คสช. ขอ 250 ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน+งดเปิดชื่อนายกฯ ห่วงหลังเลือกตั้งขัดแย้งอีก

เปิดข้อเสนอฉบับเต็มของ คสช. ต่อร่าง รธน. เผยห่วงประเทศกลัวขัดแย้งช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง ขอ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คานอำนาจกับ ส.ส. ติดดาบเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ งดเปิดชื่อนายกฯ หวั่นหลังเลือกตั้งรัฐบาลผสมตกลงชื่อกันไม่ได้ ขออย่าระแวงว่าจะสืบทอดอำนาจ

15 มี.ค. 2559 ที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้มีการเพยแผร่ ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มาจากการประชุมแม่ 4 สายเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2559 ลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยข้อเสนอดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรม

เรียน ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมหารือเป็นการภายในระหว่างหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินายก รัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ที่ประชุมได้รับทราบตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้ทราบถึงแนวทางและขั้นตอนการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน (Roadmap) ระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง และระยะที่สาม ตามที่เคยประกาศไว้แล้ว นอกจากนี้เมื่อได้พิจารณาถึงสถานการณ์ของประเทศในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแล้ว ที่ประชุมยังมีความเห็นว่าเมื่อเข้าสู่ระยะที่สามใน พุทธศักราช 2560 ตาม Roadmap ดังกล่าว ก็จะเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศไปสู่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคณะใหม่ ซึ่งมีเวลาเท่ากับวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของ ประเทศซึ่งอาจประสบปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อยและเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่ประสงค์จะพบเห็น

ที่ประชุมแสดงความห่วงใยว่าโดยที่ห้วงเวลาหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการยึด อำนาจรัฐที่เมื่อวัน 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่า ภายหลังจากนั้นได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้กระทำ ผิดในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดียาเสพติด และคดีค้ามนุษย์ อย่างเข้มงวดตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังดำเนินการปฏิรูปประเทศไปแล้วบางเรื่อง มีการออกกฎหมายและขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและเพิ่มความเข้มแข็งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจใน ตลาดโลก การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การจัดระเบียบสังคม และการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมเดชานุภาพมิให้มีการล่วง ละเมิดจาบจ้วงดังที่เคยเกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้น สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลได้ดำเนินการไว้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกระเทือนบุคคลบางหมู่เหล่าเป็นธรรมดาและกำลังฟื้นฟูดูแล ให้เข้ารูปเข้ารอย อาจถูกล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงจนขาดความต่อเนื่อง โดยอาศัยวิถีและกลไกประชาธิปไตยว่ามาจากการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างจึงใช้เสียง ข้างมากในรัฐสภามุ่งเอาชนะคะคานจนเกิดความเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งรุนแรง และความไม่ปกติสุขดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและหวนกลับคืนมาใหม่จนเข้าวงจรเดิมดังที่เรียกกันทางสื่อต่างๆ ว่าเป็นกับดักทางเศรษฐกิจที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศ การทำมาค้าขาย การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว ไม่อาจเติบโตได้ กับดักทางสังคมที่ชะลอการพัฒนาประเทศ การดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชาชน การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการรักษาความสงบเรียบร้อย และกับดับทางการเมืองที่สร้างความหวาดระแวงหรือเกลียดชังในหมู่ประชาชนแล้ว แยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่ายผลักดันให้ออมาปะทะกันทั้งทางความคิด วาจา และการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ในแทบทุกปัญหา รัฐบาลเองก็จะขาดเสถียรภาพ การปฏิรูปและการออกกฎหมายอาจดำเนินการต่อไปไม่ได้ อันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติล้มครืนลง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการเข้า ควบคุมการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ติดตามรับฟังความเห็นดังกล่าว และข้อแนะนำจากวงการและภาคส่วน ต่างๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และประชาชนอย่างหลากหลายตลอดมา เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์แล้ว สิ่งที่วิตกกังวลมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้สูงโดยพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและ ความพยายามของบุคคลบางหมู่เหล่าที่วางแผนเคลื่อนออกมาต่อต้าน ปลุกระดมและแทรกซึมอยู่ทั่วไปเพื่อทำลายความชอบธรรมและขัดขวางการดำเนินการ ต่างๆ ในการคืนความสงบสุขแห่ประชาชนในขณะนี้ จึงขอเสนอแนวทางการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อพิจารณาดังนี้

1.ปกติแล้วร่างกฎหมายทั้งหลายหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญย่อมต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับการดำเนินการที่ทำไปแล้ว และการดำเนินการใหม่ที่ประสงค์จะให้ดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องหรือมิฉะนั้นก็เป็นการกำหนดภารกิจในช่วงรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ให้พัฒนาไปเป็นลำดับอย่างมั่นคง แม้แต่รัฐธรรมนูญในอดีต เช่น ฉบับพุทธศักราช 2511, พุทธศักราช 2517, พุทธศักราช 2521, พุทธศักราช 2534, พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ก็มีบทเฉพาะกาลเช่นว่านี้ ซึ่งหมายความว่าในขณะที่บทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมีผลบังคับอย่างถาวรและเต็มรูปในทันที เช่น หมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ศาล องค์กรอิสระ การปกครองส่วนท้องถิ่น บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่บางมาตราบางเรื่อง ที่มีเหตุผลและความจำเป็นดังได้กล่าวมาแล้ว อาจต้องการเวลาการพัฒนา และการประคับประคองในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อหรือระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความอ่อนไหวมาก เพื่อให้ประเทศและระบอบประชาธิปไตยเพิ่มความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับตาม มาตรการชั่วคราวที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเสมือนการประคับประคองคนที่เพิ่งฟื้นจากอากาบอบช้ำหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยอาการหนัก หากเร่งก้าวกระโดดดังคนปกติที่แข็งแรงแล้วโดยทันทีอาจล้มเจ็บอาการทรุดหนักได้อีก จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อให้เข้มแข็งมั่นคงอย่างยั่งยืน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะใช้ระบบสองสภา สภาหนึ่งคือสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งย่อมเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมตามหลักสากล แม้วิธีการเลือกตั้งจะยังเป็นปัญหาโต้แย้งก็ตามซึ่งเป็นปกติของการร่างรัฐ ธรรมนูญทุกครั้ง เพราะทุกวิธีต่างก็มีข้อด้อยข้อเด่นและยังจะเกี่ยวกับความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองหรือผู้สมัครแต่ละคนอีกด้วย ส่วนอีกสภาหนึ่งคือวุฒิสภานั้น สมาชิกวุฒิสภาในบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็มีส่วนที่มาจากการ แต่งตั้งหรือเป็นการดำรงตำแหน่งตามตำแหน่งหน้าที่ ในประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภาในอดีตเลยมีที่มาทั้งจากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง และสรรหาหรือผสมกัน ซึ่งต่างก็มีข้อดีข้อเสียเช่นกัน แต่เมื่อคำนึงถึงความมุ่งหมายของการให้มีวุฒิสภาตามร่างธรรมนูญฉบับนี้คือทำ หน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูปและเป็นสภากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติในกระบวน การนิติบัญญัติแล้ว ประกอบกับมีข้อเสนอจากประชาชนว่าเพื่อมิให้วุฒิสภาถูกอิทธิพลทางการเมืองชัก จูงหรือครอบงำโดยตรงหรือโดยอ้อม ดังนั้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เริ่มจัดระเบียบทางการเมืองใหม่ มีการบังคับใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและมาตรฐานทาง คุณธรรม จริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แม้นักการเมืองบางส่วนจะประพฤติปฏิบัติตามกิตกาและซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่น่าไว้วางใจแต่ก็อาจมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าที่พยายามใช้ความได้ เปรียบหรือเสียงข้างมากในรัฐสภาบิดเบื่อนเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์กติกาการปกครอง บ้านเมือง เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนตน และในขณะที่ภารกิจในการปฏิรูปทางการเมืองและอื่นๆ ยังต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นนนระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นวาระแรกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการ เลือกตั้ง จึงควรมีบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้งตามหลักเณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ปลอดจากพรรคการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอย่างน้อยก็ในระยะแรกได้ว่าแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่ก็ช่วยประคับประคองความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป และการสร้างความสามัคคีปรองดองร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการ เลือกตั้งได้ ตามข้อเสนอในบทเฉพาะกาลเพื่อนกรุณาพิจารณาดังนี้

