Skip to main content
sharethis


 

ผ่านการรัฐประหารมาเกือบ 2 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ขอข้อมูลไปยังกรมพระธรรมนูญ และใช้เวลาอยู่ราว 2 เดือนจึงได้รับข้อมูลสถิติคดีที่ขึ้นศาลทหารในภาพรวมมาเผยแพร่เมื่อปลายปี 2558 นั่นคือ

ระหว่างหลังรัฐประหารจนถึง 30 กันยายนปีที่แล้ว ( 1 ปี 4 เดือน)  มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร 1,629 คน (1,408 คดี) มากที่สุดคือ กรุงเทพ 208 คน ขอนแก่น 158 คน ลำปาง 158 คน และสงขลา 115 คน

เท้าความเดิมเรื่องศาลทหาร หลังรัฐประหารเพียง 3 วัน คสช.ออกประกาศ 2 ฉบับ (37,38 และเพิ่มเติมฉบับที่ 50) ที่ทำให้คดีความ 4 แบบต้องขึ้นศาลทหาร โดยไม่มีเหตุผลอรรถาธิบายไว้ในคำสั่ง ได้แก่
1.คดีความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112)
2.คดีความผิดต่อความมั่นคง (มาตรา 113-118)
3. คดีฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.
4.คดีอาวุธปืน และอาวุธสงคราม

ดูโดยภาพรวมแล้วคดีขัดคำสั่ง คสช.เช่น การไม่ไปรายงานตัวนั้นมีไม่มากนัก จำเลยส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีคดีดังๆ ก็เช่น คดีจิตรา คชเดช, คดีวรเจตน์ ภาคีรัตน์, คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ และที่เพิ่งชนะคดีไปเป็นคดีแรกหมาดๆ คือ อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักกฎหมายประจำ คปก.(แต่นั่นก็ศาลพลเรือน) ส่วนที่เหลือที่รับสารภาพศาลมักลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา ส่วนตัวเลขเกือบพันคดีนั้นเป็นคดีอาวุธปืนซึ่งก็มักไม่มีการจำคุกจำเลยระหว่างสู้คดีเช่นกัน

ประเด็นอยู่ที่ จำเลยที่ถูกจำคุกตั้งแต่วันจับกุมเรื่อยมาจนถึงชั้นพิจารณาคดี นั่นคือ คดีอาวุธสงคราม และคดี 112 ซึ่งเป็นส่วนที่เราอาจกล่าวได้ว่าพวกเขา “ถูกขังลืม”

ด้วยกระบวนการของศาลทหารมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ผู้ตัดสินใจต่อสู้คดีต้องเผชิญกับชะตากรรมการถูกคุมขังยาวนานโดยไม่รู้กำหนดสิ้นสุดของการต่อสู้คดี

“การคุมขังยาวนาน คาดการณ์ไม่ได้ มันส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของจำเลยที่คิดจะต่อสู้คดี เขาอาจตัดสินใจอยากออกจากเรือนจำเร็วขึ้น ถ้ารับสารภาพเขาจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่งทำให้การอยู่ในคุกสั้นลง เขาอาจไม่ได้กระทำความผิดและอยากต่อสู้ แต่อัตราโทษในคดีความมั่นคงสูงมากและความเป็นไปได้ที่จะชนะคดีแบบนี้มันน้อยโดยตัวมันเอง ไม่ใช่ไม่ไว้ใจทนาย มาเจอกระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนานขนาดนี้ ไม่รู้กำหนดแน่ชัดอีก มันก็ทำให้เขาอาจตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้ทุกอย่างมันเร็ว และจะได้จำคุกสั้นลง” วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของจำเลยในคดีการเมืองหลายคดีที่ขึ้นศาลทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน ให้ความเห็น

ความชัดเจนว่าจะได้ต่อสู้คดีเมื่อไร จะทราบผลคำพิพากษาเมื่อไร เป็นสิ่งสำคัญสำหรับจำเลยที่ต้องใช้ชีวิตในคุกระหว่างการต่อสู้คดี มีหลายกรณีที่ในเบื้องต้นอยากต่อสู้คดีแต่เมื่อถูกขังมาพักใหญ่ก็เปลี่ยนการตัดสินใจ

ตัวอย่างความล่าช้า  ติดคุก 2 ปีเพิ่งได้สู้ก็มี

ในคดีความมั่นคง คดีที่จำเลยติดคุกยาวนานมากคดีหนึ่งกว่าที่จะมีการนัดสอบคำให้การจำเลยคือ คดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา จำเลยมี 14 คนทยอยถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2558 ถูกคุมขังมาเกือบ 1 ปีเต็ม จึงเริ่มมีการนัดสอบคำให้การ และเพิ่งตรวจพยานหลักฐานกันไปเมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เฉพาะพยานโจทก์ก็มีมากถึง 86 ปาก หากนัดสืบพยานเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1 ปากดังที่เป็นอยู่ จะต้องใช้เวลาอีก 86 เดือน หรืออีก 7 ปีเศษ

ในคดี 112 เครือข่ายบรรพต จะยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นระหว่างผู้ที่สู้คดีกับผู้ที่รับสารภาพ จำเลยถูกกองบังคับการปราบปรามฟ้องเป็นคดีเดียวกัน 12 คน ทั้งหมดทยอยถูกจับในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 พวกเขาถูกคุมขังอยู่ราว 6-7 เดือน ศาลจึงมีคำพิพากษาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สำหรับผู้ “รับสารภาพ” ให้จำคุก 5 ปี จำนวน 8 คน ส่วนอีก 2 คนมีความเกี่ยวพันห่างๆ จึงให้จำคุกเพียง 3 ปี

จนบัดนี้ผ่านมามาปีกว่า สำหรับผู้รู้จุดหมายปลายทาง พวกเขานั่งนับวันรอถึงจุดสิ้นสุดของโทษทัณฑ์ของการชอบฟังและแชร์คลิป ‘บรรพต’ ในโซเชียลมีเดีย กรณีที่ถูกลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี นับถึงปัจจุบันนี้ก็เท่ากับมาถึงครึ่งทางแล้ว

หันดูอีก 2 คนในจำนวน 12 คน พวกเขาตัดสินใจต่อสู้คดี มีนัดสอบคำให้การเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีการส่งให้พิจารณาเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ควรพิจารณาในศาลใด และคดียังไม่คืบหน้าจนปัจจุบัน ในขณะที่ถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี 1 เดือน

สำคัญกว่านั้น มีอีก 2 รายในเครือข่ายบรรพตที่ถูกฟ้องแยกต่างหาก โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้รับผิดชอบ มีการนับจำนวนกรรมที่กระทำความผิดสูงกว่า และจำเลยทั้งคู่ตัดสินใจต่อสู้คดี หนึ่งในนนั้น คือ อัญชัญ เธอถูกฟ้องมากถึง 29 กรรม หลังถูกคุมขังมา 1 ปีเต็ม จึงเริ่มมีการสืบพยานไป 1 ปากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และศาลนัดสืบพยานปากที่ 2 ห่างไปอีก 4 เดือน คือ ในเดือนพฤษภาคมนี้ คดีนี้เฉพาะพยานฝ่ายโจทก์ก็มีนับ 10 ปาก

เช่นกันกับคดีของ สิรภพ หรือนักเขียนผู้ใช้นามปากกว่า รุ่งศิลา เขายืนยันจะต่อสู้คดีมาตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกุม ทุกครั้งที่มีการฝากขังที่ศาลทหารเขายังคงยืนยันเช่นนั้น คดีนี้มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนี้ควรอยู่ที่ศาลอาญาหรือศาลทหาร เนื่องจากข้อความตามฟ้องปรากฏในคอมพิวเตอร์ก่อนรัฐประหาร ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยมีคำสั่งชี้ว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร สรุปแล้วนับถึงปัจจุบันเขาถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน ยังไม่มีการสืบพยาน นัดสืบพยานนัดแรกจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ หรือเกือบ 2 ปีเต็มที่เขาอยู่ในเรือนจำกว่าจะได้สู้คดีนัดแรก


คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่


ความไม่แน่ชัดเช่นนี้เกิดจากอะไร ทำไมศาลทหารจึงขังผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดไว้ได้นานเป็นปีๆ ศาลอาญาสภาพการณ์เป็นแบบเดียวกันหรือไม่

วิญญัติ และอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่ง ช่วยอธิบายให้เห็นปัญหาหลักๆ และความความแตกต่างของกระบวนการในศาลทหารเปรียบเทียบกับศาลอาญา

1.ฟ้องแล้วไม่กำหนดวันนัดเลย

“พออัยการสั่งฟ้อง ถ้าเป็นศาลอาญาประทับรับฟ้องแล้วก็จะกำหนดสอบคำให้การจำเลยเลยว่าจะรับสารภาพหรือสู้คดี อาจจะภายในเดือนหนึ่ง ไม่ค่อยมากกว่ากว่านี้ แต่ศาลทหารไม่ใช่ พอฟ้องแล้ว ศาลทหารไม่นัดสอบคำให้การทำให้ไม่รู้ว่าจะนัดวันไหน เดือนหนึ่ง สองเดือน สามเดือน” อานนท์กล่าว

2.เบิกตัวจำเลยไม่บอกทนาย

“ยิ่งกว่านั้นคือ พอฟ้องแล้ว จำเลยโดนขังอยู่ นึกจะเบิกตัวจำเลยมาวันไหนก็เบิกเลย มีคดี 112 คดีหนึ่งที่ทำแบบนั้น ไม่มีการแจ้งทนายด้วย เบิกตัวจำเลยมาแล้วถามว่าจะให้การยังไง รับสารภาพไหม พอจำเลยรับปุ๊บ ตัดสินเลย กรณีนี้ศูนย์ทนายฯ โต้แย้งไปแล้วว่าไม่แจ้งทนายได้อย่างไร”อานนท์กล่าว

3.ให้คำฟ้องแก่จำเลยและทนายจำเลยช้า

รายงานเรื่องชะตากรรมของจำเลยในศาลทหาร ของนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 10 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ระบุตัวอย่างของความล่าช้าดังกล่าว โดยยกคดี 112 จำเลยคือ นายธารา (ขอสงวนนามสกุล) อัยการยื่นฟ้อง 23 เม.ย.2558 ต่อมา 1 พ.ค.ทนายความทำคำร้องยื่นขอคัดถ่ายคำฟ้องต่อศาล วันที่ 7 พ.ค. ทนายความไปติดตามผล เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังไม่ได้ส่งสำนวนให้ผู้พิพากษา เนื่องจากติดเรื่องอภัยโทษหลายราย วันที่ 4 มิ.ย.ทนายความติดตามผลอีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้ส่งคำฟ้องไปให้จำเลยแล้ว วันที่ 5 มิ.ย.ทนายความเข้าเยี่ยมจำเลยในเรือนจำ จำเลยแจ้งว่ายังไม่ได้รับคำฟ้อง จนกระทั่งได้รับเมื่อกลางเดือนก.ค. รวมเวลา 3 เดือนคำฟ้องจึงถึงมือจำเลยและทนายความ

4. นัดสืบพยานเฉลี่ยแล้วนัดเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละครึ่งวัน

“อันนี้พูดในทางปฏิบัติ เท่าที่สืบมาหลายคดี ไม่เคยสืบในช่วงบ่ายเลย และบางปากอย่าง พ.ท.บุรินทร์ (ทองประไพ) สืบกัน 3 ครั้ง ใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะจบสิ้นหนึ่งปาก เขาให้เหตุผลว่าตอนบ่ายตุลาการ อัยการต้องไปทำงานธุรการของเขา” อานนท์กล่าว

“พอนัดครั้งหนึ่ง วันนี้พยานไม่ว่าง ไม่มาก็ต้องเลื่อนไปอีกเป็นเดือน เวลาไม่ว่างเขาก็ไม่แจ้งล่วงหน้า อัยการแจ้งวันที่นัดสืบพยานเลย” อานนท์กล่าว

“อันนี้ไม่ใช่เฉพาะคดีการเมือง อย่างคดีศาลทหารที่เชียงใหม่ก็นัดเดือนละครั้ง บางครั้งเดือนที่จะนัด ตุลาการตารางเต็ม ก็นัดข้ามไปสองเดือนเลย แล้วพอมีเวลาสืบแค่ครึ่งวันก็ยังไม่จบสักที ปากหนึ่งเกือบครึ่งปียังไม่จบเลย ขณะที่ศาลอาญาจะใช้ระบบนัดต่อเนื่อง โจทก์กี่วัน จำเลยกี่วัน ติดต่อกันไปเลยทำให้พิจารณารวดเร็ว แล้วก็พิจารณากันเต็มวัน วันหนึ่งอาจสืบได้หลายปาก” อานนท์กล่าว

“จากประสบการณ์คดีของระเบิดลานจอดรถศาลอาญา จำเลยมี 14 คน จับมาตั้งแต่มีนาคม 58 ก็เพิ่งได้รับนัดพิจารณาเมื่อเร็วๆ นี้ พยานโจทก์มี 86 ปากและนัดสืบเดือนละครั้ง อย่างมาก 2 ครั้ง จนถึงสิ้นปี 2559 ก็ยังไม่ได้ครึ่งทางของพยานโจทก์เลยแล้วที่นัดไว้ความเป็นไปได้ที่จะสืบพยานได้ทุกนัดก็น้อย ถ้าเป็นพยานปากสำคัญ อย่าลืมว่าทนายจำเลยต้องถามค้านและทำลายน้ำหนักพยานโจทก์ แล้วคดีนี้มีทนายก็เกือบสิบคน” วิญญัติกล่าว

5.ผู้พิพากษาจดรายงานกระบวนพิจารณาด้วยลายมือ

“ที่ช้ามากก็คือ ตุลาการในศาลทหารต้องนั่งจดคำเบิกความด้วยลายมือตัวเอง แต่ศาลอาญาจะอัดเสียงแล้วให้หน้าบัลลังก์พิมพ์ มันทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นมาก ไม่เสร็จก็ต้องเลื่อนอีก” อานนท์กล่าว

“กระบวนการศาลก็ใช้การจด ขนาดบันทึกแล้วถอดเทปด้วยการพิมพ์ในคอมพิวเตอร์แบบศาลอาญายังช้าเลย” วิญญัติกล่าว

6.ห้ามคัดถ่ายสำเนา

เรื่องนี้เกิดขึ้นจนแทบเป็นปกติ จากรายงานของนรเศรษฐ์ ยกตัวอย่างกรณีคดีของนายวิชัย(ขอสงวนนามสกุล)ในนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 3 ศาลทหารไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา โดยอ้างว่าได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วและคู่ความสามารถตรวจสำนวนได้    

ตัวอย่างคดีของชญาภา(ขอสงวนนามสกุล) ทนายความยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารต่อศาล คือ 1.คำฟ้อง 2.หมายขัง 3.คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1-7 4.บันทึกรับ/ส่งตัวผู้ต้องหา/จับกุม พร้อมด้วยของกลาง 5.หมายจับพร้อมบันทึกตำหนิรูปพรรณผู้กระทำความผิด  6.บันทึกคำให้การผู้กล่าวหา 7.บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา 8.รายงานพิจารณาคำร้องขอฝากขัง ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารเฉพาะหมายเลข 5 เท่านั้น ส่วนอื่นไม่อนุญาตให้คัดถ่าย

7.พิจารณาลับ

“จริงๆ พิจารณาลับ ศาลทหารที่เชียงรายก็ไม่ได้ปิดลับ ขณะที่ศาลยุติธรรก็ปิดลับเหมือนกัน แม้จะน้อยกว่า เรื่องพิจารณาคดีลับ ถ้าจะให้ความเป็นธรรมมันก็เป็นดุลยพินิจ อาจจะกระทบสิทธิแต่ไม่ใช่การจงใจเฉพาะศาลทหาร ศาลยุติธรรมก็มีลับเหมือนกัน” อานนท์กล่าว

คดีการเมือง: ศาลอาญาก็เช่นกัน

วิญญัติ ให้ภาพความยากลำบากในการต่อสู้คดีทางการเมืองว่า แม้แต่ในศาลอาญาสภาพก็แทบไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคดีอาวุธและ 112 เป็นข้อหาที่มีอัตราโทษร้ายแรงและกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จำเลยทั้งหมดมักถูกจับกุมและคุมขังยาวนานโดยไม่ได้รับการประกันตัว เขายังท้วงติงถึงบทบาทศาลที่ดูเหมือนจะไม่ใช้ดุลยพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานใดๆ เพื่อมีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยให้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

“ศาลมักให้เหตุผลว่าเป็นคดีกระทบต่อความมั่นคง มีอัตราโทษสูงเกรงจะหลบหนี แต่หลักฐานที่เอามายื่นในศาลเรามีโอกาสที่จะได้รับการการชั่งน้ำหนักพยานเบื้องต้นของโจทก์ แต่ศาลก็ไม่เห็นเป็นโอกาสให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวระหว่างพิจารณา ระบบต่างประเทศจะเห็นว่าถ้าหลักฐานของโจทก์ไม่มั่นคงพอเขาก็จะให้ปล่อยตัวเลย จริงๆ ศาลสามารถมีบทบาทในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเบื้องต้นที่โจทก์ยื่นและอำนวยความยุติธรรมให้กับจำเลยตั้งแต่ต้น เช่น การปล่อยตัวชั่วคราวให้มาต่อสู้คดี แต่ศาลกลับไม่ได้ใช้บทบาทนี้ของตัวเองเลย หรือใช้น้อยมาก”วิญญัติกล่าว

นอกจากนี้เขายังระบุถึงปัญหาอื่นๆ ของคดีการเมืองที่พบเจอโดยยกตัวอย่างคดีหนึ่งว่า มีการโน้มน้าวจากผู้พิพากษาเองในศาลอาญาให้จำเลยรับสารภาพ ทั้งก่อนพิจารณา โดยบอกว่าหากรับสารภาพจะลงโทษไม่สูงมาก หรือบางกรณีพิจารณาไประดับหนึ่งแล้วก็ยังมีการโน้มน้าวระหว่างทาง

“สิ่งเหล่านี้มันกระทบต่อแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายจำเลยมาก โดยเฉพาะการว่าความของทนายจำเลย มันจะถูกกดดันด้วยระยะเวลาที่ไม่ได้ปล่อยตัวชั่วคราวนั่นแหละ หมายความว่า ศาลท่านจะบอกว่า ‘จำเลยยังอยู่ระหว่างขังนะ ถ้าสืบพยานแบบนี้จะยิ่งทำให้คดีช้าลง ก็ยิ่งจะปล่อยตัวช้าลง’ แต่เราก็ต้องพยายามแย้ง บอกจำเลยว่านั่นไม่ได้หมายความว่าพิจารณาเร็วแล้วจำเลยจะได้รับการปล่อยตัวเร็วหรือยกฟ้อง ทนายจำเลยจะถูกทำให้กลายเป็นปรปักษ์กับจำเลยเอง นี่เป็นปัญหาในคดีการเมืองหลายต่อหลายคดี” วิญญัติกล่าว

นอกจากนี้เขายังระบุว่า เรื่องการไม่อนุญาตให้คัดถ่าย คัดลอกเอกสารหลักฐานต่างๆ นั้นไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในศาลทหาร แต่ในศาลอาญาบางคดีก็ไม่อนุญาตให้คัดลอกเช่นกัน เช่น ในคดีอาวุธสงครามคดีหนึ่งศาลไม่อนุญาตให้คัดลอกซีดีที่บันทึกการสอบสวนพยานในค่ายทหารที่โจทก์นำมาเป็นพยานหลักฐาน

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของจำเลยและเป็นการเปิดโอกาสให้เขาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ถ้ากระบวนการที่คุณทำมันชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ต้องระแวงเลยว่าเขาจะคัดถ่ายไปเพื่ออะไร ปัญหาห้ามคัดถ่ายและคัดลอกหลักฐานบางอย่าง มีปัญหาเกือบทุกคดีในคดีการเมืองตั้งแต่หลังปี 2553 เป็นต้นมา ศาลมักอ้างว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ” วิญญัติกล่าว  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net