วิกฤตน้ำ ‘เชียงใหม่-ลำพูน’ 2 เขื่อนหลักเหลือต้นทุนน้ำ 14.8%

เชียงใหม่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 8 อำเภอ 16 ตำบล 148 หมู่บ้าน คุมเข้มการใช้น้ำเพราะต้นทุนน้ำ 2 เขื่อนหลักเหลือเพียง 14.8% ล่าสุดเกิดปัญหาในการผันน้ำรอบที่ 12 กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำซึ่งเป็นฝายกั้นแม่น้ำปิงตัวแรกไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจัดการน้ำปิง ทำท้ายน้ำ 'ดอยหล่อ-จอมทอง-ลำพูน' ขาดน้ำ

พบหลายพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ “เหมือง” (หรือคลองส่งน้ำ) แห้งขอดและมีการประกาศเทศบัญญัติเรื่องการบริหารจัดการน้ำควบคุมการใช้น้ำในชุมชนแล้ว

23 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพบหลายพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ ต้องคุมเข้มเรื่องการใช้น้ำ โดยเฉพาะน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำปิง และเขตชลประทานในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราและเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ห้ามไม่ให้ประชาชน ให้การเรียงลำดับรอบการผันน้ำเข้าเหมืองแต่ละสายอยู่ในดุลย์พินิจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพิจารณารอบส่งน้ำและระยะเวลาตามความเหมาะสมของพื้นที่รับน้ำ ให้เกิดความเสมอภาคโดยยึดหลักการผันน้ำเข้าเหมืองแต่ละสายนั้นจะต้องให้เกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ท้ายลำเหมืองได้ใช้น้ำก่อนเกษตรกรที่อยู่บริเวณต้นเหมืองของรอบการส่งน้ำนั้น ๆ

ซึ่งพบว่าหลายพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ เริ่มมีความขัดแย้งจากการบริหารจัดการน้ำนี้บ้างแล้ว ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมาในรอบการปล่อยน้ำครั้งที่ 12 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำของผู้ใช้น้ำปิง กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำซึ่งเป็นฝายตัวแรกที่กั้นแม่น้ำปิงได้เปิดปากเหมืองและนำโซ่พันปิดล็อคกุญแจไว้ทำให้น้ำที่ปล่อยลงมาทั้งหมดไหลเข้าพื้นที่รับน้ำของฝายพญาคำทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ท้ายน้ำ ในเขต อ.ดอยหล่อ และ อ.จอมทอง ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและนำไปเลี้ยงไม้ผล รวมถึงน้ำที่จะส่งไปผลิตน้ำประปาใน จ.ลำพูน ได้รับความเดือดร้อน

ซึ่งขณะนี้น้ำสำหรับผลิตน้ำประปาของจังหวัดลำพูนอยู่ที่ระดับ 16 เมตร ถือว่าอยู่ในระดับต้องเฝ้าระวัง หากต่ำกว่า 10 เมตรจะเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งจังหวัดลำพูนเคยเกิดปัญหามาแล้วครั้งหนึ่ง จึงขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของจังหวัด เนื่องจากปริมาณน้ำเหลืออยู่จำกัด หากไม่ยอมปิดบานประตูเหมือง เขื่อนแม่งัดก็ไม่สามารถปล่อยน้ำลงมาได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำกินน้ำใช้ทั้งจังหวัด รวมถึงน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา วันละ 1.2 แสนตันของผู้คนในตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

วันนี้ (23 มี.ค. 2559) ส.ปชส.เชียงใหม่ รายงานว่าที่ศูนย์อำนวยการสั่งการหมอกควันไฟป่า ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของผู้ใช้น้ำปิง เพื่อเจรจาขอความร่วมมือประชาชนให้ทำตามข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำตามรอบเวรที่กำหนด จากกรณีปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าทุก ๆ ปี โดยส่งน้ำให้ลำน้ำปิงจำนวน 12 ครั้ง รวมน้ำทั้งสิ้น 15.9 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในครั้งที่ 12 เกิดปัญหาในการบริหารจัดการน้ำ มีผู้ใช้น้ำไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ทางชลประทานเชียงใหม่จึงจำเป็นต้องงดการปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดชั่วคราว เพื่อหาทางเจรจากับกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำให้ทำตามข้อตกลงและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้น้ำในอำเภอดอยหล่อและอำเภอจอมทองที่ใช้ในการอุปโภคบริโภครวมทั้งการผลิตน้ำประปาของจังหวัดลำพูน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า มติในที่ประชุมได้ตกลงว่า ผู้ใช้น้ำทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง แต่หากเกิดปัญหาจะต้องดำเนินการเฝ้าระวังจุดเกิดเหตุ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลเพื่อมิให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเนื่องจากจะทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งระบบและหากมีการฝ่าฝืนจะดำเนินการหยุดส่งน้ำเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำจังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2559 ปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ใน 2 เขื่อนหลักของจังหวัดเชียงใหม่ คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธาราและเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ลดลงเหลือเพียง 14.8% โดยที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำในขณะนี้เหลืออยู่ 27.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังสามารถปล่อยน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและไม้ผลตามข้อตกลงได้เดือนละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการส่งน้ำรอบที่ 12 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 จำนวน 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องปล่อยน้ำลงแม่น้ำปิงและเข้าระบบของเขื่อนแม่งัดไปจนถึงเดือนมิถุนายน ปริมาณน้ำลดลงเหลือเพียง 50.6 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเห็นว่าแนวโน้มสถานการณ์น้ำจะน้อยลงเรื่อย ๆ โดยจังหวัดเชียงใหม่จะต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอที่จะใช้ไปจนถึงเดือนมิถุนายนหรืออีก 14 สัปดาห์ ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายทำตามข้อตกลง ปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะเพียงพออย่างแน่นอน และขอแจ้งให้ทราบว่าการปล่อยน้ำในระบบในช่วงนี้ เป็นการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและไม้ยืนต้นเท่านั้น

