Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



สัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปรับชมภาพยนตร์เรื่อง Zootopia (2016) เพราะทนเสียงของคำร่ำลือ และคำสรรเสริญเยินยอ ต่างๆนานา ที่เกิดขึ้นในเชิงบวก ว่ามิได้เป็นเพียงแค่ภาพยนตร์สดใส ชวนฝันสำหรับเยาวชน อยู่แต่ด้าน หรือ แง่มุมเดียว ทว่ายังมีในแง่มุมของการเสียดสี การล้อเลียนความจริงทางสังคมที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริงภายในสังคมปัจจุบันอีกด้วย อาทิ การนำตัวสล็อต (sloth) มาเป็นสัญลักษณ์แทนระบบราชการ หรือ ระบบการบริหารจัดการและการให้บริการจากภาครัฐที่มักมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามดั่งใจคาด และไม่ตอบสนองต่อความต้องการของพลเมืองภายในรัฐได้เท่าที่ควร หรือแม้แต่มีการกล่าวถึงประเด็นทางด้านสตรีนิยม (feminism) ผ่านตัวละครชื่อ Judy Hopps (นางเอกของภาพยนตร์ Zootopia) ในฐานะที่เป็นตำรวจสาวผู้ได้รับผลกระทบจากสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ในการถูกเลือกปฏิบัติภายในหน่วยงาน (กรมตำรวจ Zootopia) หรือแม้แต่ประเด็นความเก็บกดในแง่จิตวิทยาของจิ้งจอกผ่านตัวละครชื่อ Nick Wilde (พระเอกของภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้) ซึ่งภายหลังจากที่ต้องตกอยู่ในภวังค์แห่งห้วงอารมณ์ในความอยากนั้น พักหนึ่งผู้เขียนจึงตัดสินใจจัดเวลาว่าง หรือ จัดวางการหลบเลี่ยงกิจวัตรประจำวัน เพื่อออกไปรับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจ มากที่สุด คือ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้นไม่ได้มีแต่เพียงประเด็นเรื่อง ของการทำความเข้าใจในสัตว์โลกวัยใส ที่มาพร้อมกับการมีความฝันของตัวละครตัวหนึ่งๆเป็นตัวขับเคลื่อนเนื้อเรื่อง แต่จะมีเรื่องของประเด็น การปะทะถกเถียง และการนำเสนอซึ่ง “ภาพตัวแทน” (representation) และสัญลักษณ์ชุดต่างๆจากสังคมกระแสหลักอีกเป็นจำนวนมากมายหลายฉากเกือบตลอดชั่วระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมงบนอาณาบริเวณของเก้าอี้ที่สะกดบังคับให้ผู้เขียนต้องจดจ่ออยู่กับประเด็นเหล่านั้นในภาพยนตร์ด้วยความสนใจ และใคร่รู้ตลอดเวลา

โดยเริ่มแรกสุดภาพยนตร์ได้เล่าและฉายให้ทุกๆคนเห็นถึงความเป็นมาของมหานคร Zootopia ว่ามีการเริ่มต้นที่มีลักษณะคล้ายกับสังคมมนุษย์ พูดอย่างง่าย คือ เริ่มแรกนั้นโลกของ Zootopia จะอยู่กันอย่างไร้การผูกพันกันเป็นสังคมแบบในแนวคิดเรื่องสภาพธรรมชาติตามกลุ่มทฤษฎีสำนักสัญญาประชาคม (social contract) มีความเป็นสัตว์ป่า ใช้สัญชาตญาณในการดำรงชีวิต ไร้กฎเกณฑ์ กติกา ข้อบังคับใช้สากลใดๆในการอยู่ร่วมกัน ทุกๆคนอยู่ร่วมกันด้วยกฎธรรมชาติ ภายในสภาพธรรมชาติที่ทุกๆคนมีสิทธิที่จะฆ่าแกงกันได้อย่างเลือดเย็น เพื่อความอยู่รอดของตนเอง เป็นยุคที่ไม่มีการจัดระเบียบใดๆทางสังคม มีการอยู่ร่วมกันแบบหลวมๆไม่มีกฎที่ตายตัว นอกจากความเป็นไปที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และแรงผลักดันจากทางธรรมชาติ (ในทางทฤษฎีการเมืองอาจเรียกได้ว่า คนพวกนี้ยังไม่ได้เข้าไปสู่ระบบของสัญญาประชาคม) เป็นยุคที่มีเพียง 2 บทบาท หรือ กลุ่มหน้าที่เพียง 2 หน้าที่ในรูปแบบชีววิทยา (predation) ก็คือ การมีเพียงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่า และผู้ถูกล่า (เหยื่อ) เท่านั้น สัตว์ต่างๆอยู่อาศัยในผืนป่าร่วมกันอย่างแตกกระจาย ตามแต่ละเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของกลุ่มก้อนตนเอง ไม่ได้มีการก่อรูปเพื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมแต่อย่างใด ก่อนแล้วจึงมีการเข้ามารวมตัวกันจนเกิดเป็น Zootopia ที่มีระบบเมืองและการแบ่งงานกันทำอย่างมีโครงสร้างที่แน่นแฟ้นสามัคคี ตามหน้าที่และการจัดระเบียบที่แต่ละคน แต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละกลุ่มก้อนได้รับจากอิทธิพลแบบเมือง

โดยเงื่อนไขสำหรับการเข้าสู่ความเป็นเมือง และการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนภายในมหานครขนาดใหญ่เหล่านั้นหลักๆ มีเพียงประการเดียวคือ สัตว์ทุกตัวจะต้องละทิ้งซึ่งความเป็นสัตว์ของตนเอง เพื่อเข้ามาอยู่ร่วมกันภายในมหานคร ที่มีเป้าหมายและ “ความหวัง” บนตัวแบบเชิงอุดมคติ (ideal type) ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นนครแห่งเสรีภาพของเหล่าสัตว์ อันเป็นพื้นที่ที่สัตว์ทุกชนิด ทุกๆตัวสามารถที่จะ “เลือกเป็น” (becoming) ได้อย่างอิสระ แม้ร่างกาย หรือ กายสรีระ จะไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งที่ตนก้าวไปเป็น ตามอุดมคติแล้ว Zootopia จึงเป็นเมืองที่สัตว์ทุกตัวจะสามารถเลือกจะทำงานอะไรก็ได้อย่างเสรีไร้ข้อจำกัดทางด้านร่างกายตามวิธีคิดแบบเก่าจากยุคก่อนเมืองที่มีข้อกำหนดด้านรูปลักษณ์ ชีวภาพ และความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ที่ว่าสัตว์ผู้ล่าจะต้องฆ่าล้างทำลายเหล่าชนชั้นผู้ถูกล่า โดยผู้เขียนขอเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า การ “De-animalizing humanization” อันหมายถึง การลดทอนความเป็นสัตว์ป่าลง แล้วสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้น อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสัตว์ที่โดยธรรมชาติแล้วเคยเดิน 4 ขา ตามธรรมชาติของความเลื้อยคลาน มาสู่การมีธรรมชาติในชีวิตแบบใหม่ ที่ต้องใช้เพียงขาหลังเพียง 2 ขาในการเดิน ส่วน 2 ขาหน้าจะต้องได้รับการวิวัฒนาการให้กลายไปเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือในการหยิบจับ หรือ ใช้เป็นจุดผสานดึงประโยชน์รอบกายให้เข้ามาสู่ใช้สอย (utilitization) อีกทั้งยังต้องมีการจัดโซนนิ่งเมืองเป็นกลุ่มก้อนของแต่ละวัฒนธรรม กลุ่มก้อนของแต่ละเผ่าพันธุ์ให้อยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบเหมาะสม และที่สำคัญสุดคือ ต้องมีการใส่เสื้อผ้าเพื่อปกปิดร่างกายของตนเองให้มิดชิดอย่างมีอารยะ

ทว่าจริงๆแล้วภาพเหล่านั้นล้วนแต่เป็นภาพอุดมคติที่ถูกชูขึ้นในเบื้องหน้าแต่เพียงเท่านั้น เพราะภายในเบื้องลึกเบื้องหลังของมหานครขนาดใหญ่แห่งนี้ ยังคงมีหลายสิ่งที่ปรากฏออกมาตรงข้ามกับกฎเกณฑ์ และ ภาพเชิงอุดมคติของมหานครที่ปรากฏอยู่ในหน้าฉาก เพราะแท้ที่จริงนั้น Zootopia ไม่ได้มีเสรีภาพจริงอย่างที่มีการโฆษณาเอาไว้ ด้วยความไม่เสรีที่แอบซ่อนอยู่ในทุกๆตารางนิ้วของมหานคร ภาพยนตร์ดังกล่าว ยังได้เสนอนัยต่อปัญหาในด้านการรับมือกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมแห่งนี้ได้อย่างละเอียด (จะเห็นได้จากการที่มีหลายๆช่วงที่ภาพยนตร์แสดงออกถึงการโจมตีแนวคิด multiculturalism หรือ พหุนิยมทางวัฒนธรรม ผ่านการใช้ตัวละครสัตว์เหล่านั้น)

กล่าวคือ แม้มหานครแห่งนี้จะเป็นสังคมที่มีภาพของการเชิดชู ชุบเลี้ยงในความหลากหลายทางวัฒนธรรม บนพื้นฐานของเสรีภาพจริง แต่ทว่ามันก็ไม่ได้ให้พื้นที่แก่ความหลากหลาย หรือ “เสรีภาพ” แบบทุกตารางนิ้วจริงดังคำโปรยในโฆษณา เนื่องจากสังคมภายใน Zootopia ยังคงมีตรรกะ วิธีคิด และแนวคิดรูปแบบเก่าๆที่ยังไม่สามารถจะสลัดออกได้อย่างสมบูรณ์ หลงเหลือกระจายอยู่ตลอดเวลาเช่น วิธีคิดแบบ structural functionalism หรือแนวคิดแบบโครงสร้างหน้าที่นิยมแบบดั้งเดิม ที่เป็นอิทธิพลสืบทอดมาจากวิธีคิดแบบ Socrates ที่เน้นการแบ่งงานกันทำตามความถนัด (จากอุดมคติใน The Republic ที่ Plato ได้เขียนถึงทฤษฎีการจัดระเบียบสังคมของ Socrates เอาไว้) ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากที่สุดผ่านแนวคิดของ Chief Bogo ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เพียงคนเดียวแห่ง Zootopia ที่มองว่ากระต่ายไม่ควรมาเป็นตำรวจ หรือหากเป็นได้ ก็ไม่ควรมาอยู่ในสายสืบสวนสอบสวน แต่ควรไปทำหน้าที่ง่ายๆ อย่างกลุ่มงานจราจร ที่ไม่ต้องใช้การออกแรง หรือ การปัจจัยทางด้านร่างกายมากนัก (เดินแจกใบสั่งอย่างเดียว)

จะเห็นได้จากคำพูดของ Chief Bogo ที่พูดกับนางเอก คือ Judy ว่า: “It’s not about how badly you WANT something. It’s about what you are capable of..!!!” หากจะกล่าวอย่างพื้นฐานที่สุดคือ ในคำพูดของ Bogo นั้นหมายถึงว่าแม้ในหลักการหรือบัญญัติของตัวมันเองแล้ว (Zootopia) จะเป็นสังคมที่เชื่อในเสรีภาพ ใครๆก็มีสิทธิทำอะไรได้ก็จริง แต่มันย่อมมีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง คอยรั้ง กำหนดตัวแสดงต่างๆเอาไว้เสมอว่า ใครถนัดอะไร ไม่ถนัดสิ่งใด (ตามระบบแบ่งงานกันทำ) เพราะถึงจะให้อิสระในการเป็นอะไรก็ได้จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ และจะละเลยไม่ได้เลยคือ “ความถนัด” กับ “ความเชี่ยวชาญ” ของแต่ละคน แต่ละสายพันธุ์ นั้นมันไม่สามารถจะเทียบเท่ากันได้จริง ๆ ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวแบบนี้เป็นวิธีที่สืบทอดมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปรัชญากรีกยุค Socrates ที่เชื่อว่า ผู้ใดเกิดมาแล้วมีความถนัดเช่นใด หรือมีความเชี่ยวชาญเช่นใด ก็ควรจะไปทำหน้าที่นั้น เพื่อเป็นการจรรโลงไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพของเมือง ดั่งคำกล่าวของ Socrates เรื่อง ศาสตร์ของคนเลี้ยงม้า (analogy of the horse trainers) ว่า “ศาสตร์แห่งการเลี้ยงม้า ก็มีไว้เพื่อม้า” (คนที่มีความถนัดในด้านการเลี้ยงม้าก็มีหน้าที่ในการเลี้ยงม้า จะขยับขยายแปรเปลี่ยนไปเป็นคนเลี้ยงเสือมิได้) ซึ่งเป็นเรื่องปกติหากมองจากในมุมของผู้บริหาร หรือ ผู้ปกครองที่มีมุมมองจากด้านบนอยู่แล้ว ประเด็นอิสรภาพในการเลือกงานภายในองค์กรนั้นมักเป็นสิ่งที่ดูน่าลำบากใจที่จะอนุญาตได้จากฝ่ายบริหาร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความถนัด/ความเชี่ยวชาญ” มันมีผลต่อประสิทธิและผลของงานในภาพรวมจริงๆ (Chief Bogo ในฐานะผู้ปกครองกรมตำรวจ จึงไม่ค่อยสู้จะไว้ใจให้ Judy ไปทำหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวน หรือฝ่ายอาชญากรรม)

การแสดงออกของ Chief Bogo จึงเป็นสัญลักษณ์ของวิธีคิดที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่สอดรับกับแนวคิดและกระแสความคิดหลักในปัจจุบันที่ให้ค่ากับเสรีภาพและความลื่นใหลในปรัชญาแห่งอิสรภาพมากกว่าสิ่งอื่นใด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกประการหนี่งคือ หากต้องการจะลบล้างวิธีคิดแบบ Socrates เรื่องการแบ่งงานกันทำตามความถนัดเหล่านั้น (de-specialization of labor) ก็ควรจะเปลี่ยนวิธีและทัศนคติการมองโลก จากเดิมที่หลายๆท่านเคยเชื่อว่า มือทั้ง 2 ข้างคือ อวัยวะเพียงชุดเดียวที่สามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมอาหารจากพาชนะไปสู่ปากของท่าน จากการจับช้อน ส้อม ตะเกียบหรือมีด ก็ควรจะเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดเสียใหม่ ไปเป็นการมองว่า “เท้า” ทั้งสองข้างก็สามารถหยิบจับอาหารใส่ปากท่านๆได้เช่นกัน เช่นนี้ถึงจะเรียกว่า เมือง มหานคร และร่างกายของท่านได้รับเสรีภาพอันหลุดจากการครอบงำของวิธีคิดแบบแบ่งงานกันทำตามความถนัดในยุคกรีกได้

ถัดมาคือคำพูดสบประมาทที่พระเอก (Nick Wilde) กระทำต่อนางเอก (Judy Hopps) ที่ว่า “Everyone comes to Zootopia, thinking they could be anything they want. But you cannot. You can only be what you are. Sly fox, Dumb bunny. And that is not wet cement…” ที่ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนถึงทัศนคติแบบสารัตถะและแก่นสารนิยม (essentialism) ซึ่งไม่เชื่อในความเป็นอิสระ หรือ สถานะของการเคลื่อนไหวอย่างเสรีในตัวแสดงต่างๆ รวมไปถึงคำพูดของ Mr.Big (เจ้าพ่อแห่ง Zootopia) ที่กล่าวว่า “We may be evolved, but deep down we are still animals.” ได้บอกกับผู้ชมถึงทัศนคติแบบเก่าว่ายังคงมีอำนาจผูกพันภายในทัศนคติของผู้คนภายในสังคมอยู่ ในทางหนึ่งต่อให้เมือง หรือ วัฒนธรรมมีวิวัฒนาการมากเท่าใด แต่แก่นแท้ หรือ สาระสำคัญของความเป็นสัตว์(ที่ไร้วิวัฒนาการ) ก็เป็นเพียง “สัตว์ (ไร้วิวัฒนาการ)” ในแง่นี้จึงอนุมานเบื้องต้นได้ว่า Zootopia ยังคงเป็นพื้นที่ที่ทัศนคติของคนภายในสังคมยังไม่สามารถจะสลัดคราบของความเป็นอนุรักษ์นิยมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง และกฎกติกาของเมืองที่ถูกตั้งไว้

มากไปกว่านั้น Zootopia ยังมีการฉายให้เห็นถึงความไม่สมมาตร-สมส่วนกันของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่คนในสังคมเชื่อว่าจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลและจัดระเบียบตลอดเวลา ดังปรากฏออกมาในทัศนคติการ “รังเกียจคนอื่น(กลุ่มภาคีรักธรรมชาติผู้รณรงค์แก้ผ้า)” และชี้นัยสอดแทรกความแปลกแยกให้แก่ผู้ที่มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตผิดแปลกและไกลตัวจากตน ในฐานะ ผู้มีความเป็นอื่นสูง จน Judy ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ (otherness) จะเห็นได้จากการทำท่าทีขยะแขยงของ Judy ต่อกลุ่มลัทธิเปลือยผู้รักธรรมชาติ โดยไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรว่า “การนิยมความเปลือย” ของกลุ่มคนเหล่านั้น ก็เป็นวัฒนธรรมชุดหนึ่งที่สังคมของผู้มีอุดมการณ์เสรีนิยมเชิดชูความหลากหลายทางวัฒนธรรมพึงจะยอมรับ และให้เกียรติโดยการสงวนท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ใดๆ

ในแง่ดังกล่าวนี้ หากสังเกตจะเห็นว่า ความแปลกใดๆในทางวัฒนธรรม ที่มีปริมาณของความเบี่ยงเบนไปจากกระแสหลักนั้นจะถูกสังคมกระแสหลักพยายามเข้ามาจัดแจง หรือ จัดระเบียบให้เป็นเรื่องที่อยู่ได้แต่เพียง “ภายใน” หรือ พื้นที่ส่วนตัว (inside) หรือพูดง่ายๆก็คือ “จับใส่กล่อง แล้วติดป้ายไว้ว่าเป็นกล่องอะไร”

ลักษณาการเหล่านี้ทำให้การแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ การแสดงออกซึ่งความเฉพาะด้านเฉพาะตัวของคนกลุ่มใดๆ วัฒนธรรมใดๆ ที่อยู่นอกเหนือจากวัฒนธรรมกระแสหลักของสังคม พร้อมจะถูกกีดกัน ห้าม ลิดรอน และจำกัด กดทับบังคับขี่ไม่ให้สามารถแสดงออกมาสู่ปริมณฑลของสาธารณะได้

ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมามองที่ปริมณฑลสาธารณะ หรือ สังคมภายใน Zootopia จึงทำให้เห็นถึงสังคมที่ไม่ได้ให้การอนุญาต หรือเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และ ทัศนคติแบบเสรีนิยมจริงๆ ดังที่โฆษณาไว้ตั้งแต่ต้น จากการที่ความแปลกปลอม ความแปลก ความแตกต่างใดๆเหล่านั้น อันผิดแผกไปจากวัฒนธรรมและความเข้าใจรับรู้ของผู้คนในกระแสหลัก จะถูกจำกัด และตั้งขอบเขตปิดกั้นเอาไว้ให้อยู่ในรูปของ Club (เช่น คลับ หรือชมรมของลัทธิเปลือย) หรือ ชมรมชุมนุมที่แสดงออกถึงการกักขังวัฒนธรรมที่แตกต่าง ให้สามารถปรากฏตัว แสดงตัว ได้เพียงเฉพาะในพื้นที่ส่วนตัวที่ถูกจัดไว้ให้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียว ที่ความแตกต่าง แปลก หรือผิดรูปจากสังคมกระแสหลัก เหล่านั้นจะมีโอกาสจะมีตัวตน หรือได้รับอนุญาตให้ประพฤติปฏิบัติออกมาได้ (หากพูดให้เป็นภาษาคนก็คือ อะไรที่คนส่วนใหญ่เขาไม่นิยมทำกัน มักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งต้องห้าม แล้วถูกจับยัดลงใส่กรงที่ไม่ได้ถูกล็อคไว้ เพื่อให้คนส่วนใหญ่รู้สึกปลอดภัยและมีความห่างเหินทางความรู้สึกมากเพียงพอ พร้อมกับตั้งกติกาเอาไว้ว่า หากอยากจะแสดงออกซึ่งความแตกต่าง หรืออัตลักษณ์แปลกๆของตนเองเมื่อใดก็ให้เข้าไปทำแต่เฉพาะในกรงเท่านั้น เสร็จแล้วค่อยกลับออกมาข้างนอก และนี้เองคือนัยของการไม่สนับสนุนชุบเลี้ยง ซึ่งความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ตามวิถีเสรีนิยมอย่างแท้จริง และยังเป็นการกดขี่อย่างซ้ำซ้อนอีกด้วย)

เมื่อทัศนคติของคนหลายๆคน หลายๆกลุ่มยังเป็นเช่นนี้ การจะอยู่ภายใต้แนวคิดแบบพหุวัฒนธรรมนิยมที่แท้จริง (extreme-multiculturalism) หรือการอยู่ในสังคมที่ความหลากหลาย และแตกต่างจะมาอยู่ร่วมกันนั้น มันย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากสำหรับใครหลายๆคน เสมอ หากพวกเขาต้องมาพบเจอกับสิ่งที่ปรากฏตัวออกมาเป็น “ของแสลง” สำหรับวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มก้อนตนเอง (subculture against subculture)

อีกประการหนึ่งคือเรื่องของ อำนาจวาทกรรม  และการช่วงชิงพื้นที่ของการสร้างความจริง ภายใน zootopia ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดความเป็นไปของสังคม ที่ชัดเจนที่สุดคือ การให้สัมภาษณ์ของ Judy ต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับกลุ่มสัตว์ชนิดที่เคยเป็นผู้ล่า ที่เกิดความบ้าคลั่ง แล้วกลับมามีสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาและผลกระทบขนาดใหญ่แก่เหล่าสัตว์ที่เคยอยู่ในกลุ่มผู้ล่า ทั่วเมือง จนไม่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างสงบสุข หรือ เรียบง่ายราบรื่นได้อีกต่อไป พร้อมกับกระแสต่อต้าน ขับไล่อันขับเคลื่อนด้วยความตื่นกลัวจากอิทธิพลของอำนาจวาทกรรมของ Judy (แม้จะเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความจริง” ชุดนั้นได้รับการสถาปนาผ่านกลไกของสื่อมวลชนสู่สาธารณะเรียบร้อยแล้ว) และยังมีปรากฏการณ์ที่สัตว์ป่าเหล่านั้นมีความบ้าคลั่งขึ้นจริงๆ โดยไร้สาเหตุที่ปรากฏจับต้องได้ ทำให้กระแสความตื่นกลัวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นดั่งคลื่นความเกลียดชังที่ถาโถมเข้าจู่โจมเหล่าผู้ที่เคยเป็นสัตว์นักล่ามาก่อน (แม้ในความเป็นจริงความบ้าคลั่งเหล่านั้นจะมีสาเหตุจากผู้ใดผู้หนึ่งเป็นคนก่ออยู่เบื้องหลังก็ตาม แต่ภายในภาพยนตร์ ณ ฉากนั้น ยังเป็นปรากฏการณ์)

นอกเหนือไปจากวาทกรรมของ Judy แล้ว ที่ปรากฏเสริมออกมาคือ วาทกรรมเรื่อง จิ้งจอกผู้เจ้าเล่ห์ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ได้กลายเป็นกรอบสำคัญที่ทำให้ Nick ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่อย่างคนปกติภายในสังคมได้อย่างราบรื่น และกลายเป็นพลเมืองที่อยู่นอกคอก ไม่มีผู้ใดอยากที่จะไว้ใจ หรือให้ความเชื่อถือ ทั้งๆที่ตนเองมีสายสัมพันธ์ทางสายเลือดกับสัตว์นักล่า แต่ก็ไม่ได้รับการจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มของนักล่า ทำให้ Nick ไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่หรือสมัครทำงานใดๆได้ นอกจากการเป็นมิจฉาชีพ พฤติการณ์ดังที่กล่าวถึงนี้เป็นเครื่องหมายสำคัญที่กำลังบ่งบอกถึงขีดความสามารถและอิทธิพลของ อำนาจแห่งวาทกรรม (discursive power) และวาทกรรม (discourse) ที่ได้ถูกสถาปนาขึ้น แล้วเข้ามาปฏิบัติการในทุกๆอาณาบริเวณของสังคมในการกดทับ ควบคุม ประกอบสร้างกรงขัง และพันธนาการต่างๆ เพื่อจับยึดตัวแสดงภายในสังคมให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจเหล่านั้นอย่างแยบยลตลอดเวลา ไม่ว่าพวกเขาจะรับรู้ได้หรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยคือ ปัญหาของวงการสตรีศึกษาที่พบได้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในส่วนของคอนเซ็ปต์ที่ว่าด้วย “พวก(กระต่าย)ที่เอาไว้ดูเล่น” (token-bunnies) จากฉากที่ Judy ได้รับการเลือกปฏิบัติภายในกรมตำรวจ ซึ่งแน่นอน นัยของมันหมายถึง การมีมุมมองต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือสิ่งมีชีวิตที่มีหน้าที่เป็นเพียงแค่สิ่งสวยงาม มีคุณค่า สรรพคุณหลักคือ การใช้เป็นวัตถุแห่งการตั้งโชว์ จัดแสดงเท่านั้น ไม่มีขีดความสามารถหรือพลังใดๆที่จะนำไปใช้ปฏิบัติการอย่างอื่นได้ ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ผิดๆ ในการลดทอนความเป็นมนุษย์ของเพศใดเพศหนึ่งให้เหลือแต่เพียงวัตถุ (dehumanization) หรือ เรือนกาย สรีระ ที่มีค่าเพียงการใช้ดูชม หยิบจับ ลูบคลำ หรือ ถูกกระทำจากผู้อื่นแต่เพียงฝ่ายเดียวดั่งรูปปั้นที่ไม่มีชีวิต และการเลือกปฏิบัติว่าเพศใดเพศหนึ่งควรทำแต่เพียงงานใดงานหนึ่งตามสรีระทางธรรมชาติของตนเอง ไม่ควรจะขยับขยายออกไปสู่ปริมณฑลอื่น (sexism) ก็ย่อมเป็นค่านิยมที่ไม่สู้จะถูกต้องนัก (political incorrectness) ในเมืองที่พยายามจะชูความเป็นเสรีนิยม และทัศนะด้านเสรีภาพให้เป็นสิ่งสากลของเมือง เนื่องจากในแก่นของตัวแนวคิดสตรีนิยมแล้ว เพศสภาวะ สรีระทางชีววิทยา ไม่ใช่สิ่งที่จะมาเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของทุกคนเลยแม้แต่น้อย ในเมื่อสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ก้าวล้ำ ก้าวหน้ามากกว่าในอดีต การประดิษฐ์เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีในการทุ่นแรง (ซึ่งถือเป็นอุปสรรคพื้นฐานจากปัญหาทางด้านสรีระ) ก็ย่อมสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย

และเมื่อย้อนกลับมาพิจารณากันที่แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของ “Zootopia” อีกครั้งก็จะเห็นว่า คำว่า “zoo” นั้นเป็นคำย่อที่มาจากคำว่า zoological garden ที่แปลว่า พื้นที่ของการกักขัง พื้นที่แห่งการปิดกั้น (captivity) ผ่านการปิดล้อม ล้อมกรอบ ล้อมคอก โดยเป้าหมายทั้งหมดของแนวคิดเรื่อง Zoo ก็จะเป็นไปเพื่อการจัดแสดง จัดโชว์ (for public exhibition) นอกจากนี้ หากลองค้นถึงความหมายเพิ่มเติมของคำว่า “zoo” ในตัวของมันเอง จะพบว่ามันเป็นคำที่อาจแปลได้อีกว่า พื้นที่ของความบ้าระห่ำ ผิดปกติ ประหลาด บ้าคลั่ง ไม่มั่นคง (crazy place)  ที่มีโอกาสจะเกิดความสะพัดกันของความโกลาหล ได้ตลอดเวลาโดยปราศจากความแน่นอน ส่วนคำว่า “topia” คือ สถานที่ พื้นที่ เมือง อาณาจักร ที่มีนัยของการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของอะไรบางอย่าง

เมื่อรวมกันเป็น Zootopia แล้วก็อาจจะทำให้ความหมายในบางครั้งอาจส่อนัยถึงสภาวะของการเป็นเมืองที่มีการแบ่งกรงของความแตกต่าง เป็นเมือง หรือพื้นที่ที่ความแตกต่างหลากหลาย ถูกจัดระเบียบเอาไว้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ความหลากหลายที่คนหมู่มากรับได้ ซึ่งหมายถึงความหลากหลาย แตกต่าง หรือความเป็นพหุนิยม ที่มาจากผลเฉลี่ยมวลรวม (aggregation) อันเกิดมาจากการนำความแตกต่างทั้งหมดมารวมกันแล้วเฉลี่ยออกมาให้เป็นผลที่ทุกๆฝ่าย ทุกๆกลุ่ม พอจะสามารถยอมรับได้ เช่น วัฒนธรรมการกินที่แตกต่าง วัฒนธรรมการเดินทางที่แตกต่าง หรือ วัฒนธรรมการฟังเพลงที่แตกต่าง

2. ความหลากหลายที่อยู่นอกเหนือจากข้อ 1 หรือก็คือ ความหลากหลายที่หลุดออกไปจากกระแสหลักหรือ มาตรฐานหลัก (ความหลากหลายแตกต่างที่คนส่วนใหญ่พอจะยอมรับได้) โดยความหลากหลายจากข้อ 1. นั้นจะถูกทำให้กลายเป็นความปกติ เป็นอัตลักษณ์ร่วมของคนในสังคม และเป็นสิ่งที่ทุกๆคนยอมรับได้ไปโดยปรกติปริยาย จึงมีสิทธิมีเสียงที่จะสามารถเดินเหินออกไปไหนมาไหนโดยสามารถที่จะคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเองแล้วแสดงมันออกมาในพื้นที่ปริมณฑลสาธารณะได้ โดยไม่โดนไล่จับ หรือเบียดขับ และยังมีข้อจำกัดที่น้อยกว่าข้อ 2. นี้ (เพราะความแตกต่างหลากหลายแบบข้อ 2. นี้จะถูกนำมาจับมัดรวมและจัดประเภทแยกแยะเอาไว้ให้อยู่แต่เพียง “ภายใน” ของที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ไม่ใช่ “ภายนอก” หรือ พื้นที่สาธารณะ เช่น วัฒนธรรมที่อาจเป็นกระทบหรือ ขัดกับศีลธรรมของวัฒนธรรมอื่นโดยตรงได้ เช่น วัฒนธรรมคนแก้ผ้า วัฒนธรรมชีเปลือย ของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติที่นำโดยตัวจามรี (yak) ที่เมื่อปรากฏตัวขึ้นมากลางพื้นที่สาธารณะ ย่อมสร้างผลกระทบ และแรงกระเพื่อมจนไปสั่นคลอนต่อมาตรฐานทางศีลธรรม จริยธรรมของคนหมู่มาก

Zootopia จึงมีนัยของความเป็น “สวนสัตว์” หรือ Zoo ซ้อนทับกันอยู่ถึง 2 มิติ กล่าวคือ Zoo ในมิติแรกนั้นเป็น Zoo ที่เป็นการกักขัง หน่วงเหนี่ยว ความคิดที่แตกต่าง และความหลากหลาย (ที่อยู่นอกเหนือจากส่วนเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่รับได้) ให้อยู่ภายในกรงที่ไม่ได้ปิดกุญแจ อันจะสะดวกต่อกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสาธารณะ และกลุ่มคนทั่วไปที่จะสามารถ อ่าน ทำความเข้าใจ หรือ รับรู้ได้ว่า สิ่งที่อยู่ในกรงนั้นมันเป็น ภาพแทนของอะไร กลุ่มก้อนของอะไร ตัวแทนของอะไรของสิ่งใด ดังจะเห็นได้จากการพยายามขมวดรวม และติดป้ายความเป็นกลุ่มให้กับกลุ่มสมาคมคนรักธรรมชาติของตัวจามรี ไว้ภายใต้ชื่อว่า Naturalist Club (ชุมชนคนรักสิ่งแวดล้อม และลัทธิเปลือยตามธรรมชาติ) ซึ่งไม่ต่างจาก “กรง” แบบหนึ่งในสวนสัตว์ ที่มีการติดป้ายคำอธิบายของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ถูกขังเหล่านั้น เพื่อรอให้กลุ่มคนในสังคมเดินผ่านไปผ่านมาเพื่อทำการศึกษา ทัศนา อ่าน และทำความเข้าใจกับความแตกต่างเหล่านั้น ว่ามีความแตกต่างจากพวกเขาอย่างไร เหมือนพฤติกรรมที่คนเราเดินเข้าไปดูสัตว์ในสวนสัตว์

ฉะนั้น Zootopia จึงไม่ได้เป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่ หรือ โลกแห่งใหม่ที่มีความเป็น Topia หรือ นัยของการเป็นอาณาจักรที่ใหญ่โตมโหฬารตามฉลากที่ติดไว้แต่อย่างใด แต่ประการใด หากแต่มันคือ รัฐเชิงสวนสัตว์ (Zoosphere หรือ Zoo-state) ซึ่งเป็นเพียง “สวนสัตว์” ที่มีการจัดระเบียบให้มีลักษณะคล้ายรัฐ หรือแบบเดียวกับรัฐเท่านั้น และหากสลับมุมมองนั้นกลับมาที่โลกมนุษย์ภายนอกจอภาพยนตร์ที่เราอาศัยกันอยู่นี้ ก็จะช่วยทำให้เราเห็นถึงสภาพอีกมิติหนึ่งที่ไม่ได้ต่างไปจากในภาพยนตร์ที่มีสภาวะแบบ Zoo-state หรือ Zoosphere ครอบงำอยู่ไม่น้อยไปกว่ากัน

เมื่อกล่าวโดยสรุปจากการอภิปรายไว้ข้างต้นนั้น Zootopia จึงเป็นพื้นที่ของการเป็น Zoo ซ้อน Zoo อย่างแท้จริง สัตว์ทั้งหลายนั้นได้กระทำการจัดหมวดหมู่ และกักขังสัตว์กันเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาไม่สามารถจะยอมรับ หรือ อดทนต่อทัศนคติ อัตลักษณ์อันแตกต่างจากผลค่าเฉลี่ยมวลรวมของสังคม (aggregative model of social identity) แล้วเบียดขับผลักไสให้สิ่งเหล่านั้นให้เข้าไปอยู่ในกรงของการจัดระเบียบความคิด ทัศนคติ และอัตลักษณ์ที่แตกต่างเหล่านั้น โดยยื่นเงื่อนไขว่าพวกเขาจะยังคงมีอิสระในเบื้องต้นพื้นฐานเช่นเดิม แต่การจะแสดงอัตลักษณ์ หรือ ความแตกต่างใดๆ ที่ไม่เข้าพวกกับสังคมและคนส่วนใหญ่นั้น พวกเขาจะต้องไม่แสดงมันออกมาในปริมณฑลสาธารณะ แต่จะต้องเข้าไปแสดง หรือ ปฏิบัติการในความแตกต่างเหล่านั้นในพื้นที่ส่วนตัว อันเป็นพื้นที่ปิด (private space) เพียงเท่านั้น เหมือนกับการสร้างกรงขังที่ไม่ได้ปิดกุญแจไว้ให้แก่ความแตกต่างเหล่านั้น ได้ควบคุม กำหนด และจำกัดพื้นที่ของตนเองไปในตัว เมื่อยามที่ต้องการแสดงอัตลักษณ์ความแปลก ความแตกต่าง หลากหลาย อันนอกเหนือค่าเฉลี่ยมวลรวมของสังคมเหล่านั้น เมื่อเสร็จกิจแล้วจึงจะสามารถออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว แล้วเข้ามารวมอาศัยอยู่ร่วมกับคนส่วนใหญ่ในภายหลัง

ถือเป็นการปิดฉากคำโปรยมหานครแห่งเสรีภาพของ Zootopia ลงโดยสิ้นเชิง…

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net