Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ร้องเรียนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีเด็กวัย 4 ขวบ ถูกโรงเรียนบังคับตรวจเลือด หา HIV หลังรู้ว่าพ่อแม่เด็กมีเชื้อเอชไอวี ทั้งที่พ่อแม่ยันตรวจเลือดหลายครั้งแล้วไม่มีเชื้อ ชี้ละเมิดสิทธิ-เลือกปฏิบัติ จี้สอบข้อเท็จจริง-หามาตรการลงโทษ

14 มี.ค. 2559 ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เข้าร้องเรียนนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีเด็กวัย 4 ขวบ ถูกโรงเรียนบังคับตรวจเลือด

สุภาลักษณ์ สิทธิจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่า ลูกของเขาซึ่งมีอายุเพียง 4 ขวบกว่า ถูกโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม บังคับให้ตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งที่ผู้ปกครองเด็กได้บอกทางโรงเรียนไปว่าเด็กเคยตรวจเลือดหลายครั้งแล้ว ยืนยันว่าไม่ติดเชื้อฯ แน่นอน และทางโรงพยาบาลก็ยืนยันว่าจะไม่ตรวจให้ แต่ทางโรงเรียนไม่ยอมรับฟัง ครูและผู้บริหารโรงเรียนคงจะเข้าใจว่า เมื่อพ่อแม่มีเชื้อลูกก็จะติดเชื้อไปด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาล ขอให้โรงพยาบาลตรวจเลือดเด็ก ในหนังสือระบุว่า เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเข้าศึกษาต่อและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้กับนักเรียนร่วม ผู้ปกครองของเด็กบอกกับเครือข่ายฯว่า ทั้งโรงเรียนมีลูกของเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกบังคับให้ไปตรวจเลือดและนำผลมาแสดง และบอกอีกว่าต้องยอมทนเห็นลูกเจ็บตัวอีกครั้งโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าไม่ยอม โรงเรียนก็คงไม่ให้ลูกสมัครเข้าเรียน

“ทุกช่วงการเปิดเทอมใหม่ เครือข่ายฯจะได้รับเรื่องร้องเรียนเช่นนี้ทุกปี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ สธ.ได้ประกาศนโยบายรณรงค์ลดการเลือกปฏิบัติ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ไปเพียงวันเดียว สธ.ต้องทำหน้าที่ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเร่งดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและให้มีบทลงโทษผู้กระทำผิดและมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งควรจัดให้มีหน่วยงานของ สธ.ทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ รับผิดชอบงานเรื่องการลดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิผู้ติดเชื้อฯ เพราะปัจจุบันนี้แม้การทำงานเรื่องการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี/เอดส์ของประเทศจะก้าวหน้าไปมาก ผู้ติดเชื้อฯ ทุกคนเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ภูมิต้านทานต่ำ แต่ผู้ติดเชื้อฯ จำนวนมากที่เข้าถึงการรักษาแล้ว ยังไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้เป็นปกติ เพราะชุมชน ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ยังมีความเข้าใจผิดและมีอคติในเรื่องเอชไอวีอยู่” อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายเครือข่ายฯ กล่าว

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ครอบครัวนี้ถูกเลือกปฏิบัติ เมื่อ 2 ปีก่อน เด็กคนเดียวกันนี้ก็ถูกปฏิเสธจากชุมชน เมื่อครั้งพาไปสมัครเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ในครั้งนั้นได้มีการร้องเรียนไปที่อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมีรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับมาว่า ยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีตามที่ได้ร้องเรียน

“นี่คือปัญหาจากการที่ผู้บริหารหน่วยงานไม่มีวิสัยทัศน์ด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชน แทนที่หน่วยงานของรัฐซึ่งควรจะทำหน้าที่ในการปกป้องช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดปัญหา กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ซ้ำเติมปัญหาเสียเองโดยการนิ่งเฉย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการละเมิดอีกทางหนึ่ง” นิมิตร์เพิ่มเติมและว่า “อยากขอความร่วมมือเพื่อนสื่อมวลชนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ให้ได้รับผลกระทบมากไปกว่านี้ โดยการไม่ติดตามทำข่าวที่เป็นการเข้าถึงครอบครัวเด็กและตัวเด็กโดยตรง”

นพ.โสภณ กล่าวภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า จริงๆ แล้ว รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายชัดเจนว่าห้ามตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับหรือไม่รับนักเรียน อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของชุมชนสังคมด้วย ซึ่งภาพรวมยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวีและเอดส์ โดยยอมรับว่านโยบายลดการตีตรานั้นในทางปฏิบัติยังมีปัญหา ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการทำความเข้าใจกับคนในสังคม ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ก็มีนโยบายให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเดินหน้าลดปัญหาการตีตรา เช่น สธ. ศธ. กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย โดยให้ดำเนินการคือ เป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ สร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวีและเอดส์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน แก้ปัญหาเรื่องกฎหมายและระเบียบที่ละเมิดสิทธิ เช่น ประกาศบังคับตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน และมีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่ง สธ.จะมีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานในการดูแลเรื่องนี้


ที่มา: เว็บไซต์เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net