ทั้งนี้ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าจากการบริหารจัดการน้ำ 11 ครั้งที่ผ่านมา ในรอบ 2 เดือนกว่า ไม่มีปัญหาใด ๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบของการปล่อยน้ำรอบที่ 12 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2559 ดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ส.ปชส.ลำพูน รายงานว่าที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายณรงค์ อ่อนสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งจังหวัดลำพูนเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำพบว่าได้มีการนำน้ำไปแจกจ่ายแล้ว 7 อำเภอ รวมประมาณ 4,900,000 ลิตร สำหรับอำเภอที่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอยังไม่ได้แจกน้ำคืออำเภอเวียงหนองล่อง สำหรับการผลิตน้ำประปาของสำนักงานการประปาจังหวัดลำพูนซึ่งใช้น้ำดิบจากแม่น้ำปิงที่ส่งมาจากจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ใช้น้ำอยู่ในเขต อำเภอเมืองลำพูน 10,700 ครัวเรือน และเขตตำบลบ้านกลางอีกจำนวนหนึ่ง หากเกิดกรณีน้ำไหลอ่อนเนื่องจากแรงดันน้ำต่ำจังหวัดได้วางแผนให้รถบรรทุกน้ำนำน้ำไปแจกในหมู่บ้านและชุมชนทันที โดยไม่ต้องรอให้น้ำหยุดไหล ทั้งนี้สำนักงานการประปาจังหวัดลำพูนร่วมกับโครงการชลประทานลำพูนได้วางแผนที่จะให้สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำปิงได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอสำหรับการผลิตประปาโดยได้ใช้เครื่องสูบน้ำนำน้ำเข้าสู่ฝายพญาอุตและจะขุดลอก เปิดทางน้ำบริเวณหน้าฝายเพื่อให้สามารถสูบน้ำได้สะดวกและต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเนื่องจากขาดน้ำทั้ง 8 อำเภอของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน มีจำนวน ประมาณ 16,400 ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้สั่งการให้อำเภอสำรวจแหล่งน้ำของเอกชนและขอความร่วมมือจากเจ้าของแหล่งน้ำขอให้เกษตรกรได้ใช้น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน

กปภ.แม่ริม น้ำประปาไหลอ่อน-หยุดไหล

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า นายทิวา ระดีรมย์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาแม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 2/2559 เกี่ยวกับการผลิตและจ่ายน้ำประปาของ กปภ.สาขาแม่ริม เนื่องจากปริมาณน้ำดิบหลักเริ่มแห้งขอดจากภาวะภัยแล้ง มีผลต่อการผลิตน้ำประปา ล่าสุดลำน้ำแม่สา มีปริมาณน้ำลดลง คงเหลือน้ำดิบที่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้เพียงวันละ7,200 ลบม. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทั้งหมด 13,920 ลบ.ม./วัน ของประชาชน จึงต้องผันน้ำจากสถานีผลิตน้ำแม่ริม 2 เข้ามาส่งจ่ายในพื้นที่ ตั้งแต่กองพันสัตว์ต่าง, ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่, หมู่บ้านสวัสดิการทหารบก ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน ดังนั้น กปภ.แม่ริม มีความจำเป็นต้องทำการลดแรงดันน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำประปาไหลอ่อน หรือหยุดไหลบางช่วงเวลาในพื้นที่จ่ายน้ำของ กปภ.สาขาแม่ริม จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และควรจัดเตรียมภาชนะเพื่อเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ด้วย

อ.แม่ออน ต้องนำรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายประชาชน

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2559 สวท.เชียงใหม่ รายงานว่า พันเอกเกษมสุข ตาคำ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 นำกำลังพล จากมณฑลทหารบกที่ 33 นำรถบรรทุกน้ำจำนวนกว่า 30,000 ลิตร ไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่บ้านเปาสามขา หมู่ 3 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน ตามโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง ประจำปี 2559

รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เปิดเผยว่าในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาภัยแล้งหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักเหลืออยู่ร้อยละ 15 ของความจุอ่าง ทำให้มีพี่น้องประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เป็นจำนวนมาก มณฑลทหารบกที่ 33 บูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วน นำรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน พร้อมจัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ออกมาให้บริการแก่พี่น้องประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นตามโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง ประจำปี 2559” ซึ่งสร้างความดีใจให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กองทัพภาคที่ 3 ได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือภัยแล้ง ภายใต้โครงการคนไทยหัวใจเดียวกัน

ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 8 อำเภอ 16 ตำบล 148 หมู่บ้าน คือ อำเภอดอยเต่า สันกำแพง แม่ริม และประกาศเพิ่มที่ อำเภอแม่แตง จอมทอง พร้าว ดอยหล่อ และอำเภอฮอด ราษฎรได้รับผลกระทบทั้งหมด 17,611 ครัวเรือน และเตรียมประกาศเพิ่มเติมอีก 4 อำเภอ คือ อำเภอฝาง 5 ตำบล เชียงดาว 1 ตำบล, ไชยปราการ 4 ตำบล, ดอยสะเก็ด 7 ตำบล, กัลยาณิวัฒนา 3 ตำบล และอำเภอจอมทองเพิ่มเติมอีก 3 ตำบล โดยในส่วนของมณฑลทหารบกที่ 33 ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ออกให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว กว่า 2 แสนลิตร และจะช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท