Skip to main content
sharethis

เรื่องขมขื่นของนักศึกษาหลายคน จาก ‘เหยื่อ’ ความรุนแรงทางเพศ สู่ 'ผู้ผ่านพ้น’ ท่ามกลางผลประโยชน์ของธุรกิจทำเงิน และความเมินเฉยของอาจารย์ - มหาวิทยาลัย พวกเขาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง และคนอื่นในอนาคต

5 มีนาคม 2559 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและ ความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และ Documentary Club จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘The Hunting Ground: ชมรมล่าหญิง’ พร้อมแลกเปลี่ยนพูดคุยในวงเสวนา หัวข้อ ‘ชีวิตมหา’ลัย (ไทย) ปลอดภัยแค่ไหน?' การฉายภาพยนตร์ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างล้นหลาม จนต้องเปิดรอบพิเศษเพิ่มอีก 1 รอบเพื่อให้เพียงพอต่อผู้ที่ต้องการรับชม


ภาพจากเดอะฮันติงกราวน์


เดอะฮันติงกราวน์ (The Hunting Ground) ภาพยนตร์สารคดีตีแผ่เรื่องราวอื้อฉาวในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อย่าง ฮาร์เวิร์ด, แคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ หรือ เยล ท่ามกลางความภาคภูมิใจของเหล่านักศึกษา ครูอาจารย์ ในอีกด้าน ผู้ล่าเหยื่อก็คงคิดว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่น่าภาคภูมิใจแก่การฝากผลงานของพวกเขาไว้เช่นกัน

นักศึกษาจำนวนไม่น้อย ผู้ผันตัวเองจากเหยื่อ (victim) มาเป็น ผู้ผ่านพ้น (survivor) และตัดสินใจออกมาเล่าเรื่องความรุนแรงทางเพศจากผู้ล่าที่พวกเขาเผชิญ ทั้งข่มขืน ล่วงละเมิด หรือแอบถ่าย แม้จะต้องแลกด้วยการถูกดูแคลนจากทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เพื่อนนักศึกษาด้วยกัน โดยหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิด ‘เหยื่อ’ ในอนาคตอีก

วราภรณ์ แช่มสนิท จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าวในวงเสวนาหลังภาพยนตร์จบว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ คนที่โดนตำหนิ หรือถูกตั้งคำถามมักเป็นคนที่เป็น ผู้ถูกกระทำ ด้วยคำถามที่ว่า ‘ไปทำอะไรมา?’ ‘เมาใช่มั้ย?’ หรือ ‘คงจะแต่งตัวโป๊ ถึงได้โดนข่มขืน’ ซึ่งเธอกล่าวว่า มีคนไม่น้อยที่ต้องพบเจอกับสภาวะการตีตราเช่นนี้ เหมือนกับเป็นราคาของสังคมที่ต้องจ่ายเมื่อคุณเป็นผู้ที่ถูกล่วงละเมิด

เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นคำที่คุ้นหู และได้เห็นบ่อยตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในบ้านเราก็เช่นกัน แต่มีเพียงส่วนน้อยนักที่ถูกเปิดเผย และยิ่งหากเกิดในมหาวิทยาลัย ก็ยิ่งคล้ายว่าจะเป็นท็อปปิกต้องห้าม ที่ไม่มีใครกล่าวถึง
 

จริงๆ แล้วคนใกล้ตัวอันตรายที่สุด

หนังเริ่มด้วยการเล่าเรื่องของหญิงสาว 'ผู้ผ่านพ้น' หลายคน คำพูดนั้นเรียบง่าย สอดแทรกไปด้วยความสุขที่ออกมาจากนัยน์ตา จนคนดูไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า พวกเธอเคยเป็น ‘เหยื่อ’ ซึ่งผ่านเรื่องร้ายๆ มา ภาพความสุขในการเรียนลอยมาพร้อมคำบอกเล่า ชีวิตมหาวิทยาลัยก็ดูจะเป็นชีวิตในฝันที่วัยรุ่นทุกคนปรารถนา

แน่นอนล่ะ เพื่อนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญมากในรั้วมหาวิทยาลัย

แน่นอนว่าก็มีบ้าง เรื่องสุราของมึนเมา หรือการออกไปสังสรรค์กับเพื่อนเพศตรงข้าม

หญิงสาวหลายคนในหนังเล่าถึงเหตุการณ์ ออกไปเที่ยวสังสรรค์ หรือปาร์ตี้ที่สมาคมชาย (มหาวิทยาลัยในอเมริกา มักมีบ้านที่เรียกว่าสมาคม โดยสมาคมจะเป็นทั้งบ้านพัก และศูนย์รวมของนักศึกษา ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องหอพัก อีกทั้งสมาคมศิษย์เก่ายังเป็นเงินทุนแหล่งสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมมหาวิทยาลัยอีกด้วย) เมื่อเกิด ‘ความไว้ใจ’ และ ‘ความสนิทสนม’ ขึ้น รูปแบบของการคุกคามก็มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ผู้ล่าบางคนอาสาพาพวกเธอกลับไปส่งที่หอ บ้างชวนเธอมานอนค้างหลังปาร์ตี้ หรือหลอกพวกเธอโดยอ้างว่า มีปาร์ตี้ที่หอพัก และหลังจากนั้นก็ทำการล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่พวกเธอไม่มีทางสู้

นักกีฬามหาวิทยาลัย ก็เป็นกลุ่มผู้ล่ากลุ่มหนึ่งที่น่ากลัว ผู้ร้ายตัวฉกาจที่ไม่สามารถ แตะต้องได้ พวกเขาโด่งดัง เป็นที่รู้จัก และแน่ล่ะ สาวๆ แทบทุกคนชอบนักกีฬา หนังแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ล่า หรือผู้กระทำความผิดมีเพียงร้อยละ 4 จากนักศึกษาทั้งหมด แต่ในจำนวนนั้นเป็นนักกีฬาสูงถึงร้อยละ 19 และเมื่อใดที่มีเหยื่อออกมาบอกว่า นักกีฬาเหล่านี้เป็นผู้ข่มขืนเธอ ก็มักถูกนักศึกษาคนอื่นในมหาวิทยาลัยต่อต้าน ด้วยเหตุที่ว่า พวกเธอใส่ร้ายนักกีฬาที่พวกเขานั้นชื่นชอบ

 

เพศชายก็เป็น ‘เหยื่อ’

นอกจากผู้ผ่านพ้นซึ่งเป็นผู้หญิงแล้ว ยังมีชายจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสถานการณ์เป็น ‘เหยื่อ’ และเป็นผู้ผ่านพ้นเช่นเดียวกัน ในหนังเปิดเรื่องด้วยมุมมองของนักศึกษาหญิง จนคนดูเกือบลืมไปแล้วว่านักศึกษาชายหลายต่อหลายคน ก็อาจจะเป็นผู้ที่ถูกล่วงละเมิดได้เช่นกัน นักศึกษาชายหลายๆ คนไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง หรือแม้แต่จะบอกให้ใครรู้เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศ ด้วยทัศนคติของสังคมที่มองว่าผู้ชายเป็นเพศที่เข้มแข็ง และเป็นเพศที่ ‘กระทำ’ มากกว่าจะ ‘โดนกระทำ’


บอกความจริงคนรัก ยากที่สุด

การเล่าให้ครอบครัวฟังหลังจากเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านั้น เป็นเรื่องที่ยากและสะเทือนใจไม่น้อย หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือการเล่าให้พ่อแม่ฟัง เธอไม่ได้กลัวการเล่า แต่กลัวผลลัพธ์ที่จะตามมาหลังจากนั้น กลัวการถูกมองด้วยสายตาที่แปลกออกไป และไม่อยากให้เมื่อไหร่ก็ตามที่คนอื่นมองมาที่เธอ แล้วเห็นภาพผู้ชายคนที่ข่มขืนเธอ


ปกปิด

มหาวิทยาลัยจัดการยังไงบ้างล่ะ? คำถามนี้ผุดขึ้นตลอดเวลา คำตอบที่ได้มีแต่ความเงียบงัน น่าแปลกที่ผู้ผ่านพ้นแทบทุกคนเลือกที่จะบอกเล่าให้มหาวิทยา ลัยของตนเองฟัง ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้กระทำผิดคือใคร แต่ก็เหมือนไร้ค่า มหาวิทยาลัยต่างๆ เลือกที่จะปกปิด ซ่อนเร้น และทำให้เรื่องนี้หายไปอย่างเงียบที่สุด ด้วยเหตุที่ว่า

หนึ่ง คงไม่มีมหาวิทยาลัยไหนอยากสูญเสียชื่อเสียงไปด้วยเรื่องพรรค์นี้ เพราะชื่อเสียงเสีย = จำนวนคนเข้าเรียนที่น้อยลง = จำนวนเงินที่น้อยลง

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวในหนังว่า คงไม่มีมหาวิทยาลัยไหน ที่อยากบอกผู้ปกครองว่า หากส่งลูกหลานเข้ามาเรียนแล้ว มีโอกาสที่จะถูกกราดยิงในสถานศึกษา

สอง มหาวิทยาลัยต้องปกป้องเหล่านักกีฬา เพราะทั้งฟุตบอลและบาสเกตบอล ล้วนเป็นธุรกิจทำเงินมหาศาล

สาม มหาวิทยาลัยต้องปกป้องสมาคมนักศึกษา เพราะเป็นแหล่งเงินทุนชั้นดี ถึงแม้สมาคมนักศึกษาจะเป็นแหล่งเกิด ของความรุนแรงทางเพศ การข่มขืน หรือการล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ เช่น สมาคม SAE ซึ่งย่อจาก ‘Sigma Alpha Epsilon’ แต่นักศึกษากลับรู้จักกันดีว่าย่อจาก Sexual Assault Expected หรือ ‘คาดว่าจะโดนข่มขืน’
 

หน้าเดิม ทำซ้ำ แต่ไม่ได้รับผิด

ในแต่ละปี มีนักศึกษาชาย-หญิงจำนวนมากกว่า 100 เคส และอาจสูงถึง 300 เคสในบางมหาวิทยาลัย ที่เผชิญกับความรุนแรงทางเพศ ซึ่งในหนังตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้กระทำผิดส่วนมาก มักเป็นกลุ่มคนเดิมๆ กระทำผิดแบบเดิมๆ แต่กระนั้นในปีๆ หนึ่ง มีผู้กระทำผิดไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ได้รับโทษ ซ้ำยังสามารถเรียน แข่งขันกีฬา ทำกิจกรรมทางสังคมได้ปกติราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หญิงสาวรายหนึ่งกล่าวว่า ชายคนที่ข่มขืนเธอ ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย หลังจากที่เขาเรียนจบ


ฉันไม่ใช่เหยื่อ

เมื่อเสียงของผู้ผ่านพ้นนั้นไม่สัมฤทธิ์ ผล มาตรา 9 (Title IX) แห่งประมวลกฎหมายสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วย ความเท่าเทียมของชายและหญิง การมีเพศสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม การเข้าถึงผลประโยชน์ และการเลือกปฏิบัติ จึงมีบทบาทสำคัญ เขาและเธอเดินหน้ารณรงค์สนับสนุนให้ ‘เหยื่อ’ ลุกขึ้นมาต่อสู้ ดังคำกล่าวของแอนเดรีย พิโน หนึ่งในหญิงสาวผู้ผ่านพ้นที่ว่า “เด็กอายุ 20 จะสู้มหา’ลัย อายุ 200 ปีได้”

แอนเดรีย อายุ 24 ปีจาก และแอนนี อี คาล์ก อายุ 26 ปีจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สองสาวผู้ไม่นิ่งเฉย และไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรม พวกเธอลุกขึ้นสู้ เก็บบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ความ รุนแรงทางเพศในมหาวิทยาลัย จากทั่วทั้งอเมริกา และออกเดินทางไปในหลายๆ มหาวิทยาลัย เพื่อเล่าเรื่องราวของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นการกระทำที่ส่งผลอันหนัก อึ้งต่อพวกเธอ แต่มันก็ดูจะคุ้มค่า เมื่อเธอสามารถทำให้ ‘เหยื่อ’ หลายต่อหลายคน กล้าที่จะเปิดเผย และบอกว่า การถูกข่มขืนไม่ใช่เรื่องที่ผิด ผู้กระทำนั่นแหละผิด และต้องได้รับการลงโทษ

และน่าเศร้า ที่เหยื่อบางคนสิ้นหวังกับความยุติธรรมที่เธอได้รับ และตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง


วงเสวนา ‘ชีวิตมหา’ลัย(ไทย) ปลอดภัยแค่ไหน ?’

เจษฎา แต้สมบัติ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ในกลุ่มคนข้ามเพศ ก็มีปัญหาการล่วงละเมิดทาง เพศเช่นเดียวกัน ด้วยทัศนคติที่ว่า เพศมีแค่ 2 เพศ คือชาย และหญิง จึงทำให้กลุ่มคนข้ามเพศ เช่นกะเทย ต้องพักอาศัยกับผู้ชายเมื่ออยู่ในหอพักมหาวิทยาลัย เธอเล่าว่า เธอเองก็เคยถูกคุกคามขณะเป็นนักศึกษา แต่ด้วยความกังวลใจ จึงไม่กล้าบอกคนอื่น อีกทั้งเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะกลัวไม่มีคนเชื่อ ไม่รู้กฎหมาย และไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร

สอดคล้องกับคำกล่าวของ วราภรณ์ ที่ว่า จริงๆ แล้ว มีเหตุการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย เธอชี้ว่า จากการสำรวจนักศึกษา ร้อยละ 77 ไม่รู้ว่ามีการล่วงละเมิดในสถานศึกษา ในขณะที่อีกร้อยละ 23 ไม่ได้สนใจ อีกทั้งในประเทศไทยไม่มีการศึกษาวิจัยหรือรวบรวมสถิติในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากพอ เหยื่อจำนวนมากเลือกที่จะปิดเรื่องให้เงียบ เพราะไม่อยากแบกรับภาระทางสังคมในอนาคต ซึ่งเธอกล่าวว่า เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปในสังคม และนอกจากจะมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ควรมองว่าตัวเองเป็นผู้กระทำเพื่อปกป้องตัวเองด้วย

ผู้ร่วมฟังเสวนาคนหนึ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศในมหาวิทยาลัยที่เธอเจอว่า หลังจากไปเที่ยว เพื่อนชายก็ขอกลับมาค้างที่ห้องเพราะฝนตก ด้วยความไว้ใจ เธอจึงให้เพื่อนมานอน แต่เพื่อนกลับแอบถ่ายคลิปเธอตอนอาบน้ำ และพยายามที่จะลวนลามเธอ เธอกลัวมาก และไม่รู้จะปรึกษาใคร จนในที่สุดจึงตัดสินใจแจ้งความ แต่คำถามที่ได้ กลับกลายเป็น 'แต่งตัวโป๊หรือเปล่า' หรือ 'ให้เขาเข้าห้องก่อนใช่มั้ย' เธอตกใจมากเมื่อรู้ว่า การอนุญาตให้เพื่อนเข้าห้อง ถือเป็นการยินยอม

เธอแจ้งอาจารย์ผู้หญิงที่คณะ แต่กลับได้รับคำตอบว่า เพื่อนของเธอนั้นเป็นคนดี เป็นคณะกรรมการนักศึกษา จึงไม่ต้องการที่จะลงโทษ พร้อมเสนอให้เธอใช้วิธีการไกล่เกลี่ย สุดท้ายเรื่องจึงจบลงด้วยการที่เพื่อนคนนั้นเขียนจดหมายขอโทษ เพื่อแสดงความรู้สึกผิดต่อเธอ

เธอกล่าวว่า เรื่องที่ยากมากคือการทำความเข้าใจกับครอบครัว เมื่อเธอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับครอบครัวฟัง พ่อของเธอกลับต่อว่าเรื่องที่เธอกินเหล้า และแม่กลับบอกว่า ไม่รู้จักเธอเลย ไม่รู้จักเลยว่าคนๆ นี้ยังเป็นลูกของเธอหรือไม่

เดอะฮันติงกราวน์ ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในหลายรางวัล เช่น ชนะเลิศสาขาภาพยนตร์ด้านสิทธิมนุษยชน ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์เกน, เข้าชิงในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อคาเดมี อวอร์ด ด้วยเพลง ‘Til It Happen To You’ โดยเลดี้ กาก้า และไดแอน วอเรน


เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Til It Happen To You’ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net