Skip to main content
sharethis

21 มี.ค. 2559 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายที่ให้ที่มาวุฒิสมาชิก (ส.ว.) มาจากการสรรหาทั้งหมด 250 คนในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยมีวาระ 5 ปี ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะที่ผ่านมาส.ว.จะมีที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งมาโดยตลอดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีเพียงรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปลี่ยนให้ที่มาส.ว. มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งโดยหลักการแล้วส.ว.ควรเป็นสภาถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่แก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ แต่ในปี 2557 เกิดความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและส.ว. ไม่สามารถหาทางออกให้ประเทศได้ในระหว่างที่ยุบสภา ส.ว.เลือกตั้ง ขัดแย้งกับส.ว. สรรหา

“การเสนอให้มีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นส.ว.โดยตำแหน่ง เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาเวลาบ้านเมืองมีปัญหาก็เกิดการเรียกร้องให้ปฏิวัติ ดังนั้น ในระยะเปลี่ยนผ่านทหารก็ควรมีส่วนเข้ามาให้ความเห็นในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิวัติรัฐประหารอีก” นายพรเพชร กล่าว
 
สำหรับวิธีการสรรหาส.ว.จะเป็นอย่างไร นายพรเพชร กล่าวว่า แล้วแต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)จะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล แต่ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สามารถเข้ามามีส่วนร่วมสรรหาส.ว. ช่วงเปลี่ยนผ่านได้
 
เรืองไกร ร้องผู้ตรวจการฯ สอบมีชัย ร่างรธน.ผิดขั้นตอน
 

ขณะที่วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ที่ไม่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องทุกขั้นตอน ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 39/1 บังคับไว้ ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่เป็นร่างฯเบื้องต้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 39/1 วรรค 2 บัญญัติว่าระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้กรธ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.)  สนช. และประชาชน แต่จนกระทั่งวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 กรธ.เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก และไม่พบว่ากรธ.ออกหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม  ซึ่งกรณีดังกล่าวถ้าเทียบเคียงกับกรณีการสรรหาพล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อปี 2545 ที่คณะกรรมการสรรหาเปลี่ยนวิธีสรรหาในรอบที่ 6 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการสรรหานั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

“เมื่อกรธ.ไม่ออกหลักเกณฑ์วิธีการการรับฟังความคิดเห็น ย่อมถือว่าการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจนนำมาสู่การมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก มีการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด  สมัยการยกร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ขณะนั้นยังไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 34 วรรค 2 ที่บัญญัติให้กมธ.นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช. คสช. ครม. ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ  แต่นายบวรศักดิ์ได้ออกข้อบังคับของสปช. ในการจัดรับฟังความคิดเห็น แต่ครั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนด แต่นายมีชัยกลับไม่ดำเนินการ ซึ่นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสปช.เคยทักท้วงแล้ว แต่นายมีชัยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการ ผมตรวจสอบเรื่อยมาและเห็นว่านายมีชัยในฐานะที่เป็นประธานกรธ.ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ศาลปกครอง จึงได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองด้วยเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ขอให้วินิจฉัยเพิกถอนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กรธ.นำกลับมาดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วน เพราะถ้าหากปล่อยไปจนถึงทำประชามติ จะทำให้เกิดการเสียหายและเสียงบประมาณ” นายเรืองไกร กล่าว

 

ที่มา สำนักข่าวไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net