Skip to main content
sharethis
"คสรท." บุกทวงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ/ก.แรงงาน ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องพิจารณาร่วมไตรภาคี/ผู้บริหารฟอร์ดยืนยันจะเพิ่มการลงทุนในไทย/ประกันสังคมระบุ "โรคช่องปาก" รักษาได้ตามสิทธิ แตกต่าง "อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน"/ครม.อนุมัติปรับเพดานเงินเดือนตำรวจ-ทหารให้เท่ากับข้าราชการพลเรือน ถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 400-1,300 บาทต่อเดือน/พบเดือน ม.ค. 59 มีโรงงานเปิด 269 ราย ปิด 135 ราย/ ฯลฯ
 
สธ.ถก รพ.เอกชน ห้ามเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินใน 72 ชม.
 
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินว่า ที่ประชุมมีมติตรงกัน ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินฟรีใน 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิรักษา ซึ่งในส่วนของการสำรองเตียงเพื่อรองรับการส่งต่อนั้น ประกันสังคมไม่มีปัญหาเพราะมีโรงพยาบาลคู่สัญญา ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น หากไม่สามารถส่งต่อได้ทางกรมบัญชี กลางจะมีงบประมาณสำหรับดูแลเช่นเดียวกัน ขณะที่สิทธิบัตรทอง กระทรวงสาธารณสุข จะพยายามแก้ปัญหาให้
 
สำหรับค่าใช้จ่าย มีการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลกลางขึ้นมา ( Fee schedule) ซึ่งจากนี้ปลัดกระทรวง สธ.และเลขาธิการ สพฉ.จะร่วมกันพิจารณาอัตราอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงินก่อนรักษา รวมถึงการถูกบังคับให้เซ็นรับสภาพหนี้
 
อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะบุคลากรทางการแพทย์มีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว คาดว่าจะเร่งจัดทำค่ารักษา พยาบาลกลางแล้วเสร็จ ก่อนช่วง 7วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์
สำหรับกลุ่มอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน มี 25 ข้อ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส (ปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรง) ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3. สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6. หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8. สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม 11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด
 
14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15. ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19. เด็ก กุมารเวช 20. ถูกทำร้าย 21. ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24. อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25 อื่น ๆ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สพฉ.จะเป็นหน่วยงานกลางคอยให้คำปรึกษาและให้ความเห็นภายใน 15 นาที
 
 
สหภาพแรงงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เสนอ 7 ทางรอดหวั่นถูกยุบ
 
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มสหภาพ แรงงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลา กรทางการศึกษา (สกสค.) นำโดยนางภัทราบุญ ปัญญาสุข ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เรื่องการยุบองค์การค้าของ สกสค. ตามผลการศึกษาและวิเคราะห์ของศูนย์บริการวิชาการ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายจักรพันธ์ ทองเจริญ เลขาฯ สหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. กล่าวว่า พวกตนไม่อยากให้มีการยุบองค์การค้าของ สกสค. เพราะผลวิเคราะห์ของจุฬาฯ เป็นเพียงหลักการทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งหากไม่นำภาระหนี้สิ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์การค้าของ สกสค. ยังสามารถอยู่ได้ด้วยผลประกอบการ โดยปีที่ผ่านมาการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค. หากหักลบกลบหนี้แล้ว องค์การค้าของ สกสค.ก็ยังมีกำไรอยู่ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ต้องยุบ เพราะจะทำให้บุคลากรหลายคนได้รับผลกระทบ อีกทั้งวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์การค้าของ สกสค.ก็เพื่อสนับสนุนการศึกษาชาติ
 
ทั้งนี้ ทางสหภาพองค์การค้าของ สกสค.จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่ รมว.ศธ.พิจารณาใน 7 ประเด็น คือ 1.ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 2.เปลี่ยนสถานะองค์การค้าฯ ให้มั่นคงขึ้น 3.การ ซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย ไม่ต้องเช่าแท่นพิมพ์จากภายนอก 4.หาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าปัจจุบันมาดูแลภาระหนี้สิน เชื่อว่าใน 10 ปี องค์กรจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน 5.ให้รัฐเข้ามาดูแล ช่วยเหลือหนี้สิน 6.ขอสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐด้วย กันให้มาจ้างพิมพ์งานที่องค์การค้าฯ และ 7.ให้มี งานพิมพ์งานขายตลอดทั้งปี
 
"ส่วนปัญหาการจัดพิมพ์ตำราเรียนล่าช้านั้นไม่ได้เกิดจากแท่นพิมพ์ขององค์การค้าฯ แต่ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดส่งต้นฉบับมาให้ช้าเกือบเปิดภาคเรียน จึงทำให้กระบวนการผลิตแบบเรียนล่าช้าตามไปด้วย รวมถึงหาก ศธ.ช่วยสนับสนุนแท่นพิมพ์ดีๆ ก็จะทำให้องค์การค้าฯ มีกำลังผลิตงานได้รวดเร็วขึ้นด้วย" เลขาฯ สหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค.กล่าว
 
 
ผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ในเดือน ก.พ.59 มีจำนวน 123,087 คน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงานในปี 59 ว่า แนวโน้มเรื่องการว่างงานยังต้องติดตาม เนื่องจากตัวเลขของผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ในเดือน ก.พ.59 มีจำนวน 123,087 คน มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 58 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.83 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาที่มีจำนวน 114,150 คน อยู่ที่ร้อยละ 19.02
 
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของกรมการจัดหางานเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 7,915 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 58 แต่ภาพรวมยังถือว่าการเลิกจ้างร้อยละ 26.06 ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 41.01
 
ทั้งนี้การจ้างงานลูกจ้างในระบบประกันสังคมในเดือน ก.พ. มีจำนวน 10,348,753 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.10 ยังชะลอตัว
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้แนวโน้มในภาพรวมในตลาดแรงงาน การจ้างงาน ว่างงาน และการเลิกงานยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในรูปแบบดัชนีผสม 13 ตัว ส่งสัญญาณด้านการจ้างงานในสภาพปกติอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (ถ้าไม่เกิน 5 ตัวจะแสดงภาวะปกติ ซึ่งมีเพียงดัชนี 1 ตัว คือ มูลค่าการส่งออก ที่ชะลอตัว) ส่วนแนวโน้มการว่างงานจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการว่างงานผู้มีงานทำภาคเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงสถานะปกติ แนวโน้มการเลิกจ้าง จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการแจ้งและตรวจพบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ยังแสดงสถานะปกติ แต่กระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้รายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน รวมถึงจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการการเลิกโรงงาน และความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหา และสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงที
 
 
จัดหางานเชียงใหม่ เดินหน้าทำความเข้าใจแรงงานต่างด้าวทำให้ถูกกฎหมาย หลัง ครม. มีมติล่าสุดผ่อนผันเพิ่มอีก 2 ปี
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้าง และผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 500 ราย เพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เสนอผ่อนผันต่ออีก 2 ปีล่าสุด เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทยถูกจับตามอง และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ในระดับเทียร์ 3 ทั้งนี้จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้ตั้งศูนย์บริการรองรับ 2 จุด ที่ อำเภอฝาง และศูนย์กระจายสินค้าการเกษตรภาคเหนือ โดยมีแรงงานต่างด้าวเป้าหมายใน จ.เชียงใหม่ ที่ขึ้นทะเบียนไว้เดิมมีกว่า 1.5 แสนราย และบางส่วนก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกจำนวนมาก สำหรับการผ่อนผันครั้งนี้ได้ให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรสีชมพู) อาศัยและทำงานในประเทศไทย ต่อได้เป็นเวลา 2 ปี เพื่อรอพิสูจน์สัญชาติ และตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ซึ่งนายจ้างต้องพาแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตหมดอายุ มารายงานตัวในจุดที่กรมการจัดหางานกำหนด เพื่อรับใบอนุญาตทำงานบัตรสีชมพู
 
ใหม่ ซึ่งจะทำงานได้ครั้งละ 2 ปี จากเดิมครั้งละ 1 ปี ภายใน 120 วัน รวมถึงกรมการจัดหางานต้องเร่งออกระเบียบรองรับภายใน 120 วัน ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ความมั่นคง การป้องกันการตั้งรกรากถิ่นฐาน ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการไม่ขาดแคลนแรงงาน แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
 
 
ก.แรงงาน จับมือ EU และ ILO แก้ปัญหาแรงงานอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล
 
กระทรวงแรงงาน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) เปิดโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล พร้อมลงนามแสดงเจตจำนงการร่วมดำเนินโครงการ (Letter of Intent) เพื่อแก้ปัญหาสภาพการทำงานที่ละเมิดหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่องประมงทะเล
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและเปิดโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล (Combatting Unacceptable Forms of Work in the Thai Fishing and Seafood Industry) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักดีว่าสิทธิแรงงานเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองเพื่อสร้างกรอบงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และบรรลุกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) แห่งสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์มั่งมั่นต่อการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อการยึดคนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) และความเป็นหุ้นส่วนภาคีเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
 
การขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวเป็นสิ่งที่มุ่งหวังว่าสถานการณ์ปัญหาการใช้แรงงานบังคับที่เป็นข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนจะได้มีนวัตกรรม ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ต่อมาตรการดำเนินการในเชิงรุกเพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานที่เป็นที่ยอมรับของสากลในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล เช่น มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น ปัจจุบันความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบาย (Policy) กรอบกฎหมาย (Legal Framework) การดำเนินคดีบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement & Prosecution) และการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ได้ถูกยกระดับขึ้นให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนในหลากหลายมิติอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้น เพื่อให้สามารถแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานานได้บรรเทาเบาบางลง พร้อมต้องสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรผู้นำแรงงาน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรภาควิชาการ ตามแนวทาง ‘ประชารัฐ’ ส่วนมาตรการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นจริงจัง
 
นอกจากนี้ พลเอก ศิริชัยฯ ได้เป็นสักขีพยานการลงนามแสดงเจตจำนงการร่วมดำเนินโครงการ (Letter of Intent) ระหว่าง หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายมอริซิโอ บุซซี่ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ILO) และหนังสือความตกลงให้เงินสนับสนุนสำหรับโครงการฯ ระหว่าง นายเฆซูส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) และนายมอริซิโอ บุซซี่ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ILO)
 
นายเฆซูส มิเกล ซันส์ (Mr. Jesús Miguel SANZ) เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) กล่าวว่า สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒๐๓๐ ที่มุ่งเน้นหลักการพัฒนาไปพร้อมกัน (Leaving no one behind) สหภาพยุโรปมีข้อกังวลต่อผู้เสียหายที่ตกเป็นแรงงานบังคับ และแรงงานเด็กจำนวนมากที่ปราศจากสิทธิและไม่มีโอกาสความเป็นไปได้ใดที่จะหลีกหนีสภาพการทำงานที่เลวร้าย สหภาพยุโรปยินดีอย่างยิ่งถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยในความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยความตั้งใจ โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
 
นายมอริซิโอ บุซซี่ (Mr. Maurizio Bussi) ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ILO) กล่าวว่า ไอแอลโอมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เริ่มดำเนินโครงการร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในการพัฒนาปรับปรุงภาคอุตสาหกรรมที่ทุกวันนี้ถูกมองว่ายังคงมีปัญหารูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ไปสู่อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า โครงการนี้เน้นการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก และรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับรูปแบบอื่นๆ โดยหัวใจสำคัญของโครงการมุ่งเน้นที่ศักดิ์ศรีหรือคุณค่าของแรงงาน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของหลักการทำงานที่มีคุณค่า อีกทั้งเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย หลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในทุกยุทธศาสตร์ของการดำเนินโครงการ
 
 
"คสรท." บุกทวงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ
 
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานกว่า 30 คน เดินทางมาติดตามการแก้ปัญหา ที่เคยยื่นหนังสือให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เร่งแก้ไข โดยยืนชูป้ายทวงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2559 จาก 300 บาท เป็น 360 บาททั่วประเทศ ให้ปฎิรูปประกันสังคมให้โปร่งใส หยุดนำเงินผู้ประกันตนปีละ 69 ล้านบาทไปดูงานต่างประเทศ หยุดนำเงินปีละกว่า 50 ล้านไปให้สภาองค์การลูกจ้าง-นายจ้าง จัดอบรมสัมมนาเฉพาะกลุ่มโดยไม่เห็นหัวผู้ประกันตน 13 ล้านคน และกระตุ้นการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีต้องไม่หนีปัญหา หลบหน้าผู้ใช้แรงงาน อย่าเน้นแต่ทัวร์ดูงานต่างประเทศ และได้ยืนไว้อาลัยให้กระทรวงแรงงาน 1 นาที
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ที่ต้องมาทวงถาม เพราะก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอให้กระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ได้รับการสนใจ พยายามขอพบ พล.อ.ศิริชัย และ ม.ล.ปุณฑริก แต่ก็ไม่ให้เข้าพบ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงแรงงานไม่มีความสนใจในสถานภาพของแรงงาน ผลโพลจากสำนักต่างๆ ที่ระบุว่า พล.อ.ศิริชัย สอบตกในการทำงานในฐานะ รมว.แรงงาน ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ถึงความไม่ใส่ใจ ตนและพี่น้องแรงงานเพียงต้องการนำเสนอข้อมูลปัญหา อยากให้รัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจสนใจบ้าง จะประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังปัญหาจากเครือข่ายแรงงานก็ได้ เพียงขอให้มีการหารือกัน ไม่ใช่หนีหน้า หนีปัญหา ถ้าผู้บริหารไม่สนใจแรงงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ก็ขอให้เปลี่ยนคนใหม่มาทำหน้าที่แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เคยพูดว่าจะทำให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้จริง ผู้ใช้แรงงานเคยตั้งความหวังกับรัฐบาลนี้ ทุกวันนี้หมดหวังแล้ว
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ ควรเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสำนักงานประกันสังคม ให้เกิดความโปร่งใส เพราะกองทุนประกันสังคมมีเงินมหาศาล แต่มีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ใช้งบประมาณจำนวนมากเดินทางไปดูงานต่างประเทศทุกปี ก่อนหน้านี้เคยใช้กว่า 100 ล้าน ปี 2558 ที่ผ่านมาใช้ไปกว่า 69 ล้าน แล้วปีนี้ใช้ไปเท่าไหร่ ทั้งที่ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ประกันตน แต่ผู้บริหารนั่งเครื่องบินระดับวีไอพีไปต่างประเทศ ใช้เป็นเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม ทั้งที่เงินส่วนนี้มาจากหยาดเหงื่อคนยากจนจนสะสมไว้เป็นกองทุน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานจึงควรมีสำนึก มีจริยธรรม ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่พี่น้องผู้ใช้แรงงานถูกละเมิดสิทธิ ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กระทรวงแรงงานไม่แก้ไข แต่พอเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิต่างๆ ก็จะเก็บเงินเพิ่ม รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงต้องสนใจปัญหา อย่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม หากยังไม่มีความคืบหน้า คสรท.จะพิจารณาหาแนวทางอื่นในการเคลื่อนไหว
 
 
"ฝรั่ง-ต่างด้าว" ร่วมเข้าฟังกฎการอยู่ไทยมีผลใช้ 20 มี.ค. ผิดกฎถูกจับโทษสูงสุดห้ามเข้าไทย 10 ปี
 
วันที่ 18 มีนาคม เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมืองหนองคาย พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นประธานเปิดโครงการประชาสัมพันธ์ การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในจังหวัดหนองคายและใกล้เคียง ผู้ประกอบการโรงแรม มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
 
พล.ต.ท.ณัฐธร กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งในเรื่องการไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจะมีผลบังคับใช้หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2559 ตรวจคนเข้าเมืองได้ชี้แจงมาตรการที่จะมีผลบังคับใช้กับชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย มาเกือบทั่วทุกภูมิภาคแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ในจังหวัดหนองคายและภาคอีสานจะมีภรรยาเป็นคนไทย หรือเรียกว่า เป็นเขยฝรั่ง สิ่งที่ชาวต่างชาติจำเป็นต้องทราบ เป็นเรื่องของกำหนดระยะเวลาที่อยู่เกินอนุญาต (Over Stay) กรณีคนต่างด้าวเข้ามามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อยู่เกินตั้งแต่ 90 วัน-5 ปี จะมีการห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่ 1-10 ปี ส่วนกรณีคนต่างด้าวถูกจับกุม ไม่เกิน 1 ปี จะถูกห้ามเข้าประเทศ 5 ปี และเกิน 1 ปี จะถูกห้ามเข้าประเทศ 10 ปี
 
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมและสามารถติดตามตัวคนต่างชาติขณะเข้ามาพำนักในประเทศไทย และจะไม่ส่งผลกระทบกับชาวต่างชาติที่เข้ามาและอยู่โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะมุ่งบังคับใช้กับชาวต่างชาติที่หวังจะเข้ามาในประเทศไทยเพื่อกระทำความผิด อาชญากรข้ามชาติ และผู้ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมาตรวจคนเข้าเมืองหนองคายจับกุมชาวต่างชาติอยู่เกินกำหนดได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานบริการตามร้านอาหารทั่วไป
 
 
สธ.รณรงค์นำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบรักษา
 
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยกำชับให้ทุกจังหวัดรณรงค์นำแรงงานต่างด้าว พร้อมผู้ติดตาม และคนต่างด้าวประมาณ 3.5 ล้านคน เข้ารับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ เพื่อประโยชน์ต่อตัวแรงงาน ผู้ติดตาม นายจ้างและคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ติดตามที่เป็นเด็กต้องได้รับวัคซีนตามแผนการให้วัคซีนของไทยทุกคน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อที่หายไปจากประเทศไทย เช่น คอตีบ โปลิโอ กลับมาระบาดอีกครั้ง
 
ปลัด สธ.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย แรงงานและสวัสดิการสังคม สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสิทธิมนุษยชน กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประชุมเตรียมการรองรับแรงงานต่างด้าวหลังวันที่ 31 มี.ค.59
 
ทั้งนี้ประเทศไทยมีนโยบายให้การบริการสุขภาพทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในส่วนของแรงงานต่างด้าวนั้นได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยอยู่ภายใต้การประกันสุขภาพ 2 ระบบคือ ประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคม และประกันสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบการบริการ ทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี รักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการเฝ้าระวังโรค เริ่มดำเนินการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยในปี 2558 มีแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตามและคนต่างด้าว ซื้อบัตรประกันสุขภาพ 1,341,616 คน จังหวัดที่มีผู้ซื้อบัตรมากที่สุดคือ ชลบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร เชียงใหม่ และสมุทรปราการ
 
สำหรับการเตรียมการเพื่อรองรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งหมดระยะเวลาผ่อนผันให้อยู่ในประเทศและอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกกฎหมายในวันที่ 31 มี.ค.59 นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ตั้งแต่ 1 เมษายน -29 กรกฎาคม 2559 ในส่วนของ สธ.ได้กำชับให้สำนักสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์ให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตาม และคนต่างด้าวที่มีประมาณ 3.5 ล้านคน มาตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ก่อนขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อตัวแรงงาน ผู้ติดตาม นายจ้างและคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่เป็นเด็กจำเป็นต้องได้รับวัคซีนตามแผนการให้วัคซีนของไทย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อที่หายไปแล้วเช่น คอตีบ โปลิโอ กลับมาระบาดอีกครั้ง
 
โดยให้ประสานการทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อจัดระบบรองรับ อาจจะเป็นในรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตามจำนวนแรงงานต่างด้าวภายในจังหวัดนั้นๆ รวมทั้งให้จัดระบบป้องกันใบรับรองแพทย์ปลอม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดหน่วยบริการตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์สำหรับแรงงานต่างด้าว ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง โรงพยาบาล ในกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลกลาง นพรัตน์ราชธานี เลิดสิน ราชวิถี ตากสิน เจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง คือพิชัยเวชและบางปะกอก 9
 
สำหรับอัตราค่าบริการในการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพเป็นอัตราเดิม โดยในแรงงานต่างด้าว รวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวอายุ 7-18 ปี บัตรราคา 3,700 บาท คุ้มครอง 2 ปี ค่าตรวจสุขภาพครั้งแรกคนละ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพคนละ 3,200 บาท ค่าตรวจสุขภาพครั้งต่อไปอีก 1 ปีค่าตรวจ 500 บาท ในส่วนผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 7 ปี ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ บัตรราคา 730 บาท คุ้มครอง 2 ปี ค่าประกันสุขภาพคนละ 730 บาท โดยสิ้นสุดการคุ้มครอง 31 มีนาคม 2561
 
 
ก.แรงงาน ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องพิจารณาร่วมไตรภาคี
 
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 59 นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณี ที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 360 บาท ทั่วประเทศ และให้ปฏิรูปประกันสังคมให้โปร่งใส ว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เป็นการพิจารณาร่วมกันทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ในลักษณะไตรภาคีภายใต้คณะกรรมการค่าจ้าง โดยรับข้อเสนอมาจากอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด แต่อย่างไรก็ดีคณะกรรมการค่าจ้างกลางได้ให้ความเห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ครั้งล่าสุดอีก 20 สาขาใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐาน ต่ำที่สุดอยู่ที่ 360 บาท/วัน สูงสุดอยู่ที่ 550 บาท/วัน ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร (22 มี.ค.) โดยในส่วนของการปฏิรูปประกันสังคมนั้น พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดนี้ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนหลายประการ อาทิ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เป็นต้น
 
นายธีรพล กล่าวต่อว่า ในกรณีโพลล่าสุดของ ม.กรุงเทพ ที่เป็นแบบสอบถามถามเกี่ยวกับการเงิน การพลังงาน และหนี้สาธารณะ ซึ่ง น.ส.วิไลวรรณ นำมากล่าวว่าสอบตกในการทำงานคงไม่เป็นธรรมนัก เพราะหากดูผลสำรวจจากผลงานทุกกระทรวง 19 กระทรวง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พบว่า กระทรวงแรงงานอยู่ลำดับที่ 7 มีคะแนน 6.82 คะแนน โดยกระทรวงกลาโหมอยู่อันดับ 1 คะแนน 7.99 จากโพลนี้คงชัดเจนว่า การทำงานที่ผ่านมาของกระทรวงแรงงาน ในฐานะกระทรวงด้านความมั่นคงของรัฐบาล และทำงานควบคู่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างไร ดังเช่นปี 58 สร้างงานโดยบรรจุงานให้คนไทยได้ทำงานในประเทศกว่า 446,000 คน สร้างรายได้แก่ครอบครัวกว่า 4,000 ล้านบาท/เดือน ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ตามขอให้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเสนอ อย่าใช้เพียงส่วนเดียวที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่กลุ่มตนเท่านั้น
 
 
เผยต้องการแรงงาน 5 ปีกว่า 5 ล้านคน สอศ.วิเคราะห์ข้อมูลเร่งวางแผนผลิต
 
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพ มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ที่ประชุมได้รับทราบตัวเลขความต้องการแรงงานในทุกระดับการศึกษาในอีก 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) ของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีความต้องการแรงงานจำนวน 1,238,597 คน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3,540,000 คน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 648,000 คน รวมความต้องการแรงงานทั้งสิ้น 5,426,797 คน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงานพบว่า ข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมมีความชัดเจนมากที่สุด โดยเป็นการจัดเก็บข้อมูลความต้องการของ 18 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต้องการ 333,966 คน สาขาที่ต้องการ ได้แก่ เทคนิคการผลิต 25% ไฟฟ้า 20% แมคคาทรอนิกส์ 5% ช่างกลโรงงาน 25% และเครื่องกล 25%
 
เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเฉพาะปี 2559 พบว่าสภาอุตฯต้องการแรงงานอยู่ที่ 221,588 คน หอการค้าฯ 609,000 คน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ 120,000 คน รวมทั้งสิ้น 950,588 คน แต่เมื่อดูภาพรวมการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน พบว่าสามารถผลิตกำลังคนได้เพียง 430,000 คนต่อปี ดังนั้นจะยังขาดแรงงานอีกประมาณ 520,000 คน ซึ่งในส่วนที่ขาดนั้น สอศ.ต้องไปวิเคราะห์ข้อมูลของ 3 หน่วยงานว่า จะต้องไปปรับเพิ่มการผลิตกำลังคนอย่างไร ในสาขาใดบ้างและจำนวนเท่าใด ซึ่งจากหารือมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเปิดสาขาใหม่ๆเพื่อรองรับความต้องการของภาคเอกชนด้วย โดยจะเร่งดำเนินการภายในปี 2559 แต่ก็ยอมรับว่าอาจจะยังไม่ได้ตามเป้าหมาย หลายเรื่องยังมีช่องว่างของการทำงาน ซึ่งหากจำเป็นอาจจะใช้วิธีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาในบางสาขา
 
ดร.ชัยพฤกษ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการลดภาษีให้กับสถานประกอบการที่มาร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคีด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อท้วงติงว่า กระบวนการดำเนินการค่อนข้างล่าช้า และยุ่งยากขาดแรงจูงใจที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการขอให้มาพูดคุยกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ต้องแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ในการจัดส่งเอกสารให้กับกระทรวงแรงงาน โดยขอให้ส่งเท่าที่จำเป็นเพื่อลดความซ้ำซ้อน จัดให้มีระบบวันสต๊อปเซอร์วิสรับส่งเอกสารได้เพียงจุดเดียว ขณะที่ในส่วนของ สอศ.ขอให้ดำเนินการจัดทำแผนอบรมครูสถานประกอบการเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทำได้ปีละ 1 พันคน ไม่เช่นนั้นสถานประกอบการไม่สามารถนำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้
 
 
ทึ่งเอกชนเกาหลีลงทุนใช้ครู 'ป.เอก' สอน 'อาชีวะ'
 
ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.และผู้บริหารวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เดินทางมาศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ที่วิทยาลัยเทคนิคอินฮา สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นวิทยาลัยของเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจการบิน เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องการบิน 3 สาขา คือ การจัดการบริการสายการบิน การจัดการบริการบนห้องโดยสารเครื่องบิน และช่างเครื่องบิน เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2-3 ปี แล้วแต่สาขาวิชา มีนักศึกษาประมาณ 6,900 คน และจะไม่รับนักศึกษาเพิ่มมากกว่านี้ เพราะต้องการให้มีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาที่เหมาะสม โดยนักศึกษาที่จบจากที่วิทยาลัยเทคนิคอินฮา มีงานจะทำ 100% เพราะผลิตตามความต้องการของตลาดแรงงาน เด็กส่วนใหญ่จึงมีงานรออยู่แล้ว
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า วิทยาลัยเทคนิคอินฮาให้ความสำคัญกับเรื่องอาจารย์ผู้สอนมาก โดยร้อยละ 80 ของอาจารย์ จบการศึกษาระดับปริญาเอกมาจากต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการพูดคุยกันในบอร์ด กอศ.มาแล้ว และได้มอบนโยบายให้ สอศ.ไปดูเรื่องการเพิ่มจำนวนครูอาชีวะให้มีสัดส่วนที่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องจบถึงระดับปริญญาเอกเหมือนที่นี่ก็ได้ เพราะเราต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในสาขาวิชาที่สอน ซึ่งยังขาดอีกเป็นจำนวนมาก โดยอยากให้ดึงอาจารย์เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ กลับมาช่วยสอนเป็นอาจารย์พิเศษ เพราะผู้ที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ เป็นเหมือนคลังสมองที่มีศักยภาพ ซึ่งเลขาธิการ กอศ. ก็รับทราบ และอยู่ระหว่างดำเนินการนำผู้เกษียณมาช่วยสอนเด็กอาชีวะ
 
 
พบเดือน ม.ค. 59 มีโรงงานเปิด 269 ราย ปิด 135 ราย
 
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุการเปิด-ปิดโรงงาน เดือนมกราคม 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 269 ราย ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 24.4 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงร้อยละ 48.7 และมีจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 7.3 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวน 3 โรงจำนวนเงินทุน 3,645.90 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 530 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ร้อยละ 18.5 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 135 ราย มากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 22.73 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.17
 
 
สธ.เผย 4 ปี “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาฟรี” ช่วยผู้ป่วยเกือบ 8 หมื่นคน ร้อยละ 90 พอใจ เร่งปรับนิยามผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน พร้อมหารูปแบบและอัตราการจ่ายเงินที่ทุกฝ่ายยอมรับ เตรียมระบบรองรับหลังพ้น 72 ชั่วโมง
 
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมเรื่อง การบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในสถานพยาบาล ภายใต้นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ" ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ผู้แทนกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการรักษาปลอดภัยและไม่ถูกเรียกเก็บเงิน ว่า นโยบายนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 โดย สปสช.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจากรัฐบาล ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 ถึง 27 ม.ค. 2559 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ รวมทั้งสิ้น 77,456 คน โดย สปสช. มีการจ่ายค่ารักษาประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเบิก ในวงเงินเฉลี่ย ร้อยละ 27.08 จากจำนวนที่เรียกเก็บ และมีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการประมาณร้อยละ 70
 
"มีข้อสังเกตจาก สปสช. ที่สำรวจพบว่า ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 มีความพึงพอใจในบริการ ทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า นโยบายนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ และหากได้ปรับระบบบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน นโยบายนี้จะช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้จริง ทั้งในแง่ความสะดวก รวดเร็ว ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่ต้องจ่ายเงิน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล" ปลัด สธ. กล่าว
 
นพ.โสภณ กล่าวว่า เพื่อให้นโยบายนี้เป็นที่พึ่งของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจ่ายเงิน รัฐบาลได้มอบให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 3 กองทุนสุขภาพ และโรงพยาบาลเอกชน กำหนดแนวทางการบริหารจัดการใหม่ โดยกำหนดนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตชัดเจน ให้ประชาชนทราบ โรงพยาบาลยอมรับ ยึดตามเกณฑ์ที่ สพฉ.จะประกาศออกมา เช่น ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ระบบการหายใจติดขัด ภาวะช็อก เป็นต้น รวมทั้งการเจรจาหารือกับ รพ.เอกชน เพื่อหารูปแบบและอัตราการจ่ายที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย รวมทั้งการจัดระบบรองรับหลัง 72 ชั่วโมง ที่ต้องส่งกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด ซึ่ง สธ.จะบริหารจัดการในเรื่องการสำรองเตียงร่วมกับ 3 กองทุน และโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งนี้ 3 กองทุนและ รพ.เอกชน ได้นำราคากลางเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่หน่วยวิชาการเสนอไปพิจารณา
 
 
ครม.อนุมัติปรับเพดานเงินเดือนตำรวจ-ทหารให้เท่ากับข้าราชการพลเรือน โดยถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 400-1,300 บาท/เดือน
 
22 มี.ค.2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้กับตำรวจ ทหาร และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือน
 
ทั้งนี้เนื่องจากการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนก่อนหน้านี้ ทำให้เพดานสูงสุดของเงินเดือนข้าราชการพลเรือนอยู่สูงกว่าข้าราชการตำรวจและทหาร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ.ตำรวจและทหาร จึงให้ปรับเพดานสูงสุดของเงินเดือนข้าราชการตำรวจและทหาร ตั้งแต่ชั้นยศสิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ขึ้นไปให้เท่ากับข้าราชการพลเรือน โดยถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 400-1,300 บาท/เดือน
 
พล.ต.สรรเสริญ แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอให้กรมการปกครองเพิ่มจำนวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการจัดอบรมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยจากเดิมที่มีการจัดอบรมปีละ 380 คน โดยเพิ่มเป็นร้อยละ 5 ของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีอยู่ทั้งหมด หรือประมาณ 3,800 คน ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านคือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด
 
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ดังนั้นจะต้องช่วยดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขทุกด้าน จะต้องมีข้อมูลความรู้ทั้งเรื่องการปกครอง ความสงบเรียบร้อย เรื่องเศรษฐกิจสังคม สามารถอำนวยความเป็นธรรม รู้เรื่องงานทะเบียนเพื่อเป็นตัวช่วยประสานประชาชน ในหมู่บ้านกับอำเภอ จังหวัด และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มการฝึกอบรมขึ้นอีกหนึ่งเท่าตามที่กระทรวงมหาดไทยขอ เป็นปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีอยู่ทั้งหมด หรือประมาณ 7,600 คน โดยให้ดำเนินการตกลงเรื่องงบประมาณกับทางสำนักงบประมาณ ซึ่งในปัจจุบันมีกำนันในประเทศไทยประมาณ 7,000 คน และผู้ใหญ่บ้านประมาณ 68,000 คน
 
 
ประกันสังคมระบุ "โรคช่องปาก" รักษาได้ตามสิทธิ แตกต่าง "อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน"
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุว่า มีผู้ประกันตนร้องเรียนปัญหาการเข้ารับบริการด้านทันตกรรมในบริการพื้นฐาน คือ อุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูน เพราะ สปส.มีวงเงินรักษาเพียงปีละ 600 บาท และผู้ประกันตนต้องสำรองจ่าย อีกทั้งเมื่อพบปัญหาทางช่องปากอื่น ๆ ก็กังวลว่าอาจต้องจ่ายเอง ว่า สปส.ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด ไม่ว่าป่วยเป็นโรคอะไร รวมทั้งโรคทางช่องปาก เช่น โรคเหงือก มะเร็งช่องปาก ฯลฯ ด้วย เพราะถือเป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ได้เหมารวมไปกับค่ารักษาทางทันตกรรมพื้นฐาน และที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้ประกันตนร้องเรียนในเรื่องนี้ ยกเว้นร้องเรียนเรื่องวงเงินค่าบริการทันตกรรมพื้นฐานไม่เพียงพอ แต่การจะเพิ่มวงเงินเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาต้องพิจารณาจากเงินสมทบ และค่ารักษาพยาบาลด้านทันตกรรมของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในการตั้งวงเงิน
 
"กรณีตัวอย่างที่มีผู้ประกันตน ปวดฟันเป็นระยะเวลานานแล้วไม่ไปรักษา เพราะไม่มีเงินสำรองจ่าย จนพบว่าป่วยเป็นมะเร็งช่องปากเสียชีวิตนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้ประกันตน ว่าโรคทางช่องปากไม่อยู่ในสิทธิ เพราะจริง ๆ แล้วโรคทางช่องปาก สปส.ก็รักษาได้ เนื่องจากถือเป็นอาการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง" นายโกวิทกล่าวและว่า ส่วนกรณีที่จะให้ สปส.ปรับระบบการจ่ายเงินเป็นการจ่ายไปที่โรงพยาบาลแทน เพื่อผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายนั้น ก่อนหน้านี้ สปส.เคยให้ผู้ประกันตนไปรับบริการทันตกรรมที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ผู้ประกันตนร้องว่าต้องรอคิวนาน และเดินทางไปใช้บริการที่สถานพยาบาลตามสิทธิไม่สะดวก สปส.จึงเปลี่ยนให้สามารถทำฟันที่ใดก็ได้ โดยให้สำรองจ่ายแล้วเบิกภายหลัง
 
ด้าน น.ส.ณัฐกานต์ กิจประสงค์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กรณีผู้ประกันตนรายหนึ่งทนปวดฟันจนอาการลุกลามเป็นมะเร็งช่องปาก เลขาธิการ สปส.อาจไม่ทราบเรื่อง แต่ในคณะกรรมการ (บอร์ด) สปส.ทราบเรื่องนี้ดี เพราะ น.ส.อรุณี ศรีโต หนึ่งในบอร์ด สปส.นำเข้าหารือในบอร์ด สปส.ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
 
"เสนอให้ระบบทันตกรรมเข้าไปอยู่ในการบริการรักษาทั่วไป เพื่อไม่ต้องให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย โดยคลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชน ให้บริการรักษาไปก่อน และไปเบิกเงินจาก สปส.ในภายหลัง" น.ส.ณัฐกานต์กล่าว และว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างประสานขอความร่วมมือกับคลินิกเอกชนในแต่ละพื้นที่ให้คิดราคากลาง ในการให้บริการทันตกรรมแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นวิธีที่ สปส.จะลดปัญหาการรอคิวที่โรงพยาบาล
 
นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ บอร์ด สปส.กล่าวว่า ควรทำข้อเสนอส่งให้ สปส.พิจารณา
 
 
ผู้บริหารฟอร์ดยืนยันจะเพิ่มการลงทุนในไทย
 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว. พาณิชย์  เปิดเผยหลังการหารือกับผู้บริหารฟอร์ดมอเตอร์คัมปานีว่า บริษัทฟอร์ดยืนยันที่เพิ่มการลงทุนในไทย เพื่อผลิตรถยนต์ฟอร์ดเรนเจอร์  ซึ่งมีกำลังการผลิต 40,000คัน /ปี และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน เพื่อการส่งออก โดยขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว และสามารถเดินเครื่องการผลิตได้ช่วงเดือน ต.ค.นี้   เนื่องจากฟอร์ดยังมีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ประเทศไทย โดยการผลิตในครั้งนี้จะถูกนำส่งออกไปทั่วโลก
 
“อุตสาหกรรมยานยนต์ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทย โดยมีสัดส่วนในการส่งออกของไทยสูงถึง 12% หรือประมาณ 25,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์ต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเชิญผู้บริหารค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้าหารือกับนายกฯโดยตรง และรัฐบาลยังมีแผนสนับสนุนให้ไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า”
 
นายซีด โอจากกริด รองประธานอาวุโสฟอร์ดมอเตอร์คัมปานี กล่าวว่า ปัจจุบันฟอร์ดลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย โดยมองว่าไทยมีศักยภาพสูงที่จะยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งฟอร์ดมอเตอร์คัมปานียินดีให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ประเทศไทย ทั้งนี้ฟอร์ดมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลไทย และจะยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยไว้ต่อไป 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net