Skip to main content
sharethis

8 มี.ค. 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน  ร่วมเสวนาในพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2559 หัวข้อ “ความพร้อมของแรงงานสตรีไทยสู่ระดับสากล” โดย น.ส.จิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการประจำประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนลาว ประจำองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ น.ส.ณัฐกานต์ เตชะรัตนไชย (โน๊ต) นักแสดง ร่วมเสวนา โดยกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังแรงงานของประเทศไทย มีจำนวนกว่า 60 ล้านคน คนที่อยู่ในกำลังแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีประมาณ 37 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้หญิง คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ และในความเป็นจริงประเทศไทยต้องใช้ศักยภาพของผู้หญิงและผู้ชาย เท่า ๆ กันในการทำให้ประเทศมีพลังในการขับเคลื่อนในทุกๆ ด้าน ซึ่ง ผู้บริหารสตรีหรือผู้นำสตรีทั้งในภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนและภาคนอกระบบ ต้องเรียกว่าทำงานเป็น 2 เท่าจึงจะได้ขึ้นมาอยู่ในระดับผู้นำได้ ซึ่งนอกจากจะทำงานในหน้าที่ของตนเอง ยังต้องทุ่มเทและต้องดูแลครอบครัวอีกด้วย

“ในประเทศไทยผู้หญิงมีโอกาสค่อนข้างสูง ในการเข้าสู่ระบบการศึกษา การทำงาน การประสบความสำเร็จ สามารถพบเห็นโดยทั่วไป ผู้หญิงในทุกระดับต้องไม่หยุดนิ่งในการที่จะพัฒนาตัวเอง ทั้งเรื่องการศึกษาและการฝึกอบรมพัฒนาซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมความสามารถของคนทั้งสองเพศ ‘กฎหมาย’ ถือว่าสำคัญ เพราะกฎหมายจะส่งเสริมความเสมอภาคโดยเท่าเทียมกัน” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

น.ส.จิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการประจำประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนลาว ประจำองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวในการเสวนาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ให้โอกาสผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น และส่วนใหญ่กำลังแรงงานหญิง จะอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นภาคเศรษฐกิจนอกระบบ จะเป็นงานที่ขาดกระบวนการในการให้สิทธิคุ้มครองแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแรงงาน แม้กระทั่งลักษณะของตัวงานก็จะมุ่งไปสู่สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงเปราะบางมากกว่าเดิม เช่น แรงงานหญิงที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ต้องทำงานกับสารเคมี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระดับนานาชาติมองไม่ได้มองเพียงแค่งานที่เกี่ยวข้องที่เป็นหญิงกับหญิง หรือชายกับชาย หรือชายกับเพศที่สาม ฯลฯ แต่มองไปถึงความเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งในกลุ่มที่เป็นหญิงพิการ หรือชายพิการ หรือชายหญิงที่เป็นเพศที่สาม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะพึงมีและจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองในด้านต่างๆ

“การที่เราจะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากกรอบของความเปราะบางหรือการเป็นกลุ่มเป้าหมายคือการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ มั่นใจว่าการที่เรามุ่งมั่นมีความตั้งใจในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถมีพื้นที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม” น.ส.จิตติมา กล่าว

น.ส.ณัฐกานต์ เตชะรัตนไชย (โน๊ต) นักแสดง กล่าวในการเสวนาว่า ชื่นชมผู้หญิงในยุคปัจจุบัน เพราะมีบทบาทอย่างมากในทุกๆ ด้าน แม้แต่เวทีระดับสากล เวทีนานาชาติระดับโลก ปัจจุบันผู้หญิงสามารถทำได้หลายๆ อย่างหลายๆ ด้าน หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ ครอบครัว คือแรงผลักดันและแรงใจที่มีส่วนเป็นอย่างมาก เช่น เปิดโอกาส เข้าใจ และยอมรับในบทบาทที่ผู้หญิงอย่างเราๆ รักและเลือกที่จะทำในการออกไปทำงานนอกบ้าน

ด้าน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในการเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2559 ว่า ปัจจุบันสตรีได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ถ้าสามารถทำให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเช่นเดียวกับผู้ชายจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรสูงขึ้น ในสหรัฐอเมริกาพบว่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 5 ประเทศอียิปต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 สำหรับในประเทศไทยจากรายงานผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน 39.16 ล้านคน เป็นแรงงานผู้หญิง 17.94 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.8 นอกจากนี้ จากผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติในปี 2557 โดยบริษัท แกรน์ท ธอนตัน จากการสำรวจพบว่าสัดส่วนของผู้บริหารหญิงมีถึงร้อยละ 38 ซึ่งเป็นอันดับ 6 ของโลก แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการผลิต การสร้างรายได้และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกระดับ

นางประภัสสร พีรพัฒนวงศ์ หัวหน้าแผนกบุคคล-ธุรการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ (สาขานครราชสีมา) ผู้ได้รับรางวัลสตรีเครือข่ายด้านแรงงานดีเด่น สาขา สตรีเครือข่ายแรงงานในสถานประกอบกิจการดีเด่น สถานประกอบกิจการขนาดกลาง กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในปีนี้ ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนเองอยู่เสมอก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้ผู้หญิงทุกคนมีความตั้งใจ มั่นใจในสิ่งที่ทำแล้วสังคมจะเห็นในความสามารถของเรา”

นางทิพย์ประภา แก้วเรือง รองผู้จัดการสำนักธุรการ บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด ผู้ได้รับรางวัลสตรีเครือข่ายด้านแรงงานดีเด่น สาขา สตรีเครือข่ายแรงงานในสถานประกอบกิจการดีเด่น สถานประกอบกิจการขนาดกลาง จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “ดีใจที่ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในครั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีอุปสรรคในการทำงานในสังคมร่วมกับผู้ชายบ้างแต่มองว่าเป็นเพียงเบื้องต้น หากใช้ความจริงใจ ความรู้ความสามารถที่มีก็จะทำให้ได้รับการยอมรับจากทุกคนและผ่านจุดนั้นไปได้ ปัจจุบันยังมองว่าบางครั้งผู้ชายยังไม่ค่อยยอมรับในบทบาทของผู้หญิงมากนัก อยากให้ยอมรับในตัวผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งตนเองยึดหลักความจริงใจ เป็นตัวเองตัวเอง ใช้ความรู้ความสามารถที่มี กล้าที่จะแสดงออก”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net