1.1จำนวนสมาชิกวุฒิสภาควรมีจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 250 คน เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนในการใช้อำนาจหน้าที่บางอย่างร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

1.2ที่มา มาจากการสรรหา หรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิโดย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วิธีการควรดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระเป็นกลาง เป็นที่น่าเชื่อถือตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยมีจำนวนประมาณ 8-10 คน

1.3วาระ 5 ปี (ที่จริงควรมีวาระเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี แต่เพื่อให้มีเวลาเหลื่อมออกไปและต่อเนื่องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้ามาใหม่สักระยะหนึ่ง และสอดคล้องกับช่วงเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงควรให้มีวาระ 5 ปี)

1.4คุณสมบัติ เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนด แต่เพื่อประโยชน์ในการดูแลและพิทักษ์รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นที่วางใจแก่ประชาชน ในกรณีที่ต้องมีคุณสมบัติว่า “ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ” ควรเปิดให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่งซึ่งมิใช่ สมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปัจจุบัน โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 6 คน หรือไม่เกินร้อยละตามสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งได้และไม่มีอำนาจหน้าที่พิเศษกว่าสมาชิก วุฒิสภาคนอื่นในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งข้าราชการ ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากความเป็นสมาชิกวุฒิสภา และให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นคนใหม่เข้ามาเป็นแทน คำว่าสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งในที่นี้มุ่งหมายถึงตำแหน่งอันจะเป็นหลัก ประกันด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

1.5อำนาจหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาประเภทนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่เลือกหรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี แต่ควรให้มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป ตามแผนการปฏิรูป แนวนโยบายแห่งรัฐแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติตลอดจนมีส่วนในกระบวนการนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดส่วนวิธีดำเนินการตามแผนและนโยบายเหล่านั้นย่อมเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีแต่ละคณะจะเลือกใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของตนหรือตามที่หาเสียง เลือกตั้งไว้ และเพื่อให้วุฒิสภาในวาระแรกนี้สามารถทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญมิให้ฝ่าย การเมืองอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรบิดเบือนเจตนารมณ์หรือฝ่าฝืนความ ต้องการของประชาชนและยังสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นที่พอใจแก่ประชาชน จึงควรให้วุฒิสภามีบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจหรืออื่นๆ ตามกติการะบบรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรมตามสมควรในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย

อนึ่ง เมื่อกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลมีจำนวน 250 คน ตามที่เสนอแล้ว หากจะปรับปรุงให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 102 ในบทถาวรซึ่งจะใช้บังคับในอีก 5 ปีมีจำนวน 250 คนหรือกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นกันก็จะเป็นการสอดคล้องกัน ทั้งฉบับและสอดคล้องกับความจำเป็นแม้จะยังเป็นเรื่องในช่วงเวลาต่อไปก็ตาม เว้นแต่อนาคตจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้เสียใหม่

2.วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้ใช้แบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น โดยที่มีผู้เสนอเป็นอันมากกว่าควรใช้แบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (350 คน) อีกใบหนึ่งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน) นอกจากนั้น ในกรณีเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้เสนอให้พิจารณาประเด็นที่ให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่เกิน 3 คน แต่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิเลือกได้เพียง 1 คน แล้วเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลดหลั่นลงไปจนได้ครบจำนวนที่ต้องการ ดังที่ใช้อยู่ในบางประเทศ จึงขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจกำหนดวิธีการเลือกตั้งในระยะแรกตามบทเฉพาะกาลไว้ให้ต่างจากในบทถาวรก็ได้

3.หลักการในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 154 ที่ว่าพรรคการเมืองอาจแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็น ชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อและให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี เฉพาะจากรายชื่อดังกล่าวเท่านั้น ข้อนี้ยังเป็นปัญหาโต้แย้งความเหมาะสมและความจำเป็น หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมควรจะใช้มาตรการนี้เพื่อให้เป็นที่รู้ล่วงหน้าว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ใดผู้หนึ่งในบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองแจ้ง ก็ควรคำนึงด้วยว่าโดยที่เรื่องนี้เป็นมาตรการที่เพิ่งจะนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาและอาจเป็นครั้งแรกในโลกด้วย การพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกาสากลเป็นเรื่องจำเป็นแต่การดำเนินการทุกอย่างและโดยทันทีอาจยังไม่เหมาะสมเพราะอ่อนไหวสุ่มเสี่ยงและอันตราย สำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน แม้ปัจจุบันนี้ประชาชนจะมีความรู้ ความคิด มีการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตมากขึ้น แต่ผลการสำรวจก็แสดงว่าประชาชนอีกไม่น้อยยังมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดี และรอยร้าวที่เกิดจากการเพาะความแตกแยกในอดีตนานปี หรือผลจากความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงฝังใจอยู่ คนเหล่านี้คือผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งใหม่และถูกผลักดันให้ออกมาปะทะกัน ดังนั้นการนำกติกาใหม่ๆ มาใช้อาจเป็นอีกกับดักหนึ่งที่ปิดทางออกในยามวิกฤติจนทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้

คณะรักษาความสงบแห่งชาติขอเรียนว่าอย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติยินดีจะพ้นจากตำแหน่งและยุติอำนาจ หน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาใน Roadmap และในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่การประคับประคองสถานการณ์ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของ รัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่ซึ่งรวมถึงวุฒิสภาด้วยจึงได้เสนอให้ในระยะแรกสมาชิกควรมาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้ง อีกทั้งเป็นเรื่องขององค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายตำรวจทหาร พลเรือนที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนดูแลรักษาสถานการณ์ตามด้วยบทกฎหมายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงควรพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักสากลและปัญหาในประเทศไทย ความจำเป็นและความเหมาะสมความอิสระเสรีและความมั่นคง การรุดหน้าทันทีทันใดและการก้าวเดินอย่างระมัดระวังชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบ กับในกรณีนี้ควรพิจารณาถึงอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นเพราะ เหตุที่มีเงื่อนไขเข้มงวด เช่นผู้มีชื่อในบัญชีถอนตัวหรือตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในภายหลัง หรือไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากจนจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ไม่อาจตกลงในชื่อบุคคล ผู้สมควรเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของแต่ละพรรคได้ อันจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลประสบปัญหา ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านั้นอาจเห็นชอบร่วมกันให้เสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชี แต่ย่อมไม่อาจทำได้ แม้จะจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ยังน่าวิตกว่าจะทำได้โดยราบรื่นเรียบร้อยหรือไม่ ทั้งมาตรา 154 ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลไว้จึงอาจยืดเยื้อยาวนาน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงอาจแก้ไขเพิ่มเติมให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้อง ทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดขณะเดียวกันเพื่อเป็นการหาทางออกในยามวิกฤติใน ระยะแรกตามบทเฉพาะกาล ก็ควรงดเว้นไม่นำเรื่องการแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความ เห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 ชื่อตามมาตรา 83 และมาตรา 154 มาใช้บังคับ

ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการยึดอำนาจเพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงขอเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญตามผลการหารือมาเพื่อ กรุณาพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

พล.อ.ธีรชัย นาควานิช
เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท