Skip to main content
sharethis

23 มี.ค. 2559 นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จำนวน 9 คน ได้เข้าพบปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553  ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ แม้ผ่านมาแล้วกว่า 5 ปี และติดตามคณะกรรมการดำเนินการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งไม่มีการประชุมต่อเนื่อง

ขณะที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในหลายเรื่องกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ เรื่องพหุภาษาหรือทวิภาษา และการไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

สำหรับ การส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นหรือกลุ่มชาติพันธุ์เป็นครูในชุมชนนั้น รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ตนมีความคิดที่จะให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนเป็นผู้สอบและคัดเลือกครูเอง เพื่อจะได้ตรงกับความต้องการของโรงเรียนและชุมชน  ส่วนเรื่องการดูแลจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ตามติคณะรัฐมนตรี 7 ก.ค.58  ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ อาจมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรง

มติ ครม. 3 ส.ค.53 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง :

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ได้กำหนดหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการด้านการศึกษา 7 ประการ คือ

1. ให้ชุมชนมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาที่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและ วัฒนธรรม รวมทั้งสามารถ จัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง และส่งเสริมการ จัดการศึกษาโดย ท้องถิ่น เช่น งบประมาณ

2. พัฒนาศักยภาพผู้บริหารการศึกษา ครู คนในท้องถิ่น เช่น กรรมการโรงเรียน ให้สามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยการฝึกฝนอบรมและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง และปรับระบบการบริหารของโรงเรียนให้เกิดความเหมาะสมกับชุมชน  

3. ปรับระบบการสอบบุคลากรครู โดยการส่งเสริมให้ทุนแก่กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มกะเหรี่ยงใหม่มากขึ้น เพื่อให้สามารถกลับไปทำงานยังชุมชนของตนเอง หากเป็นครู กลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะต้องสามารถพูดภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ นั้นๆ ได้ หรือพร้อมที่จะเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น  

4. รัฐจะต้องผ่อนปรนเงื่อนไขข้อกำหนดคุณวุฒิด้านการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการการสอน และถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และภาษาของท้องถิ่นนั้น โดยเฉพาะครูที่สอนในระดับเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษา        

5. ส่งเสริมนโยบาย “พหุภาษา” เพื่อให้เกิดการยอมรับและเข้าใจในภาษาพูดและภาษาเขียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างทางชาติพันธุ์  

6. ปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนให้เกิดความเหมาะสมกับชุมชน เช่น ปรับเป็นโรงเรียนสาขาโดยไม่ยุบโรงเรียน ไม่ว่าชุมชนแห่งนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาท้องถิ่นผ่านการร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ เพื่อพัฒนาหลักสูตรแบบบูรณาการทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม 

และ 7. สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขาที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชน เช่น ด้านการสาธารณสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net