ผ่านวาระแรก พ.ร.บ.ประชามติ สนช.นัดโหวตวาระ 2-3 วันที่ 7 เม.ย.

 

18 มี.ค.2559  มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมีผู้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมด้วย

สมาชิกลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระ 1 โดยโหวตรับด้วยคะแนน 153 : 0 งดออกเสียง 5 พร้อมตั้งกมธ.วิสามัญ จำนวน 21 คน แปรญัตติภายใน 5 วัน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน ภายใน 20 วัน และให้ประชุมนัดแรกในวันนี้เวลา 14.00 น.

การหน้าการลงมติ นายวิษณุ ได้ชี้แจงที่ประชุมว่า หลังจากสนช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม 2557 ไปแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องจัดให้มีกฎหมายออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ จากการหารือกับกกต. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกเสียงประชามติและเป็นผู้จัดทำยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด คาดว่าจะดำเนินการได้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้  ทั้งนี้ ด้วยความเร่งรัดของเวลาที่กกต.มีเวลาเพียง 7 วัน หลังจากสัปดาห์ก่อนที่สนช.เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้น เมื่อพ.ร.บ.ได้ส่งมายังรัฐบาล จะให้กฤษฎีกาตรวจสอบละเอียดก็ยากเพราะเวลาจำกัด รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งมายังสนช.เพื่อให้มาแก้ในชั้นกมธ. จึงเป็นธรรมดาที่อาจพบสิ่งไม่เหมาะสม หรือข้อบกพร่อง

วิษณุ กล่าวว่า ครม.เห็นว่าเรื่องนี้มีความเร่งด่วน จึงไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมออกมาก่อน ส่วนการเริ่มบังคับใช้กฎหมายประชามตินั้นจะใช้ได้เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเนื้อหาของกฎหมายประชามติจะกำหนดกติกาทั้งคุณลักษณะต้องห้าม วิธีการออกเสียง บัตรลงคะแนน และการนับคะแนน รวมไปถึงกรณีเกิดการขัดขวางการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยไม่เรียบร้อย จึงต้องให้อำนาจ กกต.ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

วิษณุกล่าวอีกว่า แนวคิดการกำหนดหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ นำมาจากหลัก 3 ประการ 1.นำมาจากพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี 2552 แต่จะเอามาใช้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นประชามติเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่มีสาระบางอย่างที่นำมาใช้ได้

2.นำมาจากประกาศหรือระเบียบที่ กกต.ได้ยกร่างมาก่อนแล้ว สมัยร่างรัฐธรรมนูญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ 3. การรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะชนที่

ในการอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็นของสมาชิก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายว่า เข้าใจความรีบเร่งของรัฐบาล และวิปสนช.ได้กำหนดพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 7 เม.ย.นี้

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ในการทำประชามติครั้งนี้เป็นการทำในสถานการณ์พิเศษ ทำให้สังคมและรัฐบาลมีความกังวล ว่าการแสดงความเห็นรับหรือไม่รับจะนำมาสู่มาความไม่สงบเรียบร้อย แต่เรื่องดังกล่าวต้องมีการถกเถียงกว้างขวาง แม้กฎหมายเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นกว้างขวาง แต่มีกระแสข่าวเอาโทษผู้รณรงค์บิดเบือน ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากรัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจน อาจทำให้เข้าใจว่า รัฐบาลปิดโอกาสในการเผยแพร่

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. อภิปรายแสดงความห่วงใยในบทลงโทษแม้จะเข้าใจเหตุผล คสช.ที่เป็นห่วงว่าการเลือกตั้งไม่สงบจึงกำหนดโทษไว้สูง อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวล เช่น มาตรา 60 ผู้ใดทำลายบัตรออกเสียง ทำให้ชำรุด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท เรื่องนี้เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดอาจเผลอทำชำรุดเสียหาย, มาตรา 63 การจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิออกเสียงไปคูหา มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เรื่องนี้เป็นห่วงดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าอย่างไหนจึงเป็นการจัดตั้ง บางทีหมู่บ้านหนึ่งอาจมีรถไม่กี่คันและอาศัยรถกันไป

นายชาญวิทย์ วสยางกูร สมาชิก สนช. ระบุว่า มาตรา 14 (1) ให้ผอ.เลือกตั้งประจำจังหวัด มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการออกเสียง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ผอ.เลือกตั้งมีระดับแค่ซีแปด หรือผู้ชำนาญการพิเศษ ไม่สามารถสั่งหรือขอความร่วมมือในการทำงานในระดับที่สูงกว่าได้ ในทางปฏิบัติจึงได้ผลไม่เต็มที่ ดังนั้น อยากให้เปลี่ยนมาตราดังกล่าว โดยแก้ไขให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่แทน อย่างไรก็ตาม อยากถามกกต.ที่ระบุการลงคะแนนเสียงตามาตรา 39 ด้วยเครื่องลงคะแนน ลักษณะเครื่อง ขั้นตอนวิธีการลงคะแนนเป็นอย่างไร ระเบียบว่าด้วยเครื่องลงคะแนนจัดทำหรือยัง เครื่องมีจำนวนเท่าไร เรื่องนี้อาจก่อความสับสนและเป็นปัญหามาก ดังนั้น ควรรอให้มีความพร้อมก่อน

จากนั้นที่ประชุมสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการใช้เครื่องลงคะแนน หลายคนอยากให้ใช้วิธีการลงคะแนนแบบเดิมด้วยการกาบัตรลงคะแนน

นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องของการใช้เครื่องลงคะแนน เป็นสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง เพราะเป็นครั้งแรกที่จะนำมาใช้ในการลงประชามติ ปกติการใช้เครื่องลงคะแนนควรใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่น และใช้บางพื้นที่เท่านั้น

 

รายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. จำนวน 21 คน

ครม.เสนอ 4 คน

1. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.
2. นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้ง
3. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคระกรรมการกฤษฎีกา
4. นายพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์

กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคระกรรมการกฤษฎีกา สมาชิก สนช. เสนอ 17 คน

5. นายกล้านรงค์ จันทิก (กมธ. การเมือง)
6. รองศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน (กมธ. การเมือง)
7. พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ (กมธ. การบริหารราชการแผ่นดิน)
8. คุณพรทิพย์ จาละ (กมธ. การบริหารราชการแผ่นดิน)
9. พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ (กมธ. การกฎหมายฯ)
10. นายธานี อ่อนละเอียด (กมธ. การกฎหมายฯ)
11. พลโท ชาญชัย ภู่ทอง (กมธ. การปกครองท้องถิ่น)
12. พลเอก ศุภวุฒิ อุตมะ (กมธ. การปกครองท้องถิ่น)
13. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ (สนช.)
14. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม (สนช.)
15. นายเจตน์ ศิรธรานนท์ (สนช.)
16. นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา (สนช.)
17. นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ สำนักอัยการสูงสุด
18. รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย สถาบันพระปกเกล้า
19. นายสกุล สื่อทรงธรรม มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
20. นายสุชาติ ชมกุล สภาทนายความ
21. นายสู่บุญ วุฒิวงศ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

ผู้เสนอ นางสุวิมล ภูมิสิงหราช

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท