Skip to main content
sharethis

จากนักสตรีนิยมคนแรกของอินโดนีเซีย ไปจนถึงอดีตตำรวจหญิงเวียดนามที่ถูกสั่งจำคุกเพราะเขียนวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เซาธ์เอเชียโกลบ นำเสนอบทความ 5 สตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนเนื่องในวันสตรีสากลที่ผ่านมา โดยมี "ครูประทีป" นักสิทธิมนุษยชนไทยผู้เคยช่วยเหลือผู้คนยากไร้ในย่านสลัมรวมอยู่ด้วย

จากซ้ายไปขวา โรซา เฮนสัน, อัมพิกา ศรีเนวาซาน, ประทีป อึ้งทรงธรรม, ระเด่น อาเจ็ง คาร์ตินี และ ต๊ะฟองเติ่น (ที่มา: Sea-globe)

 

ในวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ที่ผ่านมานิตยสารเซาธ์อีสต์เอเชียโกลบ ซึ่งเป็นนิตยสารนำเสนอประเด็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสำนักงานอยู่ในกัมพูชารายงานเรื่องของสตรี 5 คนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน โดยมี ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือ "ครูประทีป" ผู้เคยเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือเด็กยากไร้ในชุมชนสลัมคลองเตยและเคยเป็นหนึ่งในแกนนำชุดที่ 2 ของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) รวมอยู่ด้วย

 

โรซา เฮนสัน : อดีต 'หญิงบำเรอ' สงครามโลกที่ลุกขึ้นมาเปิดโปงอาชญากรรมทหารญี่ปุ่น

"ฉันจะเล่าเรื่องของฉันเพื่อที่จะทำให้พวกเขารู้สึกถูกประณามหยามเหยียด มันเป็นเรื่องจริง ฉันเป็นผู้แก้แค้นให้คนตาย" มาเรีย โรซา ลูนา เฮนสัน เคยกล่าวไว้เช่นนี้ เธอกล่าวถึงกรณีที่ทหารญี่ปุ่นบีบบังคับให้ตัวเธอและหญิงชาวฟิลิปปินส์กลายร้อยคนกลายเป็นทาสบำเรอกามหรือที่เรียกว่า 'หญิงบำเรอ' ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เฮนสัน เคยเป็นนักสู้ฝ่ายต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นมาก่อนแต่ต่อมาก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นจับตัวและข่มขืนเธอเป็นเวลา 9 เดือน จนกระทั่งเมื่อปี 2535 เมื่อเธออายุได้ 65 ปี ก็ออกมาพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอในช่วงสงคราม ถือเป็นคนแรกในหมู่คนรุ่นเดียวกันกับเธอที่พูดถึงเรื่องอาชญากรรมสงคราม หลังจากนั้นก็มีอีกหลายร้อยคนตามเธอออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้เรื่องเกี่ยวกับ "หญิงบำเรอ" ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นเรื่องที่โลกให้ความสนใจ นำมาสู่การยอมรับ ไกล่เกลี่ย และชดเชยจากรัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระบวนการดังกล่าวยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

 

อัมพิกา ศรีเนวาซาน : ทนายหญิงเหล็กนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเลเซีย

อัมพิกา ศรีเนวาซาน เป็นประธานสมาคมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเลเซีย (Hakam) คนปัจจุบัน เธอมีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศจำนวนมาก เธอกลับมาทำงานเป็นทนายความในมาเลเซียเมื่อปี 2525 หลังจากที่ไปเรียนกฎหมายและทำงานเป็นนักกฎหมายในอังกฤษมาก่อน เธอเคยเป็นประธานสภาทนายความมาเลเซียในปี 2550-2553 และเคยเป็นหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปการเลือกตั้งหรือ 'เบอเซะ' (Bersih)

นอกจากนี้อัมพิกายังเป็นผู้เรียกร้องสิทธิสตรีอย่างแข็งขัน เผชิญหน้าต่อสู้กับแนวคิดเหยียดเพศในสภาและสามารถรณรงค์ให้มีการรับฟังคำให้การของผู้หญิงทัดเทียมกับคำให้การของผู้ชายในศาลชะรีอะฮ์ได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้อัมพิกายังต่อสู้เพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองด้วย

สตรีมาเลเซียผู้นี้ได้รับรางวัลหญิงกล้าหาญจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2552 ความพยายามของเธอทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ จนมีการส่งจดหมายแสดงความเกลียดชังการขู่ฆ่า และมีคนเคยขว้างปาระเบิดขวดใส่เธอ

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ : นักสิทธิมนุษยชนรางวัลแม็กไซไซ ผู้ช่วยเหลือผู้คนในสลัม

ประทีปเกิดในย่านสลัมของกรุงเทพในปี 2495 เป็นลูกสาวที่มีพ่อเป็นคนจีนอพยพและแม่เป็นคนไทย เธอเป็นที่รู้จักดีในฐานะคนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ยากไร้ในย่านสลัมคลองเตย เธอประสบความยากลำบากในด้านการศึกษาในวัยเด็กเพราะไม่มีใบสูติบัตรจึงไม่สามารถเรียนโรงเรียนของรัฐได้ทำให้เธอต้องพยายามหาเงินเรียนเอง

ในปี 2511 เธอเปิดโรงเรียนเพื่อเด็กยากไร้จนต่อมากลายเป็นมูลนิธิดวงประทีปซึ่งจัดตั้งโดยใช้เงินรางวัลที่เธอได้รับจากรางวัลแม็กไซไซในปี 2521 และเมื่อประเทศไทยเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. เป็นครั้งแรกเธอก็ได้รับเลือกเป็น ส.ว. กรุงเทพฯ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี ในช่วงนั้นประทีปยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยทำงานช่วยเหลือสลัม 14 ชุมชนในกรุงเทพฯ

 

ระเด่น อาเจ็ง คาร์ตินี : นักสตรีนิยมผู้นำการศึกษามาสู่สตรีในอินโดนีเซีย

เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสตรีนิยมคนแรกของอินโดนีเซีย คาร์ตินี เกิดเมื่อเดือน เม.ย. 2422 ในครอบครัวชนชั้นสูงของชวา ในช่วงนั้นไม่ผู้หญิงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือแต่คาร์ตินีก็ได้เรียนหนังสือระดับชั้นประถมศึกษาร่วมกับเด็กชาวดัทช์ที่เป็นลูกเจ้าของไร่ในสมัยอาณานิคม ทำให้ได้รับอิทธิพลจากภรรยาของเจ้าของไร่คนหนึ่งที่เป็นผู้มีแนวคิดสตรีนิยม

ในช่วงที่คาร์ตินีอายุ 12 ปี เธอถูกทำให้ต้องเก็บตัวมิดชิดตามประเพณีของท้องถิ่น แต่ในช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มเขียนจดหมายประท้วงความเหลื่อมล้ำทางเพศในประเพณีของชวา จนกระทั่งในปี 2446  ถึงแม้ว่าคาร์ตินีจะได้รับทุนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศแต่เธอก็ถูกกดดันจากครอบครัวให้ต้องแต่งงานกับผู้สำเร็จราชการท้องถิ่นที่อายุมากกว่าเธอ 26 ปี ในปีเดียวกันนั้นเองคาร์ตินีได้โน้มน้าวสามีว่าเธอต้องการเปิดโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกของอินโดนีเซียที่ใครก็สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่มีการกีดกัน

หลังจาที่คาร์ตินีเสียชีวิตแลว เจ เอช อเบนดานอน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ศาสนา และอุตสาหกรรม ในเขตอาณานิคมอีสต์อินดี ได้รวบรวมและเผยแพร่จดหมายของคาร์ตินี ถ้อยคำของคารืตินีเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอินโดนีเซียต่อสู้เพื่อสิทธิที่สำคัญต่อพวกเธอ

 

ต๊ะฟองเติ่น : ผู้วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจนถูกดำเนินคดี

ต๊ะฟองเติ่น เป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและอดีตเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของเวียดนาม ในปี 2555 เธอถูกลงโทษจำคุก 10 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เธอเริ่มเขียนบล็อกของตัวเองในปี 2547 และออกจากงานหน่วยความมั่นคงรวมถึงจากการเป็นสมาชิกพรรคในปี 2549

อย่างไรก็ตาม ต๊ะฟองเติ่น ก็ไม่ย่อท้อ เธอยังคงโพสต์แสดงความคิดเห็นและเปิดโปงพรรคคอมมิวนิสต์ในบล็อกของเธอต่อไปจนกระทั่งเธอถูกจับกุมในปี 2554 และถูกจับเข้าคุกในเดือน มิ.ย. 2555 ในขณะที่เธอจำคุกอยู่แม่ของเธอประท้วงด้วยการเผาตัวเองหน้าสำนักงานของรัฐบาลจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในเดือน ก.ย. 2555 เธอก็ถูกสั่งจำคุกหลังจากมีการดำเนินคดีตัวเธอพร้อมกับบล็อกเกอร์ชื่อดังอีก 2 คนที่เขียนต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ อีก 3 ปีต่อมาต๋าฟ่งตันก็ได้รับการปล่อยตัวและในตอนนี้เธออาศัยอยู่ในสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Five inspirational Southeast Asian women, Southeast Asia Globe, 08-03-2016 http://sea-globe.com/five-inspirational-southeast-asian-women/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net