เครือข่ายพลังงานชี้จีนใช้ 'น้ำโขง' เป็นเกมการเมือง-ต่อรองอำนาจกับประเทศท้ายน้ำ

ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานชี้จีนใช้แม่น้ำโขงเป็นเกมการเมือง-ต่อรองอำนาจกับประเทศท้ายน้ำ นักวิชาการระบุทำลายแหล่งเกษตรกรรมที่ดีที่สุดในอีสาน

22 มี.ค. 2559 วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network: MEE-NET) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ แสดงความเห็นต่อการประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง ที่มณฑลไห่หนาน ประเทศจีนว่า ขณะนี้อำนาจในการจัดการแม่น้ำโขงอยู่ในมือจีน ทั้งๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรส่วนรวมของภูมิภาค การที่จีนแถลงว่าระบายน้ำออกจากเขื่อนจิงหงเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ประเทศในลุ่มน้ำโขงนั้น กลับสะท้อนว่าหลักการ 3 ข้อนั้นไม่ถูกนำมาใช้เลย ได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจีนเคยรับปากไว้เมื่อก่อนหน้านี้หลายปี ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาระดับน้ำโขงผันผวน แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเขื่อนอย่างเพียงพอ 2.การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย 3.ความรับผิดชอบข้ามพรมแดน

“น่ากลัวมากๆ ผมว่าการที่จีนทำแบบนี้เป็นการสร้างประโยชน์ทางการเมือง เป็นการนำเรื่องแม่น้ำโขงมาต่อรองทางการเมือง หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าจีนมีอำนาจต่อรองอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งๆ ที่ขณะนี้เราต้องการ flow ของข้อมูล ซึ่ง 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงต้องรู้ข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกัน แต่พบว่าจีนกลับใช้กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง เป็นเงื่อนไขต่อรองกับประเทศท้ายน้ำ โดยมีเขื่อนแม่น้ำโขงเป็นเครื่องมือและเงื่อนไข แม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรส่วนรวมที่ควรจะปลอดจากการเมือง” วิฑูรย์ กล่าว

ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำของไทยให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้จีนเริ่มให้ข้อมูลการปล่อยน้ำจากเขื่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไทยเรารู้จากเรือจีนที่เดินทางลงมาเท่านั้น เท่ากับทางการไทยยอมรับว่าก่อนหน้านี้จีนไม่เปิดเผยข้อมูลมาก่อน

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนเป็นปริมาณมากในเวลานี้เกิดกับแหล่งอาหารและธุรกิจส่งออกของภาคอีสาน โดยพื้นที่ริมฝั่งโขง ตั้งแต่จังหวัดหนองคายไปจนถึงนครพนม คือพื้นที่ทำการเกษตรที่ดีที่สุดในภาคอีสาน ผลผลิตที่สำคัญของเกษตรริมโขงคือพืชผักที่เป็นอาหารของชาวบ้าน รวมถึงยาสูบ ไปจนถึงมะเขือเทศและพริกสำหรับทำซอสบริโภคในประเทศและส่งออก

“เชื่อมั้ยว่าซอสในร้านอาหาร 200 เยนที่ญี่ปุ่นก็เสิร์ฟจากซอสที่ผลิตจากพริกและมะเขือเทศจากเกษตรริมโขง ขณะที่คนชอบรับประทานส้มตำหรือต้มยำ มะเขือเทศลูกเล็กๆ ที่เรียกว่ามะเขือส้มที่ใส่ลงไปในอาหารจานโปรดนั้น ก็มาจากเกษตรริมโขง ซึ่งในวงการอุตสาหกรรมผลิตซอสถือว่ามะเขือเทศจากเกษตรริมโขงเป็นมะเขือเทศที่มีคุณภาพสูงกว่าปลูกในพื้นที่อื่นๆ” ไชยณรงค์ กล่าว

อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า เกษตรริมโขงยังทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นจาการจ้างงานสำหรับการทำเกษตรริมโขง และยังทำให้เกิดธุรกิจส่งออกซอสไปยังต่างประเทศ ซึ่งการปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีนบ่อยครั้งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรริมโขงและเกษตรกรได้รับความเสียหาย และนั่นหมายถึงการสูญเสียแหล่งผลิตอาหารของคนท้องถิ่น คนอีสาน และโลกใบนี้ ดังนั้นการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนจึงเป็นหายนะ ไม่ใช่บุญคุณ

นิชล ผลจันทร์ ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า น้ำโขงเพิ่มระดับเมื่อเช้าวานนี้ (21 มีนาคม) โดยมีความสูงของระดับน้ำประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร ณ หาดสีดา ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ระดับน้ำโขงที่ผันผวนทำให้ปริมาณปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ในแม่น้ำโขง น้อยลงทุกปี โดยเฉพาะในช่วงปี 2556 – 2559

“ชาวประมงบอกว่าคนในเมืองบ่ตาย คนสิตายคือไทเฮา คนจนที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งอาหาร” นิชลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท