คสช. ใช้ ม.44 แก้ กม.สิ่งแวดล้อม เอื้อรัฐหาผู้รับเหมาโครงการ ระหว่างรอ EIA ผ่าน

คำสั่งหัวหน้า คสช. 9/2558 อ้าง ม.44 แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ให้รัฐดำเนินการหาเอกชนผู้รับผิดชอบโครงการได้ ระหว่างรอผลการพิจารณา EIA ด้านทนายความสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกต เขียนกฎหมายเปิดช่องให้ตีความ

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินโครงการหรือกิจการของรัฐในการจัดการให้มีสาธารณูปโภคอันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะสามารถดำเนินการได้โดยรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักดิ์ราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

“ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณะภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผู้พันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้"

ข้อ 2 คำสั่งนี้ใช้คับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ต่อคำสั่งดังกล่าวประชาไทได้สอบถามไปยัง สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการแก้กฎหมาย โดยสุรชัย ระบุว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวคือ การเปิดช่องทางระหว่างที่รอการพิจารณาผลรายการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับการทำโครงการตามที่ระบุไว้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ แต่ในระหว่างนั้นให้คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้มีการดำเนินการ เช่นให้มีการจัดซื้อจัดจ้างไป ประกาศประมูลไปก่อน  เพื่อที่จะหาผู้ดำเนินการก่อน แต่ถ้ามีการประมูล หรือมีการเสนอยื่นซองประกวดราคาแล้ว จนได้ตัวเอกชนผู้ดำเนินการ ยังไม่ให้มีการเซ็นสัญญา โดยจะต้องรอให้มีการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านก่อน

“อันนี้ให้ทำไปก่อนได้เลยก็อาจดูว่าเป็นการย่อรักษาเวลา เช่นว่า เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นเรื่องการชลประทาน ระหว่างนี้ที่ยังรอการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะมีออกหลักเกณฑ์ในการประมูลราคา หรือยื่นราคาก่อนได้ แต่เขาคงไม่อธิบายว่า EIA มันต้องผ่านแน่ๆ แต่ก็ยังไม่ได้บอกว่าถ้ามีการดำเนินการหาตัวเอกชนไปแล้ว แต่ EIA ไม่ผ่าน จะทำอย่างไร รัฐยังไม่ได้อธิบาย” สุรชัยกล่าว

สุดท้ายสุรชัยตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ของ คสช. จะมีการโยงมาถึงการทำโครงการในลักษณะที่เป็น โครงการที่มีการร่วมลงทุนของเอกชน ซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยจะมีขั้นตอนพิจารณาหลากหลายขั้นตอน โดยจะต้องมีรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการ มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างจะต้องผ่านการพิจารณาก่อน ผ่านการอนุมัติก่อน จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท