Skip to main content
sharethis

เป็นคนรุ่นใหม่มันเจ็บปวด เมื่อศูนย์ข้อมูลด้านรายได้แห่งลักเซมเบิร์ก (LIS) สำรวจประเทศพัฒนา 8 ประเทศ พบว่าประชากร 'เจนวาย' ที่อยู่ในวัยทำงานตอนต้น มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศร้อยละ 20 ต้องแบกรับปัจจัยหลายอย่างทั้งภาระหนี้สิน ราคาที่อยู่อาศัยสูง และขาดโอกาสในหน้าที่การงาน

ที่มาของภาพประกอบ: ITU Pictures/Flickr.com/CC BY 2.0

9 มี.ค. 2559 ศูนย์ข้อมูลข้ามประเทศองค์กรศึกษาด้านรายได้แห่งลักเซมเบิร์ก (LIS) ทำการสำรวจประเทศพัฒนาแล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และสหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ใน 'เจนวาย' (Generation Y) หรือมิลเลนเนียล ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดตั้งแต่ช่วงยุค 1980s ถึงกลางยุค 1990s (พ.ศ. 2523-2540) มีรายได้น้อยกว่าและถูกกีดกันจากความมั่งคั่งในสังคมโลกตะวันตก

ในรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรให้ทุนสนับสนุนประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในอังกฤษ 'โจเซฟ โรวน์ทรี รีฟอร์ม ทรัสต์' (Joseph Rowntree Reform Trust Ltd) ระบุว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในเจนวายไม่ได้รับความเสมอภาคด้านรายได้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องหนี้สิน การไม่มีตำแหน่งงาน โลกาภิวัฒน์ สถิติประชากร และราคาที่อยู่อาศัยที่เพิมสูงขึ้น ต่างก็เป็นสาเหตุให้คนหนุ่มสาวนับล้านคนมีรายได้และโอกาสในหน้าที่การงานน้อยกว่าคนยุคก่อนๆ

เดอะการ์เดียนระบุว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วกลุ่มคนทำงานวัยหนุ่มสาวมีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ในประเทศ แต่ในยุคนี้มีหลายประเทศที่คนทำงานวัยหนุ่มสาวมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ในประเทศร้อยละ 20 ขณะที่กลุ่มวัยเกษียณมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยุคสมัยนี้อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังยุคอุตสาหกรรมที่คนหนุ่มสาวมีรายได้ต่ำมากเมื่อเทียบกับประชากรส่วนอื่นๆ ไม่นับยุคที่มีสงคราม

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าระดับรายได้ที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้อาจจะส่งผลเสียหายขั้นเลวร้ายได้ทั้งต่อเรื่องการสร้างครอบครัวและความแน่นแฟ้นในสังคม

การสำรวจข้อมูลจากทั้ง 8 ประเทศ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจระดับครัวเรือนโดย LIS ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่าประชากรกลุ่มวัยทำงานยุคใหม่ในประเทศสหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี และแคนาดา ได้รับค่าแรงน้อยลง และในบางประเทศเช่นสหรัฐฯ กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 30 ปียากจนกว่าคนวัยเกษียณ ส่วนในประเทศอังกฤษจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้เงินบำนาญมีจำนวนเพิ่มเร็วขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ของคนหนุ่มสาว

แองเกล กูร์เรีย เลขาธิการองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) กล่าวว่าเป็นสถานการณ์หนักหน่วงสำหรั[คนหนุ่มสาว พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐิจตกต่ำครั้งใหญ่และสถานการณ์ตลาดแรงงานก็ไม่ได้ดีขึ้นมากหลังจากวิกฤตครั้งนั้น ทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วนไม่เช่นนั้นแล้วมันจะส่งผลร้ายต่อลูกหลานและสังคมของพวกเขาทั้งหมด

กูร์เรียกล่าวต่อไปว่ากลุ่มชนชั้นกลางมีความกังวลมากขึ้นต่อเรื่องหน้าที่การงานของลูกหลานพวกเขา มีคนจำนวนมากขึ้นที่มองว่าฐานะการเงินของคนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาจะแย่กว่ายุคสมัยพ่อแม่ ปัญหาการขาดโอกาสของคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันจึงเป็นปัญหาคนทุกวัยควรใส่ใจ

จากการสัมภาษณ์คนรุ่นเจนวายโดยสำนักข่าวเดอะการ์เดียนพบว่าคนรุ่นเจนวายรู้สึกว่าตัวเองต้องเผชิญอุปสรรคมากกว่าถึงจะสามารถก้าวข้ามไปเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งพาตัวเองได้ อาทิเช่น ฟิโอนา แพตติสัน ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีอายุ 30 ปีขององค์กรระดมทุนแห่งหนึ่งกล่าวว่าถึงแม้ว่าเธอจะได้รับการขึ้นค่าจ้างและได้รับการเลื่อนตำแหน่งงานแต่ก็ไม่ทำให้วิถีชีวิตเธอเปลี่ยนไปมากนัก เพราะเธอต้องใช้เงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้นไปกับการดำรงชีวิตและการเก็บออมอยู่ดี

ชาวลอนดอนอีกคนหนึ่งชื่อ ทานากา มฮีชิ คนทำงานในร้านหนังสือกล่าวว่าคนรุ่นพ่อแม่ของเขาโชคดีกว่า พวกเขามีเสรีภาพในการที่จะทำส่งต่างๆ มากกว่าและสามารถเรียนจบแล้วย้ายมาซื้อแฟลตอยู่อาศัยได้เลย ขณะที่คนรุ่นเขาเองมีทางเลือกน้อยกว่า ทำให้พวกเขาต้องยอมจำนนต่อสภาพเช่นต้องผ่อนผัดการมีลูกแม้ว่าจะอายุ 30 หรือแม้กระทั่ง 40 ปี เพราะไม่แน่ใจว่าพอมีลูกแล้วยังจะได้ทำงานที่รักอีกหรือไม่

ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่าผู้กำหนดนโยบายควรสร้างความสมดุลย์ระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนมีอายุมากกว่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน โดย พอล จอห์นสัน ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาด้านการคลังของอังกฤษกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนต่างรุ่นอาจจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำแผ่ขยายมากขึ้นเป็นวงกว้างในสังคมเพราะลูกคนรวยจะยังคงมีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ในช่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น

นอกจากนี้ความไม่เป็นธรรมระหว่างคนต่างรุ่นยังแสดงให้เห็นในปรากฏการณ์อื่นๆ เช่น คนยุคใหม่ในออสเตรเลียรู้สึกถูกกีดกันจากตลาดการซื้อขายที่อยู่อาศัย ในอังกฤษก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน ขณะที่ในสหรัฐฯ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับคือปัญหาภาระหนี้สิน โดยมีหนี้สินที่มาจากการศึกษารวม 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ในยุโรปปัญหามาจากการงานหรือขาดการจ้างงาน ทำให้มีคนอายุ 30 ปี ที่ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในจำนวนสูงมากในอิตาลีและสเปน และจากความเปลี่ยนแปลงเรื่องการสร้างครอบครัวและอัตราการเกิดทำให้อัตราประชากรมีแนวโน้มไปสู่สังคมผู้สูงวัยจำนวนมาก

ไดแอน คอยล์ นักเศรษฐศาสตร์อดีตที่ปรึกษาด้านการคลังของอังกฤษกล่าวว่านับตั้งแต่มีระบบทุนนิยมมาเป็นครั้งแรกที่เกิดปัญหาจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นมากขณะที่ประชากรในบางประเทศเกิดน้อยลงและพวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะสามารถทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจคงตัวต่อไปในระดับเดียวกับที่เคยเป็นมาได้หรือไม่

 

เรียบเรียงจาก

Revealed: the 30-year economic betrayal dragging down Generation Y’s income, The Guardian, 07-03-2016 http://www.theguardian.com/world/2016/mar/07/revealed-30-year-economic-betrayal-dragging-down-generation-y-income

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net