผู้ที่จะได้รับผู้กระทบลง และรัฐบาลไทยได้อนุมัติการสร้างเขื่อนในปี 2533 โดยทำร่วมมือทางการเงินผ่านการปล่อยกู้จากธนาคารโลก

เมื่อการสร้างเขื่อนถูกรื้อฟื้อขึ้นอีกครั้ง กนกวรรณ มองว่าการกลับมาของเขื่อนปากมูลครั้งนี้มาในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ กล่าวคือ มีการโฆษณาโดยรัฐว่า การสร้างเขื่อนคือการพัฒนาประเทศจะทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้าน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะทำให้ภาคอีสานมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากการพัฒนาที่ผิดพลาด และขาดการมีส่วนร่วมของรัฐบาล และไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร ขณะที่กลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์ที่แท้จริงคือ นายทุนในภาคอุสาหกรรม

“ 25 ปี ตอนนี้ตัว กฟผ. เองก็ได้กำไรจากการขายไฟฟ้าแล้ว แต่เหตุที่ไม่ยอมให้มีการเปิดประตูระบายน้ำ ใช่ กลัวเสียหน้านั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่กำไรมันก็คือ กำไร กฟผ. เป็นองค์กรที่พูดยาก เขาไม่เหมือนกับหน่วยงานของรัฐทั่วไปที่ทำงานกับชาวบ้าน แต่เขาเป็นองค์กรธุรกิจ เขาเป็นรัฐวิสาหกิจ เขาผลิตไฟ เพื่อขาย ฉะนั้นเขาก็คือพ่อค้าคนหนึ่ง” กนกวรรณ กล่าว

ลำดับเหตุการณ์เขื่อนปากมูล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท