Skip to main content
sharethis

จากเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ออกคําสั่งหัวหน้า คสช. 2 ฉบับ คือ คําสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคําสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยให้เหตุผลว่า โดยที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาในการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคของประเทศว่าเกิดจากปัญหาการสั่งการและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพเป็นปัญหาสําคัญ จึงได้ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษาให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ (อ่านรายละเอียด) นั้น

เครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ชี้เป็นการรวบอำนาจ ย้อนหลังไปสู่รูปแบบการจัดการเดิมๆ

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ได้กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวว่า ขบวนการภาคประชาชนเรียกร้องกระจายอำนาจ และเชื่อว่าวิธีการกระจายอำนาจ คือวิธีการในแง่ของการปฏิรูปการศึกษาที่น่าจะเป็น จึงอยากจะให้กระทรวงศึกษาธิการลดบทบาทตัวเองและกระจายอำนาจในเชิงบริหารจัดการให้มันไปเกิดในพื้นที่ของจังหวัด พื้นที่เครือข่าย หรือว่าพื้นที่กลไกอื่นๆก็ดี แต่คําสั่งที่ 11/2559 หากดูผิวเผินมันอาจดูเหมือนกระจายอำนาจ แต่เป็นการรวบอำนาจมากกว่า มันกำลังทำให้เราย้อนหลังไปสู่รูปแบบการจัดการเดิมๆ ของกระทรวงศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปรับโครงสร้าง ทำการยุบตัว สพฐ.ก็ดี ทำการยุบเขตก็ดี ไปเกิดเป็นศึกษาธิการจังหวัด มันก็แค่การย้ายปัญหาเดิมไปสู่ปัญหาใหม่ ไปอยู่ในกลไกใหม่ มันไม่ได้แก้ปัญหาเดิมที่มันมีอยู่  ถ้ามองในมุมพี่คือการเกาไม่ถูกที่คัน  คำสั่งชุดนี้โดยเนื้อความมันอาจจะดูกระจายอำนาจ แต่ลึกลงไปมันก็เป็นการรวมอำนาจอยู่แล้ว มันทำให้เกิดความชัดเจนของคำว่า single command เรื่องเหล่านี้ถ้าหากมันถูกเอาไปโดยที่มันยังไม่พร้อม หรือไม่มีชุดความคิดที่เข้าใจมากำกับมันก็ไปทำให้ปัญหาเดิมที่มันมีอยู่แล้วมันคาราคาซังมากขึ้น และมันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร มันก็ไม่ทำให้เราก้าวข้ามปัญหาการศึกษาได้

“กลไกเหล่านี้มันก็ยังถูกแต่งตั้งจัดตั้ง โดยที่ศูนย์กลางกำหนดอยู่ดี เหมือนเป็นคอขวด ต่อให้คุณมีการกระจายแตกออกมา 18 ภาค ก็ไปติดตรงปลัดกระทรวง มันก็ไม่ได้ไปไหน ก็ไม่ได้เข้าใจคำว่ากระจายอำนาจเลย แค่เปลี่ยนที่ ยุบแท่งเดิมแล้วไปทำแท่งใหม่” อินทิรา กล่าว

 
จาตุรนต์ ชี้ ‘เด็ดขาดรวดเร็ว’ จะกลายเป็น ‘ช้าและยุ่งเหยิง’

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ความเห็นต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Chaturon Chaisang' ว่า การออกคำสั่งนี้น่าจะเกิดจากเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบงานและต้องการแก้ปัญหาที่มีอยู่ แต่คำสั่งนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการศึกษาหรือมีงานวิจัยใดๆมารองรับ แต่น่าจะมาจากการคุยกันไม่กี่คนโดยขาดการปรึกษาหารือผู้เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่าทั้งผู้ที่เสนอและผู้ออกคำสั่งขาดความเข้าใจต่อความซับซ้อนของการจัดการศึกษาและขาดความรู้ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของปัญหาการจัดการศึกษาในต่างจังหวัดด้วย จึงทำให้แก้ไม่ถูกจุดและจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น ทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่ไม่มีวี่แววอยู่แล้วยิ่งไม่เกิดขึ้น

จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ คือ เป็นการเลือกทำในเรื่องที่ยังไม่ควรรีบทำ ส่วนเรื่องที่ควรทำกลับไม่ทำ การเปลี่ยนโครงสร้างจะทำให้บุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบจะต้องสาละวนกับเรื่องโครงสร้าง ทำความเข้าใจต่อระบบใหม่ เป็นกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และเส้นทางความก้าวหน้าตำแหน่งจนไม่สนใจการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน และการพัฒนาครูที่ต้องการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
 
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการทำแบบ ‘กลับหัวกลับหาง’ คือ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับรองก่อนการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมที่ก็ยังไม่มีความชัดเจน ผู้เกี่ยวข้องมองไม่เห็นภาพรวม สับสน และขาดความเชื่อมั่นต่ออนาคตที่จะตามมา โครงสร้างใหม่นี้จะกระทบวิทยาลัยและโรงเรียนทุกสังกัด มีผลต่อการทำงานของเขตพื้นที่และเขตมัธยมศึกษาอย่างแน่นอน เนื่องจากผอ.เขตจะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายใดๆและอำนาจการสั่งการก็ไปอยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัดที่จะต้องสั่งการและกำกับสถานศึกษาในทุกสังกัดทั้งจังหวัด
อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คงต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพในระดับจังหวัด แต่การมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ดูจากองค์ประกอบแล้วจะมีปัญหาการขาดความเข้าใจต่อการจัดการศึกษาหรือมีความเข้าใจที่ต่างๆกันไป จึงไม่แน่ว่าจะเกิดเอกภาพจริง ระบบนี้ไม่มีหลักประกันว่าการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีปัญหามาตลอดจริงจะดีขึ้น มีความเสี่ยงที่การจัดการศึกษาจะอยู่ใต้ระบบอำนาจมากไป โรงเรียนไม่ได้มีอิสระมากขึ้น และครูอาจจะมีเวลาอยู่กับนักเรียนน้อยลงไปอีก เพราะต้องรับคำสั่งหลายหน่วยงาน คล้ายกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน
 
ปัญหาใหม่และใหญ่มากที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การขาดความเป็นเอกภาพในระดับประเทศ จังหวัดต่างๆอาจจะกำหนดทิศทางที่แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง แม้จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคที่รัฐมนตรีเป็นประธานคอยกำกับ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยก็อาจไม่ฟังรัฐมนตรีศึกษาก็ได้ 
 
"การออกคำสั่งครั้งนี้ต้องการให้เกิดสายบังคับบัญชา ดูเหมือนรวดเร็วเด็ดขาด แต่เมื่อขาดวิสัยทัศน์ ความเข้าใจ และไม่ฟังความให้รอบด้านแล้ว ที่ว่า ‘รวดเร็ว’ กลับจะยิ่งช้า คือ จะทำให้โอกาสในการปฏิรูปการศึกษาจะล่าช้าออกไป ที่ว่า ‘เด็ดขาด’ ก็กลับจะกลายเป็นการทำให้โกลาหลและยังอาจเป็นความเสียหายต่อการศึกษาของชาติไปอีกนาน" จาตุรนต์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net