Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

    


ชื่อบทความควรจะเป็นอย่างไรกันดีครับ  ควรจะเป็นว่า " เพราะมักง่าย จึงคิดไปได้ไม่ไกล" ซึ่งจะสื่อสารได้ตรงกว่าหรือไม่  แต่อย่างไรก็ตาม เอาเป็นว่าลักษณะทั้งสองอย่างนี้กำหนดซึ่งกันและกันก็แล้วกันนะครับ

ที่ใช้ชื่อบทความเช่นนี้  ก็เพราะว่าหากยอมรับความจริงเชิงประสบการณ์ เราทุกคนน่าจะเคยพบเห็นและเผชิญกับ "ความมักง่าย" ของผู้คนเต็มไปหมดทุกพื้นที่และทุกระดับ พื้นที่ทางการเมืองสำคัญมากระดับกำกับชีวิตทางสังคมของผู้คนยังถูกทำให้อยู่ภายใต้การกำกับของใครก็ไม่รู้  (ดังที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้) คณะผู้รับผิดชอบพื้นที่ทางเศรษฐกิจของชาติก็ออกมาแสดงวิสัยทัศน์แบบไร้พื้นฐานทางความรู้และข้อเท็จจริง ถึงกับมองว่าการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย (ญี่ปุ่นเองยังกังวลเรื่องการย้ายฐานการผลิตซึ่งส่งผลถึงการจ้างงานและการเก็บภาษี)   "ความมักง่ายระดับชาติ" มีให้พบเห็นในทุกรัฐบาลครับ

ในระดับชีวิตประจำวันก็ยิ่งพบ "ความมักง่าย" ดาษดื่นไปหมด ครูบาอาจารย์ในสถานศึกษาล้วนแล้วแต่ไม่ได้ใส่ใจที่จะติดตามความรู้ใหม่ๆ หรือพยายามค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อจะพัฒนานักเรียนนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ การขอตำแหน่งของครูในโรงเรียนจำนวนมากก็เป็นการจ้างคนอื่นทำให้ (ผมเชื่อว่าหากจะตรวจสอบกันจริงๆ ก็ทำได้ไม่ยากนัก  เพราะในโรงเรียนเองก็รู้กันอยู่ว่าใครจ้างใครทำ ที่เจ็บปวดก็คือในบางกรณี คนรับจ้างก็เป็นคนตรวจงานเสียเอง)

หากสั่งให้นักศึกษาทำรายงาน รับประกันได้ว่าจะต้องได้อ่านรายงานที่นักศึกษาจำนวนมากทำแบบ “สุกเอาเผากิน” หรือ "สักแต่ว่าให้มีงานส่งอาจารย์" โดยที่นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้คิดเลยแม้แต่น้อยว่ากระบวนการทำรายงานนั้นจะส่งผลดีต่อตัวเขาเอง  การเรียนระดับปริญญาตรีเป็นไปอย่าง "มักง่าย " ขอให้จบเท่านั้น อย่างอื่นค่อยไปคิดเอาในภายหลัง

การขับรถบนท้องถนนคนส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ "มักง่าย" โดยไม่คำนึงว่าตนเองจะก่อปัญหาให้แก่การจราจรโดยรวมมากน้อยเพียงใด การแก้ไขปัญหาในการจราจรก็เป็นไปตามหลัก "กำปั้นใหญ่" ครองถนน การสอบได้ใบขับขี่ก็ง่ายเหลือกำลัง การขับรถ “เป็น” จึงเท่ากับการบังคับรถได้เท่านั้น ทั้งๆ ที่การจราจรมีความหมายทางสังคมมากกว่าการบังคับรถเป็นอันมาก

การใช้ชีวิตของวัยรุ่นก็ "มักง่าย" มากขึ้น  หากมองกลุ่มที่สุดขั้ว เช่น วัยรุ่นแว้นซ์รุ่นที่กำลังปฏิบัติการในปัจจุบันก็จะเห็นว่าพวกเขาคิดถึงชีวิตอย่าง "มักง่าย" แตกต่างไปจากแว้นซ์รุ่นทศวรรษ ๒๕๓๐ ที่ยังสามารถกลับเข้าสู่ชีวิตปรกติได้ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ (หากจะศึกษาแว้นซ์ ต้องแยกศึกษาเป็นรุ่นนะครับ อย่าเหมารวม )

ชีวิตวัยรุ่นโดยรวมก็เหลือเพียงการใช้เวลาหลอกตัวเองในการเล่นเฟซบุ๊ก สนุกกับการร้อง เต้น และอวดรูปโฉมโนมพรรณเท่านั้น (กิจกรรมประจำปีของโรงเรียนทุกแห่งก็จะมีอยู่แค่เต้น รำ ร้อง) แม้แต่กิจกรรมในมหาวิทยาลัยก็หนักไปในทางขายสินค้า

การทำงานในระบบราชการก็จะเป็นการทำเฉพาะส่วนเสี้ยวที่เป็นหน้าที่โดยตรงของตน และไม่ได้แยแสว่าควรจะคิดเชื่อมต่อกับงานคนอื่นหรือส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไร ทุกข์ร้อนของผู้คนที่มาติดต่องานทั้งหลายเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ที่น่าตกใจ บางหน่วยงานในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดบางแห่งถึงกับออกกฎระเบียบแล้วบังคับใช้ย้อนหลังได้อย่างไม่สำนึกรู้เลยว่าในทางกฎหมายแล้วทำไม่ได้  เพราะตนเองคิดได้เฉพาะส่วนงานของตนเอง ที่สำคัญคือไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อนักศึกษา แต่ยึดเอาความสะดวกหรือความ “ง่าย” ของตนเองเป็นหลัก

หากผู้อ่านทำงานในระดับหัวหน้างานที่เคยสอบทางวิชาการและสัมภาษณ์คนสมัครงาน ท่านก็จะรับรู้อย่างแจ่มชัดว่าคนที่มาสมัครนั้นคุณภาพลดลงเพียงใด  รวมไปถึงว่าคนที่ท่านรับเข้ามาทำงานในปัจจุบันทำงานอย่างไร เช่น เขาจะเล่นเฟสบุ๊กไปพร้อมกับกับการทำงานที่ท่านสั่ง โดยที่งานที่รับมาก็ “เสร็จ” แต่ “เสร็จ” เท่าที่ได้รับคำสั่งหรือ “เสร็จ” แบบ "ลวกๆ" หรือบางทีก็มีความผิดพลาดจนเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือองค์กร

ลองนึกถึงอุตสาหกรรมความเชื่อ เช่น ลูกเทพ ปิระมิด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ฯลฯ ที่เน้นการครอบครองและบูชาวัตถุ โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างทันอกทันใจ ก็จะเห็น "ความมักง่าย" ในระดับจิตวิญญาณทีเดียว

หากจะพูดถึง "ความมักง่าย" ของคนในสังคมไทยปัจจุบันก็คงจะยกตัวอย่างได้อีกมากมาย ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าผมมองโลกในแง่ร้าย  แต่ก็อยากขอร้องให้ท่านลองคิดทบทวนดูอย่างจริงจัง หากเห็นด้วยกับผมก็จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา “ความมักง่าย” ของคนไทยให้ทุเลาเบาบางลง ให้คนไทยเป็นคนที่พร้อมจะต่อสู้กับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ หรือยินดีที่จะทำในสิ่งที่ยากลำบากเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สูงส่งและมีคุณค่าต่อส่วนร่วมมากขึ้น

ความมักง่ายที่ขยายตัวออกอย่างกว้างขวางนี้ ทำให้ผมอยากจะนิยามสังคมไทยปัจจุบันว่าเป็น "สังคมแห่งความมักง่าย" ครับ

ก่อนจะแก้ปัญหา เราคงต้องยอมรับความจริงกันอย่างหนึ่งว่า เมื่อก่อนสังคมไทยก็มีลักษณะของ "สังคมมักง่าย" อยู่  ดังที่รับรู้อยู่ตลอดมาว่าสังคมไทยเป็นสังคมสบายๆ ไม่เคร่งครัดอะไร  มีอะไรก็หยวนๆ กันไป รถยนต์ก็มีไม่มากนัก บางจังหวัดพอถึงสามทุ่มแล้วก็ไม่มีคนบนท้องถนนแล้ว ชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ก็มีอาณาเขตของชีวิตไม่ไกลจากชุมชนตนเองมากนัก การศึกษาก็จะอยู่ในระดับภาคบังคับเป็นส่วนใหญ่ (ป.๔ แล้วก็เพิ่มเป็น ป.๗ )   คนที่เข้าเรียนในระดับปริญญาตรีมีไม่มากนัก และเมื่อจบแล้วก็หางานทำได้ไม่ยาก ไม่ต้องรู้อะไรก็ไปเรียนรู้งานง่ายๆในระบบเอาเอง    ปัญหาต่างๆจึงไม่ซับซ้อนและสามารถปัดเป่าได้ในระดับชุมชนหรือโดยอาศัยกลไกทางวัฒนธรรม

แต่สังคมไทยวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว แต่คนไทยยังคงผลิตซ้ำและขยาย "ความมักง่าย" ให้เพิ่มมากขึ้นในทุกมิติของชีวิต จนน่าสงสัยว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและไพศาลนี้


อะไรทำให้เราอยู่กับ "ความมักง่าย " จนกลายเป็นเรื่องปรกติเช่นนี้ 

หากนิยาม "ความมักง่าย" ให้สัมพันธ์กับสังคม เพื่อจะหลีกเลี่ยงการอธิบายทุกอย่างด้วยคุณลักษณะบางอย่างที่คนไทยถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคุณลักษณะประจำชาติ (เช่น “ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้” เป็นต้น)  ความหมายของคำว่า “มักง่าย” ก็จะหมายถึงการตัดสินใจหรือการกระทำที่ไม่ได้ใคร่ครวญว่าควรทำหรือไม่  หรือทำไปแล้วจะส่งผลอย่างไร  โดยจะเป็นการตัดสินใจทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ บนฐานคิดที่ว่าหากมีปัญหาอะไรก็ค่อย แก้ไขทีหลัง

ผมคิดว่าการขยายตัวของ " ความมักง่าย" เกิดขึ้นจากกระบวนการการเรียนรู้ทุกมิติในสังคมไทย

สังคมไทยทอดทิ้งการเรียนรู้ (Learning) และลดทอนให้เหลือเพียงแค่ “การศึกษาในระบบโรงเรียน" (Schooling) จึงทำให้การศึกษาในระบบนั้นไม่เชื่อมต่อกับอะไรทุกอย่างในสังคม บุคลากรในระบบการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นครูที่สอนให้คนออกไปเป็นครู  หรือ ครูที่สอนเด็ก ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถจะเชื่อมต่อความหมายของการศึกษาเข้ากับชีวิตทางสังคมได้เลย ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน จากงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ทางการศึกษายังคงเน้นที่การทำวิจัยเชิงปริมาณห้าบทอยู่ตลอดมา
 
เพราะเรามองไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราจึงสร้างการศึกษาที่ไม่มีความรู้ใดให้เรียนรู้อย่างจริงจังจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่น เราเรียนวิชาต่างๆ ด้วยการท่องจำความรู้ที่คนอื่นสร้างไว้โดยที่เราไม่ตระหนักเลยว่าการค้นคว้าและสร้างความรู้แต่ละชุดย่อมสัมพันธ์อยู่กับความปรารถนาที่จะตอบปัญหาให้แก่สังคมในยุคหนึ่งๆ  ซึ่งเมื่อปราศจากความเข้าใจความปรารถนาของสังคมก็ย่อมไม่มีทางเข้าใจผลการค้นคว้าเรื่องหนึ่งๆ ได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างความรู้ใหม่หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อจะตอบสนองปัญหาหรือความสนใจของสังคมในปัจจุบันด้วย

หากเราสามารถสร้างการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์หนึ่งๆ ก็ย่อมที่จะทำให้เราสามารถตัดสินใจเลือกทำอะไรหรือเลือกไม่ทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการตัดสินใจอย่างมักง่าย  และจะสามารถทำให้เราเชื่อมต่อสิ่งที่เราอยากจะรู้หรือสามารถเชื่อมต่อกับ "ข้อมูล" ใหม่ที่เข้ามาสู่สมองเราได้อย่างมีความหมาย

ฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการสร้างศักยภาพการมองเห็นความสัมพันธ์เช่นนี้ ได้แก่ การเรียนรู้ “วิธีคิดทางประวัติศาสตร์” ที่ช่วยให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์หนึ่งๆ กับบริบทที่ซับซ้อนของปรากฏการณ์นั้นๆ น่าเสียดายที่วิชาประวัติศาสตร์ที่สอนกันในโรงเรียนทั้งหมดและในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งกลับไม่ได้เป็นวิชาที่เสริมสร้างศักยภาพที่จะใช้ “วิธีคิดทางประวัติศาสตร์" แต่อย่างใด 

"วิธีคิดทางประวัติศาสตร์” แบบที่ผมพูดถึงนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในวิชาประวัติศาสตร์อย่างที่เข้าใจกันในสังคมไทย หากแต่เป็นพื้นฐานการคิดที่จะทำให้เราเข้าใจทุก "สาระ" ที่เรียนรู้ว่ามีที่มาที่ไปหรือเกิดขึ้นในเงื่อนไขอะไร และควรจะประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในสถานการณ์หรือในบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
 
หากเราสามารถทำให้การคิดอย่างเป็นประวัติศาสตร์ฝังอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เราก็จะไม่ “มักง่าย” แต่จะผลักดันตัวเองให้เริ่มต้นตั้งคำถามเพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงส่วนที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงหนึ่งๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในระดับสังคมหรือระดับชีวิตประจำวัน  เพราะคำถามพื้นฐานของการ “คิดเองเป็น” ก็คือ ทำไมเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาได้ และเกิดขึ้นในเงื่อนไขอะไร

การตอบคำถามว่าทำไมเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นมาได้ จะบีบบังคับให้เราต้องคิดถึง " เหตุการณ์" อื่นว่ามีความเชื่อมต่อกันหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้มองกลับไปก่อนหน้านั้นว่าอะไรเกิดขึ้น และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญอย่างไรบ้าง การบังคับให้เราต้องคิดไปในทำนองนี้จะทำให้เราเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความต่อเนื่อง ความผสมผสานที่ผ่านมาในแต่ละช่วงของเวลาหรือแต่ละส่วนของเหตุการณ์ที่เรากำลังต้องการอธิบาย เพื่อจะตัดสินใจเลือกที่จะ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” ได้อย่างเหมาะสม

การตอบคำถามว่าปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นในเงื่อนไขอะไร จะบีบบังคับให้เราต้องแสวงหา/มองหาปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่น่าจะมีส่วนกำหนดหรือสัมพันธ์กับการเกิดเหตุการณ์นั้นๆ  การบังคับตนเองให้มองเห็น “บริบท” หรือเงื่อนไขแวดล้อมที่ซับซ้อนมากขึ้นก็จะทำให้สามารถจินตนาการเชื่อมต่อ “ข้อมูลปลีกๆ” ให้เกิด “ความหมาย” หรือเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างชัดเจน

กระบวนการคิดทางประวัติศาสตร์เช่นนี้จะเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างความเข้าใจหรือ “ความรู้”  ใหม่ๆ เพื่อทดแทนความรู้แบบเก่าที่ไม่น่าจะเพียงพอต่อการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาใหม่ๆ ในสังคมปัจจุบัน   เพราะปัญหาที่ดูเผินเผินอาจจะคล้ายคลึงกันจนตอบได้เป็นสูตรสำเร็จ เช่น “เด็กแว้นเกิดขึ้นเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาสั่งสอน” ฯลฯ แต่หากบังคับให้ลองมองด้วยวิธีคิดประวัติศาสตร์  เราก็อาจจะแยกให้เห็นถึงเด็กแว้นสองยุคที่แตกต่างกันทั้งภูมหลัง และบริบทของเด็กแว้นเอง ซึ่งก็จะเข้าใจเด็กแวนซ์ได้ซับซ้อนมากขึ้น และมองเห็นทางเลือกที่จะแก้ปัญหาเพื่อชีวิตที่ดีกว่าขอองเด็กแวนซ์ได้ดีขึ้นกว่าการใช้ความรู้เดิมหรือคำตอบเดิม เป็นต้น
 
การใช้วิธีคิดทางประวัติศาสตร์จะผลักดันให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นก่อนและหลังปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เราจะศึกษา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจในเชิงกระบวนการหรือ “ทั้งหมด” ของพลวัตรในเรื่องนั้นๆ ได้ดีมากขึ้น 

การค้นพบความรู้ใหม่ด้วยวิธีคิดทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากความตระหนักว่าความรู้เดิมไม่ช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน เช่นเดียวกันกับการค้นพบหลักการของความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle ) ของไฮเซนเบอร์ (Heisenberg ) :ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความปรารถนาที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่ซับซ้อนจนทฤษฏีแบบเดิมตอบไม่ได้ และผลกระทบต่อมาก็คือการคิดบนหลักการความไม่แน่นอนนี้ก็ส่งเปิดหน้าต่างให้แก่การคิดที่แตกต่างไปได้อย่างกว้างขวาง

การตัดสินใจในชีวิตประจำวันของผู้คนก็เช่นเดียวกัน หากสามารถผลักดันให้ผู้คนคิดและไตร่ตรองอย่างเป็นประวัติศาสตร์มากขึ้น ก็จะทำให้ผู้คนสามารถที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่อย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น และ “มักง่าย” น้อยลง เพราะอย่างน้อยก็ตระหนักว่าการทำหรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโลกหรือสังคมในภายหน้า

หากมองในระดับชีวิตของแต่ละคน ผมอยากให้ผู้อ่านไปค้นหนังสือตอบปัญหาชีวิตชื่อ “แล้วเราก็ปรึกษากัน “เขียนตอบโดย “รังรอง” (พิมพ์ในนิตยสารแพรวเมื่อราว 30 ปีมาแล้ว) ก็จะเห็นชัดเจนขึ้นว่าหากคิดให้เป็นประวัติศาสตร์แล้วจะมองเห็นปัญหา “ชีวิต” และทางออกจากปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น

ทุกอย่างล้วนมีความเป็น “ประวัติศาสตร์” ทุกอย่างล้วนคลี่คลายมาจนถึงปัจจุบัน  เราไม่สามารถหยุด “เวลา” หรือ” ปัญหา” หนึ่งใดไว้เพียงแค่ในปัจจุบันกาล ไม่ว่าอารมณ์ความรู้สึก ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ความเป็นไทย ฯลฯ การคิดไตร่ตรองอย่างเป็นประวัติศาสตร์จะเอื้อให้แก่การทำความเข้าใจสรรพสิ่งรอบตัวเราได้ ดีขึ้น  และเชื่อได้ว่าการตัดสินใจของคนในสังคมก็จะมีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้การคิดแบบเป็นประวัติศาสตร์ด้วยการทำความเข้าใจในเงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ยังก่อให้เกิดความรู้สึกที่จะผูกพันตนเองไว้กับสังคมหรือชุมชน  เพราะเราจะตระหนักเสมอว่าเราล้วนอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมเดียวกัน กระบวนการคิดเช่นนี้จะชักนำให้ผู้คนมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น (compassion) ซึ่งก็จะมีผลต่อการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรที่ไม่ได้ขึ้นอยู่เฉพาะความรู้สึกที่ “แว็บ” ขึ้นมาของปัจเจกชนคนเดียวเท่านั้น

การคิดแบบเป็นประวัติศาสตร์คือการคิดไปให้ไกล ทั้งการมองเข้าไปในอดีตและจินตนาการถึงภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  การคิดเช่นนี้จะลดทอนความมักง่ายของผู้คนในสังคมไทยลงไปได้อย่างแน่นอน

สังคมไทยเผชิญปัญหา “ความมักง่าย” มาเนิ่นนาน ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันคิดและทำในทุกระดับและทุกระบบ  ทางวิชาการก็ต้องหยุด ”มักง่าย”  เสียที เช่น การเอาแนวคิดของนักจิตวิทยา (เน้นปัจเจกชนเพื่อรับใช้ระบบทุนนิยม ซิกมันด์ ฟรอยด์) มาอธิบายอย่างมักง่าย หรือ เอากรอบคิดเก่าๆ ของความเป็นไทย (ที่ตนเองก็อธิบายไม่ได้) มาอธิบายสังคมปัจจุบัน

ถ้าเรารักสังคมไทยและปรารถนาให้สังคมไทยของเราเราน่าอยู่ขึ้น เราก็ต้องเรียกร้องต่อตัวเราและคนอื่นๆ ให้ใช้วิจารณญาณมากขึ้น และใช้ความมักง่ายน้อยลงครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net