วิถีวัฒนธรรมกับการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนของชาวสะเอียบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ตั้งแต่อดีตในสังคมบรรพกาลเมื่อมนุษย์ยังคงรวมกลุ่มกันเป็นชนเผ่า มนุษย์นั้นได้อาศัยพิธีกรรมและความเชื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม โดยส่วนมากพิธีกรรมเหล่านี้มักจะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนในเผ่า หรือสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น พิธีกรรมของชนเผ่าในแอฟริกา แม้ว่าในปัจจุบันสังคมจะมีการพัฒนาองค์ความรู้และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วแต่ทว่าพิธีกรรมเหล่านี้ก็ยังคงสามารถพบเห็นได้อยู่เสมอ และแม้ว่าบทบาทและหน้าที่ของมัน จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และถูกพัฒนา สร้างใหม่ หรือนำกลับมาให้ความหมายใหม่

จากการทำค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ขบวนการตอนสู้ของชาวบ้าน ณ บ้านดอนชัย ตำบลสะเอียบ เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ได้พบว่าพิธีกรรมนั้นได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันและพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวนี้

ตำบลสะเอียบ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เป็นพื้นที่ซึ่งน่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเข้มแข็งของชุมชนเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้สามารถทำการคัดค้านการสร้างเขื่อนได้หลายสิบปี

จากการสอบถามผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้ให้ข้อมูลว่าแต่เดิมตำบลสะเอียบนั้นเป็นเมืองเล็กๆที่ขึ้นตรงแก่เมืองน่าน ซึ่งในอดีตเมืองสะเอียบนั้นมีการปกครองแบบพญา หรือปู่แคว้น โดยจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนเจ้าเมืองปกครอง ซึ่งมีอำนาจการปกครองตนเองที่มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง

“เนื่องจากอิทธิพลของความเชื่อทางล้านนา ทำให้ที่ตำบลสะเอียบนี้มีความเชื่อในเรื่องผี (ในที่นี้หมายถึงผีต้นตระกูลหรือผีบรรพบุรุษ) ซึ่งเชื่อว่าตามเมืองต่างๆของบริเวณภาคเหนือนั้น เจ้าเมืองจะได้อำนาจการปกครองมาจากผี ซึ่งผีที่ถือว่ามีอำนาจสูงที่สุดคือ ผี ณ ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งความเชื่อในเรื่องผีนี้เองได้ส่งผลถึงจารีตของเมืองหรือกฎของเมืองสะเอียบซึ่งยึดถือกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ โดยความเชื่อส่วนใหญ่จะยึดเอาผีเมืองเป็นที่ตั้ง ทำให้แม้แต่ตัวพญา หรือปู่แคว้น(ผู้ปกครองในพื้นที่) เองก็ต้องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจผี ซึ่งเมื่อปู่แคว้นนั้นเสียชีวิต เปรียบเสมือนเมืองล่ม ทำให้เกิดพิธีกรรมที่ตามมาคือพิธี “หงายเมือง” ซึ่งจะทำเมื่อมีการแต่งตั้งปู่แคว้นคนใหม่ขึ้นมาปกครอง  ในพิธีกรรมนี้เมื่อได้มีการตกลงกันในเรื่องวันที่ได้แล้วก็จะมีเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆมารวมกัน และมีการนำเครื่องเซ่น(ในอดีตใช้วัว) มาที่หอผีเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนหลักเมือง เมื่อทำการฆ่าเครื่องเซ่นแล้วจึงมีการนำเครื่องเซ่นไปเลี้ยงผีเจ้าเมือง จากนั้นจึงมีการเรียกบรรดาผู้ปกครองในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็น ปู่แคว้น(กำนัน) แก่เมือง(ผู้ใหญ่บ้าน) ทุกคนให้มาคุกเข่าเพื่อประกอบพิธีกรรม โดยในพิธีนี้ร่างทรงจะมีการกระโดดข้ามหัวผู้ที่คุกเข่าไปมาพร้อมกับใช้ดาบชี้ไปที่ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมทุกคน ซึ่งผู้ที่ถูกชี้นั้นก็จะต้องล้มตัวลงนอนเปรียบเสมือนว่าตนนั้นตาย พร้อมกันนั้นร่างทรงก็จะทำการสาปแช่งให้ผู้ที่คดโกงหรือทุจริตในกิจการของหมู่บ้านนั้นต้องมีอันเป็นไป ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีแล้วชาวบ้านก็จะนำเครื่องเซ่นนั้นไปแจกจ่ายให้แก่ทุกคนในหมู่บ้านรวมถึงวัดด้วย”[1]

พิธี “หงายเมือง” นั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านสะเอียบได้ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน และแม้ว่าอาจจะเคยสูญหายไปบ้างตามกาลเวลาเช่นเดียวกับพิธีกรรม หรือวัฒนธรรมอื่นๆ แต่ทว่าในความเห็นของผู้เขียนนั้นพิธี “หงายเมือง” ได้ถูกนำมาให้ความหมายใหม่ เช่นเดียวกับพิธีกรรมอื่นๆ เช่น การบวชป่า โดยการนำมาให้ความหมายใหม่นี้ก็เพื่อเป็นเครื่องมือของชาวบ้านซึ่งเสียงของพวกเขานั้นไม่สามารถส่งไปถึงตัวผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีเครื่องมือในการต่อต้านกับอำนาจรัฐซึ่งละเมิดสิทธิของพวกเขา

จะเห็นได้ว่าในพิธี “หงายเมือง” นั้น ได้แฝงไปด้วยมิติในด้านอื่นๆนอกเหนือจากการประกอบพิธีกรรมของชาวบ้านในหมู่บ้านที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นการยึดถือที่ว่าตัวผู้ปกครองหรือปู่แคว้นนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจของผี เปรียบเสมือนการปกครองจากชาวบ้านที่มีต่อตัวผู้ปกครอง เป็นการสร้างพันธะสัญญาระหว่างผู้อยู่ใต้การปกครองกับผู้ปกครอง (Governmentality from below) เป็นการสร้างความเชื่อที่ว่าผู้อยู่ใต้ปกครองเองก็มีอำนาจที่จะควบคุมผู้ปกครองได้เช่นกัน ผ่านการบังคับในด้านศีลธรรม(Moral obligation) หากตัวผู้ปกครองนั้นขาดคุณธรรม ก็ต้องโดนลงโทษจากสิ่งที่มองไม่เห็นนั่นเอง ในอีกแง่หนึ่งการที่ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณตำบลนั้นๆได้มารวมตัวกันก็เพื่อที่จะให้ทุกคนได้ทราบและรู้จักผู้ปกครองคนใหม่ที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง เป็นการยอมให้ผู้ปกครองนั้นๆได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และในขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนงานเลี้ยงที่ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านได้มาพบปะสังสรรค์กันอีกด้วย

ในตลอดช่วงชีวิตของผู้คนนั้นล้วนแต่เคยผ่านพิธีกรรมในลักษณะนี้เพื่อการเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “พิธีศีลจุ่ม (Baptism)” ซึ่งเปรียบเสมือนการรับสมาชิกใหม่(เด็กที่พึ่งเกิด หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ในขณะเดียวกันพิธีกรรมนี้ก็ได้เป็นหลักประกันว่าสังคมนี้จะสามารถคงอยู่ต่อไปได้ผ่านการที่สมาชิกเก่านั้นสามารถหาสมาชิกใหม่(เช่นการที่ชาวคริสต์มีบุตร)เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ในสังคมระดับมหาวิทยาลัยเองก็สามารถพบพิธีกรรมในลักษณะนี้ได้ ซึ่งทุกคนล้วนรู้จักเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “การรับน้อง” การรับน้องนั้นนอกจากจะเป็นการรับเอาสมาชิกใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคณะนั้นๆหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆแล้ว ก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกเก่าได้มีพื้นที่ที่จะพบปะกับสมาชิกใหม่ เปิดโอกาสให้สมาชิกเหล่านั้นสร้างความรักในสังคมนั้นๆในกลุ่มของสมาชิกใหม่  เพื่อที่จะอนุรักษ์สังคมและพิธีกรรมเหล่านั้นต่อไป

การพยายามสืบทอดและรื้อฟื้นพิธีกรรมเก่าแก่เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงการตอกย้ำในความชอบธรรมของชาวบ้านตำบลสะเอียบแห่งนี้ในฐานะผู้มาก่อนการเข้ามาของอำนาจรัฐไทยสมัยใหม่ พวกเขาใช้พิธีกรรมเหล่านี้ในการสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองให้แก่พวกเขาเอง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านนี้ ซึ่งกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในยุคที่ผ่านมา หรือ “รุ่นเก่า” นั้นต้องการที่จะสร้างความรักในท้องถิ่นให้แก่ กลุ่มคน “รุ่นใหม่” ซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษา โดยการรื้อฟื้นพิธีกรรมต่างๆ หรือการให้ความหมายพิธีกรรมใหม่นั้นมีเป้าหมายเพื่อ ช่วยสร้างอัตลักษณ์ และความเป็นตัวตนของพวกเขา ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดความรักและผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น ในขณะเดียวกันการหยิบยกพิธีกรรมซึ่งแสดงออกถึงความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับพื้นที่นั้นก็ได้เป็นการอาศัยกระแสการอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่กำลังเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ

เนื่องจากที่ผ่านมานักเรียนนิสิตนักศึกษาในพื้นที่ล้วนต้องเผชิญกับกดดันจากสังคมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการตราหน้าว่าคนในพื้นที่แห่งนี้นั้นเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว ที่ไม่ยอมให้สร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับคนในเมือง หรือมองว่าพวกเขาเหล่านั้นหัวรุนแรงคิดแต่จะต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งแรงกดดันนั้นเริ่มขึ้นทันทีที่ผู้คนภายนอกรู้ว่าพวกเขานั้นมาจากสะเอียบ ในบางรายแรงกดดันนั้นเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในทุกวันนี้มนุษย์เรายังคงต้องมีการประกอบพิธีกรรมบางอย่างเพื่อให้ตัวพวกเขาเหล่านั้นสามารถที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ซึ่งในขณะเดียวกันในสังคมนั้นๆ ก็จะต้องมีเครื่องรับประกันและสร้างความเชื่อใจว่าสมาชิกที่เข้ามาใหม่และสมาชิกเก่าที่อยู่มาก่อนนั้นจะสามารถสืบทอด ส่งต่อเจตนารมณ์ ให้แก่สมาชิกใหม่ๆและช่วยให้สังคมนั้นๆคงอยู่ต่อไปได้

                     

                                                                                                                                              

บรรณานุกรม

1.  ฉัตรชัย ขันทะบุตร สัมภาษณ์ ม.ป.ป.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ปัจจุบัน กสิดิส วงศ์เมือง กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีอยู่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท