EU-ILO ชมไทยแสดงความมุ่งมั่นดูแลสิทธิแรงงานประมง คาดเป็นรูปธรรมมากขึ้้น

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

17 มี.ค. 2559 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานและลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล(Combatting Unacceptable Forms of Work in the Thai Fishing and Seafood Industry) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า เป็นที่ทราบดีว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้สินค้าประมงและอาหารทะเลที่จะส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถรับรองได้ว่าผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งออกไปจากไทยไม่ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงานและไร้การควบคุม โดยได้มีการดูแลอย่างเข้มงวดด้วยมาตรการทางกฎหมายและความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน

พล.อ.ศิริชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญในการดูแลสิทธิแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการที่เกี่ยวเนื่องทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักสากล ซึ่งในขณะนี้การสร้างความร่วมมือไม่ได้มีอยู่เฉพาะภายในประเทศ แต่เราได้สร้างความร่วมมือในระดับสังคมโลก โดยกระทรวงแรงงานได้ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ลงนามในเอกสารการรับรองการเข้าร่วมดำเนินการโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล โดยมีมิสเตอร์ เคซุส มิเกล ซันซ์ (Jesús Miguel SANZ) เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และ มิสเตอร์ เมาริซิโอ บุซซี (Mr. Maurizio Bussi) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชาและลาว ร่วมลงนาม

“ผมเชื่อมั่นว่าผลจากความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้การขับเคลื่อนการป้องกันและการแก้ไขปัญหาIUU เกิดผลสัมฤทธิ์ มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากลในเร็ววัน โดยให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานแก่แรงงาน ขจัดการหาผลประโยชน์จากแรงงาน ด้วยการใช้แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี กวดขันการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการใช้แรงงานบังคับ และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับให้หมดสิ้นไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

EU-ILO ชมไทยมุ่งมั่นดูแลสิทธิแรงงานในกิจการประมง คาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมมากขึ้้น

เคซุส มิเกล ซันซ์ (Jesús Miguel SANZ) เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้แสดงให้เห็นเจตจำนงว่าจะแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมีความชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงในกรอบการกำกับดูแลแผนการทำงาน ซึ่งอียูกับรัฐบาลไทยมีการทำงานร่วมกันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยโครงการนี้ได้นำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ขอชื่นชมกระทรวงแรงงานที่เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานประสานทุกฝ่าย ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม คนงาน นายจ้าง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่อง

“สิ่งที่ประจักษ์ในวันนี้คือ เจตนารมย์ของรัฐบาลไทยที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการขจัดรูปแบบที่ไม่พึงประสงค์ ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้เตรียมอย่างเข้มข้น จากนี้ไปคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกหน่วยงานมาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาท้าทายทั่วโลก ไม่ใช่เพียงเรื่องตัวเลข แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานทุกคนที่มีสิทธิในงานที่มีคุณค่า เพราะห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกันทั่วโลก ผู้บริโภคไม่ว่าอยู่ที่ไหนจะให้ความสำคัญกับที่มาของสินค้า” เคซุส มิเกล ซันซ์ กล่าว

ขณะที่ เมาริซิโอ บุซซี (Mr. Maurizio Bussi) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชาและลาว กล่าวว่า วันนี้เป็นการประกาศที่จะแปรรูปคำพูดเป็นการกระทำในทางปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานเป็นการทำงานแบบบูรณาการ โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลัก เราพบความพร้อมในเรื่องเครื่องมือในการปฏิบัติการต่างๆ นับจากวันนี้ไปอีก 1 ปี จะเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท