ปฏิบัติการทางทหารในโรงพยาบาลเจาะไอร้องเมื่อวาน ‪#‎บ้าทั้งคู่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สรุป...ปฏิบัติการทางทหารในโรงพยาบาลเจาะไอร้องเมื่อวานนี้บ้าทั้งคู่

ฝ่ายหนึ่ง...‪ สร้างค่ายทหารติดกับโรงพยาบาล (นอกจากโรงพยาบาล ก็มีค่ายทหารในเขตโรงเรียน วัด ใกล้ตลาด กลางชุมชน ฯลฯ) ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองคือเป้าแข็งสำหรับการถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามและเป็นคู่สงครามที่ต่อสู้กันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ค่ายแห่งนี้เคยโดนถล่มมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นตั้งค่ายอยู่ที่เดิม อาศัยจังหวะและสถานที่เป็นโล่มนุษย์ให้กับกองกำลังติดอาวุธแห่งรัฐ เพื่อหวังแต้มทางการเมืองเมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบโจมตีอย่างเมื่อวาน

ส่วนอีกฝ่าย...ก็บ้าระห่ำไม่แพ้กัน  ‎ยึดโรงพยาบาลเป็นฐานที่มั่นเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม ผมยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า...

1.กองกำลังปลดแอกปาตานีถล่มฐานทหารก่อนแล้วหนีเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อเป็นทางผ่านไปขึ้นภูเขาตะเวที่อยู่ด้านหลังโรงพยาบาล อาจด้วยลู่ทางถอยหนีอื่นถูกปิดล้อมหมดแล้ว จึงเหลือโรงพยาบาลที่เป็นทางหนีเดียว จึงเลือกเข้าไปในโรงพยาบาลและระหว่างถอยก็โดนทหารในค่ายสวนเข้ามา จึงสวนกลับด้วยกระสุนนับร้อยเพื่อเปิดทางให้ตัวเองหนีขึ้นภูเขาได้

ปฏิบัติการทางทหารเกือบจะจบลงด้วยความสมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าไม่ยึดโรงพยาบาลอ่ะน่ะ

2.กองกำลังปลดแอกปาตานีตั้งใจอยู่แล้วที่จะใช้โรงพยาบาลเจาะไอร้องเป็นบังเกอร์ในการโจมตีฐานทหารพรานที่อยู่ด้านข้างโรงพยาบาล ด้วยทัศนวิสัยต่อเป้าหมายที่ชัดเจน จึงตัดสินใจยึดโรงพยาบาลแล้วเริ่มโจมตีอย่างรวดเร็ว หากข้อนี้คือข้อจริง ผมมองว่าขบวนการปลดแอกปาตานี มีแต่จะเสียแต้มทางการเมืองและเสียหายในสงครามแย่งชิงมวลชนระลอกนี้เป็นแน่

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร...แต่ผมเองก็ยังคงมีคำถามมากมายต่อปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเจาะไอร้องเมื่อวาน ดังนี้

1.อะไรคือเจตจำนงของฝ่ายปฏิบัติการที่ถล่มค่ายทหารพรานใกล้โรงพยาบาลเมื่อวาน...‪เกี่ยวโยงกับประเด็นSAFETYZONE ที่รัฐไทยได้เรียกร้องจากมาร่าปาตานีตามข้อเสนอสามข้อ ที่มีแผนทดลองใช่และนำรองในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง/สุไหงปาดีหรือไม่

(นิยามตามความเข้าใจของผม เซฟตี้โซนคือ พื้นที่ปลอดภัย[สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการของรัฐ]แต่ไม่ปลอดภัย[สำหรับคนคิดเห็นต่างหรือคนของขบวนการฯ])

หรือ‎เป็นแค่กิจกรรมทางทหารตามปกติทั่วไป ของฝ่ายขบวนการปลดแอกปาตานีที่ลงมือปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตามยุทธวิธีการต่อสู้แบบกองโจรที่ต้องอาศัยช่วงจังหวะเวลาและสถานที่เป็นสำคัญ (และเป็นรูปแบบสงครามที่คนกลุ่มน้อยต่อสู้กับคนกลุ่มใหญ่ที่มีประสิทธิภาพด้านอาวุธและจำนวนทหารที่เหนือกว่า) หรือ‎เป็นปฏิบัติการทางทหารเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวันครบรอบวันก่อตั้ง ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูอิสลามปาตานี BRN เนื่องจากปฏิบัติการครั้งนี้ (13 มีนาฯ) ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เจาะไอร้องเท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ถล่มค่ายอาสาสมัครฯ กราดยิง ระเบิดเสาไฟฟ้าอีกหลายจุด (กว่า13เหตุการณ์) ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดยะลาและนราธิวาสด้วย รัฐไทยได้ประกาศว่าวันที่ 13 มีนาคม คือวันก่อตั้ง BRN ซึ่งจริงเท็จประการใด ผมก็มิอาจทราบได้เพราะ BRN เองก็ไม่เคยประกาศด้วยตัวเองอย่างเป็นทางการหรือแถลงการณ์อะไรเลยเนื่องในวันครบรอบวันก่อตั้งพรรคปฏิวัติของตัวเอง

จะอย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการครั้งนี้ได้ส่งผลสะเทือนต่องานการเมืองและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ นักการทหาร และภาคประชาสังคมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลสะเทือนไปถึงเวทีพูดคุยในกระบวนการสร้างสันติสุขระหว่างรัฐไทยกับมาราปาตานีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ไม่คำนึงถึงหลักIHL(International Humanitarian Law: ว่าด้วยกฏหมายมนุษยธรรมสากล/หรือกฏหมายสงคราม) บ้างเลยหรือ?.....แม้ทางนิตินัยรัฐไทยไม่เคยยอมรับว่าปาตานีหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือพื้นที่สงคราม แต่ในทางพฤตินัยแล้วถือรัฐไทยได้ประกาศสงครามในพื้นที่นี้แล้ว ด้วยจำนวนพลทหารและอาวุธที่ขนลงมาอย่างมากมาย ด้วยกฏหมายพิเศษฉบับต่างๆที่โดยปกติเอาไว้ใช้ในยามสงครามก็ถูกประกาศบังคับใช้ในพื้นที่ใช้มาหลายปี ด้วยยุทธวิธีทางการทหารเต็มรูปแบบ‪ เหตุนี้‎จึงสามารถกล่าวได้ว่าที่นี้คือพื้นที่สงคราม

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายขบวนการติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยปาตานีกลุ่มต่างๆ เอง ก็ได้ทำการต่อสู้และโจมตีฝ่ายรัฐไทยด้วยอาวุธสงครามเป็นเวลายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มคนที่ไม่ได้มีส่วนกับการปฏิวัติครั้งนี้มาหลายครั้งแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ‎การคำนึงถึงหลักIHL จึงจำเป็นสำหรับคู่สงครามที่จะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจและตระหนักถึงทุกครั้งที่จะมีปฏิบัติการหรือวางแผนทางการทหาร

ขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่ผมคิดว่าขัดกับหลัก IHL อาทิ การสร้างค่ายทหารของรัฐไทยก็ควรตั้งในพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชนหรือสาธารณประโยชน์ เช่น โรงบาล โรงเรียน วัด สถานีอนามัย ชุมชน ตลาด ฯลฯ การจับกุมผู้ต้องสงสัยควรดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม(ที่ยุติธรรมจริงๆ) ไม่ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย แต่อาศัยพยานหลักฐานในการเอาผิดและดำเนินคดี ไม่คุกคาม ขมขู่ หรือกลั้นแกล้งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และชาวบ้านที่มีทัศนทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม

ฝ่ายขบวนการฯ เองก็ควรระมัดระวังทุกครั้งที่จะมีกิจกรรมทางทหาร เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้มีส่วนกับงานปฏิวัติ หลีกเลี่ยงการโจมตีในเขตที่มีประชาชนทั่วไปอาศัยอยู่หนาแน่น ตระหนักถึงหลักมนุษยธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นต้น... ‪

แม้คู่สงคราม(รัฐไทยและBRN)ไม่เคยยอมรับหลักการ IHL แต่ด้วยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง การปฏิบัติการทางการทหารก็ควรให้ความเคารพและตระหนักต่อศักดิ์ศรีเพื่อนร่วมโลกในฐานะพื้นฐานของมนุษยธรรม หากไร้มนุษยธรรมแล้วเราจะต่างอะไรจากเดรัจฉาน แต่คำถามก็คือ ‪ เราจะเรียกร้องความเป็นมนุษยธรรมในสงครามครั้งนี้จากใคร ยังไง ให้ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ?

3.ตกลงความจริงแล้ว ผมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการฯ และรัฐไทยหรือเปล่า หรือผมมีสิทธิเพียงแค่นั่งเงียบๆ และรับฟังข่าวสารก็พอ หรือผมเป็นได้แค่นักวิจารณ์ที่ไม่ได้ทำห่าอะไรเลย หรือผมควรอยู่นิ่งๆเพราะไม่ใช่กิจของผม หรือผมควรทำอะไรสักอย่างเพื่อการมีส่วนร่วมในการยุติสงครามครั้งนี้ และมีส่วนกับการสร้างสันติภาพที่ประชาชนปาตานีพึ่งพอใจและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนปาตานี หรือแค่รอวันตัดสินของพระเจ้ามาเยือนบนแผ่นดินแห่งนี้?????

 

ที่มา: www.deepsouthwatch.org

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท