กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา! กฎหมาย เอกสิทธิ อัตตา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

"รมว.ยุติธรรม จวกทนาย “สมเด็จช่วง” เล่นแง่ คดีรถโบราณ นัดไปสอบปากคำแล้วกลับบอกให้ตั้งคำถามส่งไปให้ก่อน ทั้งที่ จนท. ยอมทำตามเงื่อนไขทุกอย่าง ยันให้เกียรติในฐานะพระชั้นผู้ใหญ่แล้ว แต่เมื่อไม่ให้ความร่วมมือก็จบ ต่อไปจะทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน "

พาดหัวข่าวจาก Manager Online กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เดินทางเข้าพบ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรณีเป็นผู้ครอบครองรถเบนซ์โบราณ ทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร   แต่ทีมฝ่ายกฎหมายวัดไม่อนุญาตให้สอบปากคำและให้เจ้าหน้าที่กลับไปตั้งประเด็นคำถามอีกครั้ง เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งข้อเท็จจริงและเกิดการโต้แย้งกันในทางปฏิบัติกันอย่างไรนั้นไม่อาจทราบได้ และขอสงวนไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง  ซึ่งเชื่อว่าทางดีเอสไอจะต้องมีกระบวนการออกมาในทางใดทางหนึ่งซึ่งหางทำตามกฎหมายก็มีเพียงวิธีเดียว  ในที่นี้จึงขอวิเคราะห์เฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ประเด็นปัญหาว่า หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะสอบสวนสมเด็จช่วง ในฐานะพยานในเรื่องรถโบราณคันที่มีปัญหา(ปัญหาจากใคร?) จะทำได้หรือไม่?   ซึ่งข้อเท็จจริงรถคันดังกล่าวได้ส่งมอบคืนไปแก่ผู้บริจาคแล้ว ในทางคดี ไม่น่าจะดำเนินการในคดีหลีกเลี่ยงภาษีกับสมเด็จช่วงได้อีก    ส่วนหากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับรถที่อ้างว่าต้องตรวจสอบก็ต้องสืบสวนสอบสวน  หรืออาจเพื่อจะจัดการปัญหาที่มีผู้ตั้งเรื่องมาให้ตรวจสอบเพราะเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชก็สามารถกระทำได้ แต่จะทำให้คนทั่วไปคิดเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องเหนือการควบคุม

การที่ดีเอสไอจะออกหมายเรียกสมเด็จช่วง ในฐานะที่เป็นพระภิกษุตามกฎหมายบัญญัติไว้นั้นไม่อาจทำได้  เนื่องจาก มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ว่าได้รับเอกสิทธิ์ทางกฎหมาย  ห้ามออกหมายเรียกพระภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนา  และไม่ต้องให้การเป็นพยานก็ได้  ซึ่งได้แก่

-ป.วิ.อาญา มาตรา 15  บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติ ไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้"

-ป.วิ.แพ่ง  มาตรา 106/1 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ออกหมายเรียกพยานดังต่อไปนี้

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี  พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ว่าในกรณีใดๆ

(2) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ไม่ว่าในกรณีใดๆ

(3) ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมาย

ฯลฯ

ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115  บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆ ก็ได้ สำหรับบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมายจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้นๆ ก็ได้”

พนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือพนักงานสอบสวนของตำรวจหรือฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ ตามป.วิ.อาญา มาตรา 16 คือข้อบังคับทั้งหลายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เช่น กรณีตำรวจได้มีระเบียบการตำรวจ เกี่ยวกับคดี ลักษณะ 5 ว่าด้วย หมายเรียกและหมายอาญา  ข้อ 104  ว่า "ห้ามมิให้ออกหมายเรียกพยานดังจะกล่าวต่อไปนี้โดยเด็ดขาด..

(2) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา.."

ดังนั้น  การให้ความเคารพและวิธีปฏิบัติต่อสมเด็จช่วง ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ทั้งยังมีฐานะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย  จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ต้องพึงให้เกียรติต่อท่านอย่างสมเกียรติที่สุด ไม่ต้องบอกกล่าวพร่ำสอนอะไรกันอีก แต่ที่เป็นข่าวและมีอารมณ์กันนั้น แม้จะมีผู้โต้แย้งว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และถือเอาอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกระทำการใดๆเช่นบุคคลทั่วไป ตาม มาตรา  24 อนุมาตราสี่ แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ฯบัญญัติว่า

"เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย..(4) มีหนังสือสอบถาม หรือเรียกบุคคลใดๆ มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา" ย่อมไม่ได้
          
เมื่อพิจารณาตามกฎหมายที่ยกมาข้างต้น  การสอบสวน จะทำการในที่ใดเวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร ทางที่ควรสามารถไปพบสมเด็จช่วงที่วัดได้และน่าจะเหมาะสมที่สุด    หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะอ้างว่า ตนมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลใดๆซึ่งรวมถึงพระภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนาได้ด้วย ก็คงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อนในทางกฎหมาย  เพราะการเรียกบุคคลใดๆนั้นต้องไม่ใช่บุคคลที่มีเอกสิทธิ์ทางกฎหมาย  ที่ผ่านมาแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ตำรวจจะรู้ดี   พนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.วิ.อาญา ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน     ทั้งนี้ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า

" ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับคดีพิเศษ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวน ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี .."  นั่นย่อมหมายความว่า  พนักงานสอบสวนคดีพิเศษต้องปฏิบัติตาม  ป.วิ.อาญาอย่างเคร่งครัด   ซึ่งหากไม่ยึดถือปฏิบัติก็อาจเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

การจะอ้างว่าออกหมายเรียกแล้วไม่มาก็จะออกหมายจับ เพราะอ้างว่าขัดคำสั่งเรียกของเจ้าพนักงานหรือฝ่าฝืนอำนาจตามมาตรา24 ซึ่งมีโทษจำคุกเป็นการแปลความในกฎหมายที่ผิด เพราะในมาตรา 23 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯดังกล่าวมาแล้วพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจ ตาม ป.วิ.อาญา  ประกอบกับกฎหมายให้เครื่องมือกับพนักงานสอบสวนไว้แล้วตาม ป.วิ.อาญา มาตร 130 ที่บัญญัติว่า "ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใด เวลาใดแล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย"    เมื่อสมเด็จช่วงและพระภิกษุอื่นท่านให้ความร่วมมือให้ไปสอบที่วัด จึงไม่เป็นอุปสรรคในการสอบสวนแต่อย่างใด และกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนจะสอบสวนที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องสอบที่ทำการของดีเอสไอ.   การกระทำที่ออกหมายเรียกพยานพระที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจทำให้มองว่าเป็นการแสดงถึงเจตนากลั่นแกล้งสมเด็จช่วงให้เสียหายมากกว่า   ดังนั้น เมื่อกฎหมายห้ามให้ออกหมายเรียกพยานพระภิกษุ ตาม มาตรา 15 ป.วิ.อาญา ประกอบ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 106/1 ดังกล่าวมาแล้ว หากยังยืนยันที่จะออกหมายเรียก   การกระทำของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเข้าข่ายเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งสมเด็จช่วงก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหา   แม้กรณีเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา  กฎหมายยังบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

กล่าวโดยสรุป  กรณีของสมเด็จช่วงนี้  ท่านอยู่ในฐานะถูกสอบสวนเป็นพยาน  เมื่อเจ้าพนักงานไม่มีอำนาจออกหมายเรียกไปยังพระภิกษุและสามเณรได้  การจะออกหมายจับเพราะไม่มาตามหมายเรียกก็ไม่ใช่ผลจากการปฏิบัติตามหมายเรียก ผลทางกฎหมาย คือ หมายเรียก ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อาจส่งผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา   พนักงานสอบสวนรู้ดีอยู่แล้วว่า การสอบสวนหมายถึง การสอบสวน" หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่ จะทราบข้อเท็จจริงหรือการพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ ในกรณีนี้ฝ่ายสมเด็จช่วง ให้ความร่วมมือให้ข้อเท็จจริงตามที่ท่านทราบอยู่แล้ว แต่พนักงานสอบสวนนำกระบวนการรวมรวมพยานหลักฐานเพื่อชี้นำสังคมเช่นนี้น่าจะทำให้ท่านได้รับความเสียหาย   ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจแสดงถึงความไม่เป็นกลางได้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา  ในฐานะประชาชนมีความไม่สบายใจต่อท่าทีของคณะทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  จึงขอแสดงความปราถนาดีต่อองค์กรกรมสอบสวนคดีพิเศษ   เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายและเพื่อความเหมาะสมแก่สถานะของสมเด็จช่วง    เห็นหากจะเอาชนะคะคานหรือใช้แง่กฎหมายจนอาจกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรกรและอาจเสียความเป็นธรรม  ยิ่งจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักสร้างความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชนอีกว่า เหตุใดเรื่องรถที่มีลักษณะเลี่ยงภาษีกว่า  6,000คัน แต่จะมีปัญหาในช่วงนี้กับรถที่มีผู้นำมาถวายสมเด็จช่วงจะเป็นกรณีพิเศษจริงๆ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท