Skip to main content
sharethis
12 มี.ค. วันหยุดเขื่อนโลก สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ออกแถลงการณ์ “ยุติการการสร้างเขื่อน หยุดการทำลายแม่น้ำ หยุดยั้งการทำลายวิถีชีวิตของคนหาปลา” เรียกร้องให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง และให้เปิดเผยผลกระทบโดยรวมของการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ต่อสาธารณะ ด้านทหาร-ตำรวจ ประกบการทำกิจกรรม ให้ยกเลิกวงเสวนา
 
12 มี.ค. 2559 เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ออกแถลงการณ์ “ยุติการการสร้างเขื่อน หยุดการทำลายแม่น้ำ หยุดยั้งการทำลายวิถีชีวิตของคนหาปลา” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
“ยุติการการสร้างเขื่อน หยุดการทำลายแม่น้ำ หยุดยั้งการทำลายวิถีชีวิตของคนหาปลา”
 
เป็นเวลาเกือบ 25 ปีแล้วที่ระเบิดลูกแล้วลูกเล่าได้โถมทลายแก่งคันเห่ว ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัย และที่วางไข่ปลานานาชนิด เพื่อสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนซึ่งอ้างว่าจะนำพาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติทั้งด้านพลังงานไฟฟ้า และด้านการชลประทาน เขื่อนที่อ้างว่าเป็นเสมือนตัวแทนของการพัฒนา แท่งคอนกรีตบดอัดแน่น สูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 136 เมกกะวัตต์ ก็ตั้งตระหง่านปิดกั้นแม่น้ำมูนที่หมู่บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยอยู่ห่างจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำมูล กับแม่น้ำโขงประมาณ 5.5 กิโลเมตร ท่ามกลางเสียงคัดค้านต่อต้านจากชาวบ้านซึ่งดังขึ้นตั้งแต่ก่อนการสร้าง จนการก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
 
ในขณะที่ความเสียหายจากเขื่อนปากมูลต่อแม่น้ำมูน ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักก็กำลังเผชิญภาวะวิกฤตการณ์อันหนักหน่วง เมื่อประเทศจีน ได้สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดมหึมาจำนวน 6 เขื่อนและได้เริ่มเดินเครื่องทำงานในแม่น้ำโขงตอนบนแล้ว ขณะที่ในลุ่มน้ำโขงส่วนอื่นๆ ยังมีเขื่อนตั้งอยู่บนแม่น้ำสายต่างๆ ดังนี้ แม่น้ำสาขา 6 สายในประเทศลาว และแม่น้ำชีในประเทศไทย แม่น้ำเซกอง สเรปอก และเซซานซึ่งไหลมาจากประเทศเวียดนามและลาวลงสู่ประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ ลาวยังเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮงบนแม่น้ำโขงสายหลักอีกด้วย เขื่อนเหล่านี้โดยเฉพาะเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ทั้งคู่ จะสร้างภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อประชากรปลาในลุ่มแม่น้ำโขงให้ลดจำนวนลงอย่างรุนแรง 
 
ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง จะเกิดขื้นเมื่อกระแสน้ำธรรมชาติถูกกีดขวางด้วยเขื่อน ดินโคลนอันอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถพัดพาลงไปสู่แม่น้ำตอนล่างได้ การสะสมของตะกอนดินจะทำให้คุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำตกต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนยังเป็นอุปสรรคต่อวงจรการผสมพันธุ์ของปลา ทำลายแหล่งที่อาศัยและแหล่งอาหาร ทำให้ทรัพยากรปลาลดลงอย่างน่าเป็นห่วง สำหรับปลาหลายสายพันธุ์ในแม่น้ำโขง ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติในช่วงหน้าฝนเป็นการส่งสัญญาณให้ ผสมพันธุ์ การปล่อยน้ำของเขื่อนทำให้สัญญานนั้นสูญหายไป การผสมพันธุ์ของปลาจึงถูกรบกวน อีกทั้ง ระดับน้ำที่แปรปรวนผิดจากธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ ทำให้จำนวนพืชพันธุ์และแมลงในน้ำซึ่งเป็นอาหารของปลาลดจำนวนลง ผู้คนก็จะได้รับผลกระทบอย่างสาหัสเช่นกัน เขื่อนยังจะทำลายแปลงพืชผักริมน้ำและที่ปากแม่น้ำซึ่งชุมชนท้องถิ่นทำกันมาหลายชั่วคน
 
แม่น้ำโขงซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านกำลังสูญเสียระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์เนื่องจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา ร้อยละ 80 ของประชากรราว 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท พวกเขาพึ่งพาการเกษตร การประมง การจับสัตว์น้ำอื่นๆ และการเก็บพืชผักเพื่อการดำรงชีวิต ปลาจากแม่น้ำโขงมีความหมายอย่างมากต่อผู้คนในภูมิภาค เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ และปลายังเป็นแหล่งรายได้หลัก ที่สร้างรายได้ประมาณ 4.2 - 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
 
หากสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป มนุษย์ไม่อาจจะทำอะไรได้อีกเลยเพื่อให้ชีวิตที่สูญพันธุ์ไปคืนกลับมา ตรงกันข้าม กระแสไฟฟ้าสามารถผลิตได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น ด้วยลม และแสงแดด อย่างไรก็ตามการทำลายแม่น้ำกลับได้รับการยอมรับด้วยเหตุผลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ผลกำไรตกสู่มือของของผู้ลงทุนในโครงการเพียงไม่กี่ราย ในขณะที่ภาระการลงทุนเกินความจำเป็นกลับตกเป็นของประชาชนทั่วไปซึ่งถูกบังคับให้ซื้อไฟฟ้าด้วยราคาที่สูง สิ่งที่จะตกไปถึงชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่การสร้างเขื่อน หากไม่ได้มีเพียงการสูญเสีย ก็เป็นเพียงผลประโยชน์อันน้อยนิด 
 
ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก 2559 นี้ พวกเราสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อนปากมูล มายาวนานกว่า 25 ปี พวกเราขอเรียกร้อง ดังนี้
 
1.) ให้ทบทวน ยกเลิกการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง และให้เปิดเผยผลกระทบโดยรวมของการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ต่อสาธารณะ
2.) ให้ทบทวนการประเมินแผนการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก และแม่น้ำสาขาที่สำคัญ รื้อถอนเขื่อนหากจำเป็นเพื่อสวัสดิภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมในลุ่มแม่น้ำโขง 
3.) ให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 
4.) ให้การชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากโครงการเขื่อนที่มีอยู่ ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อการฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย 
 
แม่น้ำโขงเป็นสมบัติของความหลากหลายทางชีวภาพ มีคุณค่าที่จะร่วมกันรักษาให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ เพื่อผลประโยชน์ของผู้คนทั่วโลก พวกเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เพื่อไม่ให้ถูกทำลาย พร้อม ๆ กับการฟื้นฟูแม่น้ำมูน ให้กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ให้จงได้
 
ด้วยจิตรคารวะ
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
12 มีนาคม 2559
ณ. เขตรักษาพันธุ์ปลา “วังปู่ผลาเหล็ก”
แม่น้ำโขง บ้านห้วยหมากใต้ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบล
 
 
 
 
 
 
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่ากิจกรรมการจัดงานวันหยุดเขื่อนโลกที่ปากมูนนั้นเกือบที่จะไม่ได้จัดหลังจากที่ถูกให้ย้ายที่จากเดิมคือสพานข้ามแม่น้ำมูน (บ้านด่าน -บ้านท่าแพ) ไปเป็น "วังปลาปู่ผลาเหล็ก" ในวันนี้ (12 มี.ค.) และในงานวันนี้ยังทีทหารจาก ททบ.22 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานด้านความมั่นคง มากำกับการจัดงานกว่า 35 นาย ซึ่งตามกำหนดการเดิมนอกจากการทำพิธีกรรมแล้ว ก็จะมีเวทีเสวนาต่อ แต่การเสวนาต้องถูกสั่งให้ยกเลิกไป
 
โดย สำนักข่าวไทย รายงานว่า กลุ่มตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนจาก 3 อำเภอ คือ โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร ประมาณ 100 คน ร่วมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญสืบชะตาแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง บริเวณเกาะกลางแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นวังปลาปู่ผลาเหล็ก เขตบ้านห้วยหมากใต้ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคมของทุกปี โดยกลุ่มชาวบ้านได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า การสร้างเขื่อนตามลำน้ำต่างๆในประเทศไทย ไม่ใช่หนทางใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งหรือน้ำท่วมได้อย่างที่เคยเข้าใจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีเขื่อนขนาด2ใหญ่ กลาง และอ่างเก็บน้ำรวมกันถึง 4,758 แห่ง แต่ยังไม่สามารถใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งได้เบ็ดเสร็จ ขณะที่การสร้างเขื่อนบางแห่งมีผลกระทบต่อความเป็นของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มสมัชชาคนจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ หลังสร้างเขื่อนปากมูล
 
ส่วนเวทีเสวนา “แม่น้ำเพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย” ของกลุ่มสมัชชาคนจนที่จะจัดขึ้นหลังทำพิธีบายศรีสู่ขวัญนั้น ต้องยุติไป เนื่องจากทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัดอุบลราชธานีได้ขอความร่วมมือและขอร้องการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนให้ความร่วมมือด้วยดีและแยกย้ายกลับอย่างเรียบร้อย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net